เคลียร์ให้ชัด!! 10 ข้อสงสัยก่อนตัดสินใจซื้อ LTF และ RMF



ในการซื้อกองทุน LTF RMF เพื่อนำมาใช้ในการช่วยลดหย่อน ซึ่งก็มีลูกค้าหลายท่านสอบถามทาง K-Expert กันเข้ามาเกี่ยวกับข้อสงสัยของกองทุน วันนี้ทาง K-Expert จึงมาสรุป 10 ข้อสงสัยที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดเพื่อให้เพื่อนๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุนกองทุน LTF และ RMF กันครับ


เม่านักช้อป เม่าออม


ข้อที่ 1.  จริงหรือไม่ ??!! LTF ลงทุนรวมกับ RMF ต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี

ไม่จริงครับ ยอดลงทุนของทั้งสองกองทุนนี้แยกกันครับ LTF สามารถลงทุนได้ 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และ ไม่เกิน 500,000 บาท ส่วน RMF ก็สามารถลงทุนได้ 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้น ยอดเงินกองทุน LTF แยกกันคิดกับส่วนของ RMF ครับ


ข้อที่ 2. จริงหรือไม่ ??!! LTF ลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ถือ 7 ปี ยังไงก็ไม่ขาดทุน

ไม่จริงครับ เพราะกองทุน LTF นั้นลงทุนในหุ้นขั้นต่ำร้อยละ 65 นั่นหมายความว่า ถ้าตลาดหุ้นลงในปีที่ขายก็จะทำให้ขาดทุนได้ครับ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าตลาดเป็นขาขึ้น นักลงทุนก็จะได้กำไรเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนในกองทุน LTF ไม่ได้รับประกันว่าผู้ลงทุนจะไม่ขาดทุนครับ


ข้อที่ 3. จริงหรือไม่ ??!! เลือกกองทุน LTF หลาย ๆ กองทุนสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

ไม่จริงเสมอไปครับ กองทุน LTF มีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกัน เพราะถูกกำหนดให้ลงทุนในหุ้นขั้นต่ำร้อยละ 65  ต่อให้เราซื้อหลายกองทุนความเสี่ยงก็อาจลดลงบ้างแต่ก็ยังถือว่าลดไม่มากนัก เพราะจะลงตัวเดิมๆ ซ้ำๆ กันในแต่ละกองทุน การลงทุนกองทุน LTF ที่ดีควรจะซื้อไม่เกิน 2 กองทุน และถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแตกต่างกันออกไป เพื่อกระจายความเสี่ยงบ้าง (แม้จะไม่มากนักก็ตาม) เช่น มีนโยบายในการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ และหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก


ข้อที่ 4. จริงหรือไม่ ??!! LTF ต้องซื้อทุกปีต่อเนื่อง

ไม่จริงครับ ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี ถ้าซื้อกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ต้องถือให้ครบ 7 ปีปฏิทินตามเงื่อนไข และทยอยขายคืนตามหลัก “ซื้อก่อนขายก่อน” (First-in First-out หรือ FIFO) ครับ ส่วนเงื่อนไขที่ต้องซื้อทุกปีต่อเนื่องเป็นของกองทุน RMF ซึ่งผู้ลงทุนต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี จะเว้นได้อย่างมาก 1 ปี แล้วต้องกลับมาซื้อใหม่ครับจนอายุครบ 55 ปี ครับ


ข้อที่ 5. จริงหรือไม่ ??!! ซื้อกองทุน LTF ปลายปีดีกว่าช่วงต้นปี

ไม่แน่นะครับ เพราะดัชนีตลาดหุ้นช่วงปลายปีอาจจะไม่ใช่จังหวะซื้อ LTF ในทุกๆ ปี ดังนั้น การทยอยเฉลี่ยซื้อในแต่ละเดือน โดยนำยอดซื้อ LTF ทั้งปีหาร 12 เดือน เพื่อได้ต้นทุนเฉลี่ยทั้งปีจะทำให้ต้นทุนไม่สูงเกินไป และไม่ต้องมานั่งลุ้นช่วงปลายปีว่าหุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลงครับ ซึ่งถ้าดูจากสถิติ ย้อนหลัง 10 ปี ช่วงปี 2551-2560 พบว่า มีถึง 7 ปี จากทั้งหมด 10 ปี ต้นทุนแบบเฉลี่ยจะต่ำกว่า การลงทุนครั้งเดียวในเดือน ธ.ค.


ข้อที่ 6. จริงหรือไม่ ??!! กองทุน RMF ต้องซื้อกองทุนเดิมต่อเนื่องทุกปี

ไม่จริงครับ สามารถซื้อได้หลายกอง แต่ขอให้ยอดซื้อของRMF ในปีนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองใหม่หรือกองเดิมมากกว่า5,000 บาท หรือ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนกองทุน RMF ในแต่ละปี ตามความสนใจหรือผลการดำเนินงานได้เลยไม่ว่าจะเป็นกองทุนหรือ บลจ. เดิมหรือไม่ก็ตามครับ


ข้อที่ 7. จริงหรือไม่ ??!! การสับเปลี่ยนกองทุนทั้ง LTF และ RMF ถือเป็นการลงทุนใหม่

ไม่จริงครับ คิดเฉพาะยอดเงินใหม่ไปซื้อ/ลงทุน LTF เท่านั้น ส่วน สับเปลี่ยนไม่นับเป็นการลงทุนใหม่นะครับ ดังนั้น ยอดสับเปลี่ยนไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ครับ


ข้อที่ 8. จริงหรือไม่ ??!! กองทุน RMF ถ้าครบกำหนดเงื่อนไขแล้ว ขายคืนทั้งก้อนที่ซื้อได้

จริงครับ กองทุน RMF ถ้านักลงทุนซื้อต่อเนื่องกันทุกปี และครบเงื่อนไขถือครอง 5 ปี (นับจากก้อนแรกที่ซื้อ) และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ นักลงทุนสามารถขายออกมาได้ทั้งก้อนโดยไม่ต้องดูว่าก้อนไหนซื้อก่อนซื้อหลังครับ  


ข้อที่ 9. จริงหรือไม่ ??!! กองทุน LTF ถ้าครบกำหนดเงื่อนไขแล้ว ขายคืนทั้งก้อนที่ซื้อ

ไม่จริงครับ ตรงนี้ต้องดอกจันทร์ตัวโตๆ เลยนะครับ เพราะการขายคืน LTF นั้นจะทำตามหลักซื้อก่อนขายก่อน หรือ Fisrt in First out ดังนั้น ก้อนไหนครบเงื่อนไขถือครองครบ 7 ปีปฏิทินแล้วจึงจะขายได้ครับ ถ้านักลงทุนเลือกซื้อ LTF กองเดิมทุกปี ต้องจดเอาไว้ว่าในแต่ละปีซื้อมากี่หน่วย เมื่อครบกำหนดก็ขายออกมาตามหน่วยที่ซื้อในปีนั้นๆ ครับ ขายทั้งก้อนไม่ได้นะครับ เพราะจะมีค่าปรับ เรียกภาษีคืน และบทลงโทษอื่นด้วยครับ


ข้อที่ 10. จริงหรือไม่ ??!! ที่ไม่ควรซื้อ LTF แล้ว เพราะว่าหลังปี 62 จะใช้สิทธิไม่ได้แล้ว

ไม่จริงครับ หลังปี 2562 กอง LTF ที่ยังไม่ครบกำหนดก็ยังต้องถือต่อไปให้ครบกำหนดครับ ภายในปี 2562 ถ้ายังต้องเสียภาษี  LTF ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ลดหย่อนให้ได้นะครับ ส่วนตัวใหม่ที่ออกมาแทน LTF หน้าตาเป็นแบบไหนจะมาอัพเดทให้อีกทีครับ ตอนนี้ซื้อของเดิมลดหย่อนภาษีไปก่อนนะครับ


นักลงทุนหลายท่านคงจะคลายข้อสงสัย และนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจซื้อกองทุน LTF และ RMF ในครั้งต่อๆ ไป เพื่อให้ซื้อได้อย่างถูกเงื่อนไข ทั้งตอนซื้อ และตอนขายนะครับ หากเพื่อนๆ ท่านไหนยังคงมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามได้ที่ใต้เนื้อหานี้ได้เลยครับ


เม่าบัลเล่ต์เม่าบัลเล่ต์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่