เจอ “ซูเปอร์เอิร์ธ” อีกดวงอยู่ห่างไปแค่ 6 ปีแสง

เอิร์ธ” อีกดวงอยู่ห่างไปแค่ 6 ปีแสง

เผยแพร่: 16 พ.ย. 2561 00:06  ปรับปรุง: 16 พ.ย. 2561 02:27  โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจำลองจากพื้นผิวดาวเคราะห์นอกระบบบาร์นาร์ดส์สตาร์บีในระบบดาวฤกษ์ที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดแค่ 6 ปีแสง (Handout / European Southern Observatory / AFP )


นักวิทยาศาสตร์พบ “ซูเปอร์เอิร์ธ” ดาวเคราะห์คล้ายโลกอีกดวง โคจรรอบดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดแค่ 6 ปีแสง ฉายความหวังพบเพื่อนบ้านดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด

นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาดาวแคระแดงบาร์นาร์ดส์สตาร์ (Barnard's Star) ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ของเรามากที่สุดเพียง 6 ปีแสง ซึ่งในทางดาราศาสตร์แล้วเป็นระยะใกล้เหมือนสวนหลังบ้าน และพบดาวเคราะห์ที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นดาวเคราะห์ ที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งและมีแสงสว่างไม่มาก

ดาวเคราะห์ดังกล่าวซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าโลกอย่างน้อย 3.2 เท่านั้น มีชื่อว่า “บาร์นาร์ดส์สตาร์บี” (Barnard's Star b) ซึ่งนับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 และโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองรอบละ 233 วัน

“ดาวเคราะห์ดวงนี้สำคัญเพราะเป็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปจริงๆ และเราก็อยากไปพบเพื่อนบ้านของเราเป็นธรรมดา” อิกนาซิ ริบัส (Ignasi Ribas) จากสถาบันการศึกษาอวกาศแห่งคาตาโลเนีย (Institute of Space Studies of Catalonia) และสถาบันวิทยาการอวกาศสเปน (Institute of Space Sciences) บอกเอเอฟพี




ภาพจากหอดูดาวยูโรเปียนเซาเทิร์น ที่เผยสภาพรอบๆ ดาวแคระแดงที่มีดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบโคจรอยู่รอบๆ โดยตำแหน่งของดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่กลุ่มดาวคนแบกงู (Handout / European Southern Observatory / AFP)

ทว่าแม้จะอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของตัวเองค่อนข้างมาก แต่ดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้กลับได้รับพลังงานจากดาวแม่ไม่ถึง 2% ของพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ และทีมวิจัยยังประเมินด้วยว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้มีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ -170 องศาเซลเซียส ซึ่งหนาวเย็นเกินกว่าที่จะเอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างที่เราทราบ

“ดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย ไม่น้ำที่เป็นของเหลว ซึ่งหากมีน้ำหรือก๊าซใดๆ อยู่ก็น่าจะอยู่ในรูปของแข็ง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงเรียกว่าเป็นดาวเคราะห์ที่เย็นจนแข็ง” ริบัสกล่าว

ในความพยายามของมนุษย์เพื่อสร้างแผนที่ดาวเคราะห์ในท้องฟ้าตอนกลางคืนนั้น งานวิจัยส่วนใหญ่ผ่านมามักจะให้ความสนใจดาวฤกษ์อายุน้อยที่สว่างสดใส ซึ่งผลิตแสงได้มาก และเพิ่มโอกาสที่นักวิทยาศาสตร์จะได้สังเกตเห็นวัตถุใดๆ ก็ตามที่โคจรรอบดาวฤกษ์เหล่านั้น

ทว่าสำหรับดาวบาร์นาร์ดส์สตาร์นั้นเป็นดาวแคระแดง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่เล็กและหนาวเย็น และอาจจะมีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราเป็น 2 เท่า อีกทั้งยังผลิตแสงสว่างได้น้อยทำให้เราแยกแยะวัตถุที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนี้ได้ยาก

การค้นหาดาวเคราะห์บาร์นาร์ดส์สตาร์บีนั้น ทีมวิจัยต้องใช้เวลาศึกษาการสำรวจที่ใช้เวลายาวนานมากกว่า 20 ปี จากเครื่องมือ 7 อย่างที่ทำงานเป็นอิสระต่อกัน จากนั้นทีมวิจัยได้ใช้ปรากฏการณ์ “ดอปเปลอร์” (Doppler effect) เพื่อติดตามผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ศูนย์กลาง และนักดาราศาสตร์ยังใช้เทคนิคนี้เพื่อวัดความเร็วของดาวเคราะห์ ซึ่งนำไปคำนวณหามวลของดาวเคราะห์ได้




ภาพจากหอดูดาวยูโรเปียนเซาเทิร์น ที่เผยสภาพรอบๆ ดาวแคระแดงบาร์นาร์ดส์สตาร์ (วงกลมสีแดง) ที่มีดาวเคราะห์บาร์นาร์ดส์สตาร์ บี ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบโคจรอยู่รอบๆ โดยตำแหน่งของดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่กลุ่มดาวคนแบกงู ในแถบสีขาวของแผนที่ดาว (Handout / European Southern Observatory / AFP)

“เราทั้งหมดทำงานอย่างหนักเพื่อการค้นพบที่สำคัญนี้” กิลเลียม อังลาดา เอสคูด (Guillem Anglada Escude) จากมหาวิทยาลัยลอนดอนส์ควีนแมรี (London's Queen Mary University) ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยเรื่องนี้ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) กล่าว

ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับหอดูดาวยูโรเปียนเซาเทิร์น (European Southern Observatory) โดยใช้เครื่องมือดาราศาสตร์ที่มีความแม่นยำมาก ทำให้ทีมวิจัยสามารถตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงความเร็วของดาวฤกษ์ที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยแค่ 3.5 กิโลเมตรต่อได้ ซึ่งเป็นความเร็วระดับการเดินอย่างเนิบๆ

เชื่อว่าดาวฤกษ์บาร์นาร์ดส์สตาร์นั้นเคลื่อนที่ไปในอวกาศที่ความเร็วประมาณ 500,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดในเอกภพเท่าที่เราทราบ

ริบัสบอกด้วยว่าแม้กระทั่งนักดาราศาสตร์สมัครเล่นยังสามารถพยากรณ์ขนาดและวงโคจรของดาวฤกษ์ดวงนี้ได้ค่อนข้างแม่นยำ โดยอาศัยปรากฏการณ์ดอปเปลอร์นี้ แต่ความพยายามที่จะหาคำตอบว่าดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้จะมีลักษณะแบบใดนั้น ทำได้แค่ “คาดเดา”

ด้วยมวลของดาวเคราะห์ดวงนี้ ริบัสบอกว่านักวิจัยอาจะมองว่าดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์กินเหมือนโลกที่มีพื้นผิวเป็นของแข็ง ที่อาจจะมีชั้นบรรยากาศหรือชั้นที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งอยู่ด้านบน หรือเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจคล้ายดาวเนปจูนย่อมๆ คือเป็นดาวเคราะห์ก๊าซที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ใหญ่ของระบบสุริยะ

สำหรับดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวเคราะห์นี้ คือดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวของระบบดาวอัลฟาเซนทอรี (Alpha Centauri system) ที่อยู่ห่างจากโลกเพียง 4 ปีแสง และถูกค้นพบเมื่อปี 2016 ซึ่งริบัสบอกว่า ใกล้ๆ ระบบสุริยะนั้นไม่ค่อยมีดาวฤกษ์มากนัก ทำให้มีต้นทุนสูงมากในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ใกล้ๆ




ภาพวาดจากการคาดเดาขณะดาวเคราะห์บาร์นาร์ดส์สตาร์บี (หน้า) โคจรรอบดาวฤกษ์บาร์นาร์ดส์สตาร์ ซึ่งเป็นดาวแคระแดง (หลัง) HANDOUT / EUROPEAN SOUTHERN OBSERVATORY / AFP
MGRonline
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ดาราศาสตร์ อวกาศ ธรณีวิทยา ดาวเคราะห์ (Planet)
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่