ผู้ค้ำประกัน

กระทู้คำถาม
พอดีว่าพ่อของเราที่ไม่ได้เจอกันนาน อยู่ดีๆท่านโทรมาบอกว่าท่านเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ จึงอยากให้เราช่วยค้ำประกันให้ เราถามท่านว่า ทำงานอะไร ท่านบอกงานไม่เกี่ยวกับเงิน แต่ทำหน้าที่ เดินเอกสาร เฝ้ของ ส่งเอกสารอย่างเดียว ท่านเสียค่าค้ำไปแล้ว 5000 บาท ทำกับบริษัทโทรศัพท์แห่งหนึ่งที่ดังมากในตอนนี้ ท่านมาขอสลิปเงินเดือน และสำเนาบัตรประชาชน ตอนแรกไปปรึกษาคนรอบข้าง เค้าบอกว่าอย่าเลยมันเสี่ยง แต่เราคิดว่าท่านเป็นพ่อ เลย นำสลิปเงินเดือน และสำเนาบัตรประชาชน มาเซ็นแล้วขีดคร่อมว่า ใช้สำหรับการค้ำประกันการทำงาน แต่เอกสารยังไม่ได้ให้ท่านไป อยากถามผู้ที่รู้เกี่ยวกับการค้ำประกันว่า ควรค้ำให้ดีไหมคะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
        มาตรา 10 ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด


ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑
        ข้อ ๔ ลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างจะเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ได้แก่
        (๑) งานสมุห์บัญชี
        (๒) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน
        (๓) งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่าคือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก
        (๔) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
        (๕) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
        (๖) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
        (๗) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคารทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

        ข้อ ๕ หลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานมีสามประเภท ได้แก่
        (๑) เงินสด
        (๒) ทรัพย์สิน
        (๓) การค้ำประกันด้วยบุคคล

        ข้อ ๘ ให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน
        ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างเป็นผู้ออก

        ข้อ ๑๐ ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน โดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
        ให้นายจ้างจัดทำหนังสือสัญญาค้ำประกันสามฉบับ โดยให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ


โดยหลักของตามกฎหมายแล้ว ห้ามนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียจากลูกจ้าง
เว้นแต่ ลักษณะหรือสภาพของงานต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง
ทั้งนี้ เห็นแจ้งว่ามีการทำงานเฝ้าของ  ลองดูว่าเข้าตามประกาศกระทรวงฯ ข้อ 4 (4) หรือไม่?
ส่วนเงินที่นายจ้างเรียกเก็บไปแล้ว 5,000 บาท นายจ้างต้องเป็นผู้นำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินครับ

ป.ล. อาจตอบได้ไม่ตรงประเด็นคำถาม แต่ใช้เป็นแนวได้ว่านายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่