'กรณ์' ถลก 7 ปมไม่เหมาะสม "ร.ร.นานาชาติเข้าตลาดหุ้น" จี้คลังพิจารณา
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้นายกรณ์ จาติกวณิช ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Korn Chatikavanij" โดยระบุว่า
โรงเรียนอินเตอร์เข้าตลาดหุ้น?
พรุ่งนี้ตลาดหุ้นเราจะมีหุ้นน้องใหม่เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์
โรงเรียนนี้ชื่อ Singapore International School Bangkok (SISB) เป็นการร่วมทุนระหว่างไทย/สิงคโปร์ และมีกำไรประมาณปีละ 60-80 ล้านบาท
งานนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายในความเหมาะสมในการนำสถานศึกษาเข้าระดมทุนด้วยวิธีนี้ และมีการเปรียบเทียบทางด้านความเหมาะสมกับการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยโรงพยาบาล
โดยรวมผมไม่สบายใจกับการเข้าตลาดหุ้นโดยโรงเรียนนานาชาติในกรณีนี้ ผมขอลำดับความคิดตามนี้ครับ
1.ผมรับได้กับการแสวงหากำไรพอประมาณโดยโรงเรียนเอกชน กำไรทำให้เกิดการลงทุน และตราบใดที่มีการแข่งขัน ผู้ปกครองจะมีทางเลือกและกลไกตลาดจะทำงานในการกำกับราคาและคุณภาพให้เป็นธรรม
2.แต่ความจริง คือ โรงเรียนเอกชนได้รับการยกเว้นภาระการเสียภาษีกำไร (ภาษีนิติบุคคล) ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลต้องการสนับสนุนการลงทุนโดยเอกชนในกิจการการศึกษา
3.ตามตรรกะการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อให้มีการลงทุน รัฐควรมีเงื่อนไขในการจำกัดสัดส่วนของกำไรที่นำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีการนำกำไรส่วนใหญ่กลับไปใช้ในการลงทุนในโรงเรียนเพิ่มเติม และในกรณีที่มีการขายหุ้น ผู้ถือหุ้นควรต้องเสียภาษีกำไร (Capital Gains) ตามปกติ
4.หากผู้ถือหุ้นต้องการนำโรงเรียนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐควรยกเลิกสิทธิพิเศษทางด้านภาษีของโรงเรียนนั้น ๆ เพราะหลักสำคัญของการเป็นบริษัทในตลาดหุ้น คือ การทำกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่น่าจะตรงกับวัตถุประสงค์การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนของรัฐ
5.ในกรณีโรงพยาบาลเอกชนเราเห็นปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการกำกับดูแลให้เป็นธรรม แต่ความต่าง คือ โรงพยาบาลไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี และโรงพยาบาลอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งทุนมากกว่าโรงเรียน เพราะต้องลงทุนในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูงอย่างต่อเนื่อง
6.หน้าที่หลักของรัฐ คือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนรัฐ เพื่อไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเสียเปรียบผู้มีฐานะที่สามารถส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน (และโดยเฉพาะโรงเรียนอินเตอร์) ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะเห็นว่าโรงเรียนรัฐไม่ได้ด้อยคุณภาพกว่าโรงเรียนเอกชน
7.หากรัฐสนับสนุนโรงเรียนเอกชนด้วยการยกเว้นภาษี แต่ไม่เอาจริงกับการยกระดับมาตรฐานโรงเรียนรัฐ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องคือการขยายช่องว่างความเหลื่อมลํ้าทางโอกาสระหว่างคนไทยที่มีฐานะต่างกัน
โดยทั่วไปการเข้าตลาดหุ้นทำให้มีแรงกดดันให้บริษัทต้องเร่งทำกำไร ซึ่งจะผิดวัตถุประสงค์การสนับสนุนทางภาษีโดยรัฐ และการเข้าตลาดหุ้นจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิขายหุ้นได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งในกรณีนี้มีการกำหนดราคาหุ้นไว้กว่า 50 เท่าเงินกำไรที่ปลอดภาษี ประเด็นเหล่านี้กระทรวงการคลังควรต้องพิจารณาครับ
"หมอธีร์" ถามหาจริยธรรม ร.ร.นานาชาติเข้าตลาดหุ้น สั่งฝ่ายกฎหมายตรวจสอบ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ กำลังจดทะเบียนและเข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ว่า ตามกฎหมายในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 นั้น ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เรื่องดังกล่าวจะพิจารณาเฉพาะกฎหมายไม่ได้ต้องดูเรื่องจริยธรรมว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ตนได้มอบฝ่ายกฎหมายให้ตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะใจตนนั้น มองว่าถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษี และไประดมทุน เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นและไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งในธุรกิจนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษา การจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำไปเพื่ออะไรหากไม่ต้องการกำไร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่สามารถยุติบริษัทดังกล่าวไม่ให้นำโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทันที แต่จะพยายามทำในส่วนที่ตนมีอำนาจสามารถทำได้
ทั้งนี้หากบริษัทนี้ทำสำเร็จ บริษัทอื่นอาจจะทำตามหรือไม่ ตนคิดว่าต้องมาศึกษาข้อกฎหมายให้ดี ต้องดูว่าเป็นช่องว่างทางกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งในอดีตมีบริษัทเอกชนที่จะทำแบบนี้หรือไม่ และหากทำไม่สำเร็จก็ต้องมาดูว่าเป็นเพราะอะไร เนื่องจากเรื่องนี้ถ้าเป็นบริษัททั่วไปอยู่หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องเสียภาษี แต่บริษัทที่เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนจะไม่เสียภาษีตามนโยบายของรัฐที่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะถือเป็นการจัดการศึกษา ดังนั้น หากบริษัท และโรงเรียนเอกชนได้กำไรมากขึ้น เป็นแบบนี้อาจจะเข้าข่ายธุรกิจการศึกษา
"ก.ล.ต.- ตลท." ยัน! โรงเรียนเอกชนระดมทุนได้
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ก.ล.ต. และ ตลท. ยืนยันโรงเรียนเอกชนระดมทุนได้ หลังผ่านการอนุญาตจาก สช. แล้ว ชี้! ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุน พร้อมรับทุกธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการร้องเรียนให้ ก.ล.ต. ทบทวนการอนุมัติธุรกิจโรงเรียนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้สอบถามไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับหลักของโรงเรียนเอกชนแล้ว และได้รับการยืนยันว่า ไม่มีกฎข้อห้ามไม่ให้โรงเรียนเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
"กรณีธุรกิจโรงเรียนเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า ไม่ได้ผิดกฎเกณฑ์ เนื่องจากผ่านการอนุญาตจากหน่วยงานหลักแล้ว และในอนาคต หากจะมีธุรกิจลักษณะนี้สนใจเข้ามาในตลาดหุ้นอีก สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าวได้ ก็เข้ามาระดมทุนได้"
สำหรับทุกธุรกิจที่ต้องการลงทุนเพื่อทำให้ธุรกิจดีขึ้น รวมถึงธุรกิจโรงเรียนเอกชนด้วย ทำให้จะต้องมีการระดมทุนด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ซึ่งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และระดมทุนจากประชาชน ถือเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ ส่วนโรงเรียนจะคิดค่าธรรมเนียมแพงหรือไม่ ต้องไปถามหน่วยงานกำกับหลัก
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ไม่มีข้อห้ามให้ธุรกิจโรงเรียนเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ตลท. ได้สอบถามไปยังหน่วยงานกำกับดูแล ว่า ติดขัดอะไรหรือไม่ และเมื่อทางหน่วยงานกำกับบอกว่า ไม่ติดขัด ก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ มองว่าการนำสถาบันการศึกษาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลและเปรียบเทียบกับสถาบันอื่นได้ง่ายขึ้น
http://www.thansettakij.com/home
'กรณ์' ถลก 7 ปมไม่เหมาะสม "ร.ร.นานาชาติเข้าตลาดหุ้น" จี้คลังพิจารณา
"หมอธีร์" ถามหาจริยธรรม ร.ร.นานาชาติเข้าตลาดหุ้น สั่งฝ่ายกฎหมายตรวจสอบ [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
"ก.ล.ต.- ตลท." ยัน! โรงเรียนเอกชนระดมทุนได้[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
http://www.thansettakij.com/home