ล้างความเชื่อผิดๆ บัตรเครดิต VS การเป็นหนี้


ทุกอย่างล้วนมี 2 ด้านเสมอ บัตรเครดิตก็เช่นกัน บทความที่แล้วเรื่อง “บัตรเครดิตใช้ถูกวิธีมีแต่ได้กับได้ถึง 5 ได้” (https://ppantip.com/topic/38150526) แอดมินเขียนถึงด้านดีไปแล้วคราวนี้จะมากล่าวถึงอีกด้านพร้อมให้วิธีการป้องกันครับ น้องๆ นิสิต นักศึกษาหรือแม้แต่ผู้ใหญ่บางท่านยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ว่าใช้บัตรเครดิตเท่ากับการเป็นหนี้ แต่แอดมินขอยืนยันหนักแน่นว่าไม่จริง 1,000,000% ครับ เพราะจะเป็นหนี้หรือจะแฮปปี้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้ หากใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว จ่ายคืนตรงเวลา จ่ายคืนเต็มจำนวน ก็ไม่มีทางเสียดอกเบี้ยหรือเป็นหนี้ได้ครับ และวันนี้ผมอยากฝากเทคนิคการใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาดและถูกวิธี 5 ข้อ เชิญอ่านกันเลยครับ

1.    ตั้งกรอบการใช้: จำไว้เสมอว่าบัตรเครดิตมีไว้ใช้แทนเงินสดที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่ได้มีไว้ใช้แทนเงินในอนาคต (อย่าไปหลงใหลกับวงเงินในบัตรที่ได้มา) เราต้องรู้ว่าเรามีเงินสดอยู่เท่าไหร่ และรู้วันสรุปยอด เพื่อตั้งกรอบการใช้บัตรไว้ครับ เช่น เรามีเงินสดอยู่ 5,000 บาท และวันสรุปยอดคือวันที่ 12 ของเดือน ดังนั้นระหว่างวันที่ 13 พ.ย. -12 ธ.ค. ต้องตั้งกรอบไว้ว่าจะใช้บัตรไม่เกิน 5,000 บาทนั่นเองผมแนะนำว่าเราควรจดบันทึกยอดใช้บัตรและคำนวณยอดรวมไว้ทุกครั้ง ซึ่งแอพพลิเคชั่น เช่น Piggipo มีฟังก์ชันช่วยให้การจดบันทึกสะดวกมากครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืม!!! ตั้งสติก่อนรูด ก่อนช้อปทุกครั้งนะ^^

2.    ตรวจสอบใบแจ้งหนี้เสมอ: ใช้บัตรเครดิตทุกครั้งอย่าเพิ่งทิ้งใบเสร็จ แนะนำให้เก็บไว้ตรวจสอบกับใบแจ้งหนี้เสมอ หากมีรายการที่เราไม่ได้ใช้จะได้รู้และรีบติดต่อ Call center เพื่อปฏิเสธรายการนั้น ปัจจุบันบางธนาคารมีแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนการใช้งานบัตรทุกครั้งด้วย เช่น แอพ U Choose ของธนาคารกรุงศรี ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืม!!! เก็บรักษาข้อมูลบัตรให้ดี อย่าเผลอไปกรอกข้อมูลให้กับเว็บมิจฉาชีพ (phishing) หรือหากทำบัตรหายก็ต้องรีบอายัดบัตรจะได้ไม่มีงานเข้า

3.    จ่ายตรงเวลา: หลังวันสรุปยอด ธนาคารจะมีเวลาให้เราจ่ายเงินคืนอยู่หลายวันจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดจ่ายเงิน (due date) ช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า “ระยะเวลาชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย หากชำระเต็มจำนวน” ซึ่งบัตรเครดิตแต่ละธนาคารจะมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน เช่น บัตรเครดิตกรุงศรี มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย สูงสุด 50 วันนับจากวันที่บันทึกรายการใช้บัตร จนถึงวันครบกำหนดจ่ายเงิน ถ้าเราจ่ายเงินคืนเต็มจำนวนภายในช่วงเวลานี้จะไม่มีดอกเบี้ยเกิดขึ้น เคล็ดลับที่ขอฝากไว้คือจ่ายตั้งแต่วันแรกๆไปเลย ไม่ต้องรอไปจ่ายวันสุดท้ายครับเพราะอาจจะลืมจ่ายจนเลยวันครบกำหนดไป หรือหากใครอยากได้ความสะดวกสบายก็สมัครบริการตัดบัญชีอัตโนมัติเพื่อจ่ายค่าบัตรเครดิตเลยก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ

4.    จ่ายเต็มจำนวน: ท่องจำให้ขึ้นใจไว้เลยนะครับว่าเราจะไม่มีทางเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิต หากจ่ายคืนเต็มจำนวน เช่น มียอดเรียกเก็บ 5,000 บาทเราต้องจ่ายคืน 5,000 บาท เพราะถ้าจ่ายไม่ครบธนาคารจะคิดดอกเบี้ย โดยนับจากวันที่มีการบันทึกรายการใช้บัตรเลยทีเดียว (ไม่ได้นับจากวันสรุปยอดนะจะบอกให้) ข้อนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นท่องจำให้ขึ้นใจไว้เลยนะครับว่า “จ่ายเต็มจำนวน” “จ่ายเต็มจำนวน” และ “จ่ายเต็มจำนวน” ห้ามจ่ายขั้นต่ำโดยเด็ดขาด

5.    ไม่กดเงินสดจากบัตรเครดิตเด็ดขาด: การใช้บัตรเครดิตเพื่อรูดใช้จ่ายนั้นจะไม่เกิดดอกเบี้ยใดๆถ้าทำตามข้อ 1-4 แต่ถ้าใช้บัตรเครดิตกดเงินสดออกมาจากตู้เอทีเอ็มนั้นอย่างแรกที่โดนเลยคือค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด 3% (+ VAT 7%) เช่นกดเงิน 10,000 บาทจะเสียค่าธรรมเนียมทันที (10,000 x 3% = 300) บวก VAT 7% รวมเท่ากับ 321 บาท แถมยังโดนคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่กดเงินออกมาเลยทีเดียว ถ้าไม่อยากห่อเหี่ยวหัวใจจำไว้เลยว่า “ต้องไม่กดเงินสดเด็ดขาด” ย้ำอีกครั้ง!!!  “ต้องไม่กดเงินสดเด็ดขาด”

เห็นมั้ยครับว่าการใช้บัตรเครดิตไม่ได้แปลว่าต้องเป็นหนี้ ใครๆ ก็สามารถใช้บัตรเครดิตได้หากรู้วิธีการใช้ที่ถูกต้องและมีวินัย แม้แต่น้องๆ นิสิต นักศึกษาที่ยังเรียนอยู่ก็ตาม ถ้ามีโอกาสได้ใช้บัตรเครดิต นอกจากจะเป็นการฝึกวินัย ฝึกวางแผนการใช้จ่าย การบริหารจัดการเงินแล้ว ยังเป็นการสร้างประวัติทางการเงินในระบบซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำธุรกรรมกับธนาคารหลังเรียนจบด้วยครับ เช่น การขอสินเชื่อบ้าน รถ หรือสินเชื่อเพื่อการทำธุรกิจ เป็นต้น

อ่านบทความจบแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างครับ การใช้บัตรเครดิตให้ถูกวิธีทำได้ไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมครับ หวังว่าจะเข้าใจถึงแก่นแท้ของบัตรพลาสติกแทนเงินสดใบนี้ดีขึ้นและไม่ขยาดกับการเริ่มใช้บัตรเครดิตกันนะคร้าบบบ^^
https://www.krungsri.com/bank/th/ecampus.html
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่