"2018 อีกหนึ่งปีที่น่าผิดหวังของฟุตบอลจีน นโยบาย u23 ที่เหลือแต่ชื่อ และ สร้างดรีมทีม?"

แม้ว่ายังไม่หมดปีดีนัก แต่ก็ถือได้ว่าฟุตบอลจีนรายการสำคัญได้รูดม่านปิดฉากปีนี้ไปแล้ว ถึงแม้ว่าเกมส์ลีกจะเหลืออีกหนึ่งนัด แต่ก็ได้แชมป์เรียบร้อย ส่วนทีมตกชั้นยังต้องลุ้นถึงนัดสุดท้าย

ผลงานทีมชาติชุดใหญ่ เริ่มต้นปีด้วยทัวนาเม้นไชน่าคัพ ด้วยการแพ้สองนัดรวด (แพ้เวลส์ 0-6  แพ้เช็ก 0-4) เกมส์อุ่นเครื่องเตรียมเอเชี่ยนคัพก็ยังไม่ถูกใจแฟนบอล ชนะ ไทย เมียนมาร์ ซีเรีย เสมอ อินเดีย บาร์เรน แพ้ กาตาร์


เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โค้ชทีมชาติจีนชุดใหญ่ มาเซลโล่ ลิปปี้ก็ประกาศว่าหลังเอเชี่ยนคัพจะไม่ต่อสัญญากับสมาคมฟุตบอลจีน ด้วยเหตุผลว่า “คิดถึงบ้าน” แต่ยังไม่หมดไฟทำงานโค้ชยังพร้อมรับงานใกล้บ้าน (รายได้ลิปปี้ ประมาณ 23ล้านยูโรต่อปี เป็นกุนซือที่มีรายได้สูงอันดับสองรองจาก มูรินโย่ 26ล้านยูโร)


ส่วนชุดเยาวชน เรียกได้ว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในรายการชิงแชมป์เอเชีย ทีมu23 เป็นเจ้าภาพ ตกรอบแบ่งกลุ่ม เยาวชนu19 ตกรอบแบ่งกลุ่ม เยาวชนu16 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก ส่วนเอเชี่ยนเกมส์ที่อินโดฯใช้ทีมu23 ไปแข่งตกรอบ16ทีม พร้อมกับยืดสถิติไม่เคยไปเยาวชนโลกทุกรุ่นเป็น 14 ปี


ผลงานสโมสรในเอเอฟซีแชมป์เปี้ยนลีก ก็ถูกแชมป์คาชิม่า แอนเลอร์เขี่ยตกรอบถึงสองทีม
ส่วนที่ทำให้แฟนบอลจีนรู้สึกแปลกใหม่ก็มีแต่ แชมป์ไชนี้ซุปเปอร์ลีก ได้เปลี่ยนมือจากกว่างโจวเอเวอร์แกรนด์ที่ครองบัลลังก์มา7สมัยเป็น เซี่ยงไฮ้เอสไอพีจี

พูดถึงแชมป์ใหม่ แฟนบอลไม่น้อยยกความดีความชอบให้กับเบื้องหลังความสำเร็จ ที่เรียกว่า “วิถีเกินเป่า” (根宝模式) ซึ่งหมายถึงผลผลิตของศูนย์ฝึกฟุตบอลเกินเป่า ที่ก่อตั้งโดย สวีเกินเป่า徐根宝 โดยมีดาวซัลโวอู่เหลยเป็นตัวชูโรง ซึ่งถึงแม้ผู้เล่นตัวหลักในทีมมาจากศูนย์ฝึกนี้ แต่ก็มีแฟนบอลไม่น้อยค่อนแคะว่าใช้เงินซื้อความสำเร็จอยู่ดี 4 ฤดูกาลที่ผ่านมา ลงทุนไปรวมแล้ว 7พันล้านหยวน (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท)



“นโยบายบังคับใช้ u23 เหลือแต่ชื่อ”

“นโยบาย u23”(u23政策) ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ฤดูกาล2017 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเตะดาวรุ่งมีโอกาสลงสนามมากขึ้น โดยในปี2018 มีข้อกำหนดว่า

“นักเตะu23 ต้องอยู่ใน11ตัวจริงแรก อย่างน้อย1คน และทั้งเกมส์การแข่งขันต้องมี นักเตะU23 ลงสนามไม่น้อยกว่าจำนวนนักเตะต่างชาติในสนาม”

ปัจจุบันลีกจีนมีนักเตะต่างชาติลงสนามได้พร้อมกันสามคน (รวมโควต้อเอเชียแล้ว) ถ้าหากส่งลงสนามทั้งสามคน นักเตะu23 ต้องได้ลงสามคนเหมือนกัน (อาจจะเป็นตัวจริง1 สำรองเปลี่ยนลงมาอีกสองคนก็ได้)

จากกฏข้อบังคับทำให้การแข่งขันหลายนัดเกิดปรากฏการณ์ “สายฟ้าแลบ”ของนักเตะโควต้า u23 ให้เห็นอยู่เนืองๆ (ที่ส่งลงตัวจริงก็ยืนในสนามไม่กี่นาทีก็เปลี่ยนออก จากนั้นท้ายเกมส์ก็เปลี่ยนตัวเข้าให้ครบเท่ากับจำนวนต่างชาติ) นักเตะ u23 ได้ลงสนามจริง ได้เงินเดือนเพิ่ม แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้ตามที่ต้องการ นักเตะดาวรุ่งที่แจ้งเกิดได้ยังคงน้อยนิดเหมือนเดิม


จากสถิติที่รวบรวมนักเตะ u23 ที่ลงสนามทั้งจำนวนครั้งและเวลาที่อยู่ในสนาม ปรากฏว่าทีมที่ทำตามกฏเคร่งครัด ให้ดาวรุ่งได้ลงสนามเยอะอย่าง ต้าเหลียนอี่ฟาง กับ เทียนจินฉวนเจี้ยน อยู่ท้ายตารางกำลังหนีตกชั้น ส่วนทีมแชมป์อย่างเซี่ยงไฮ้เอสไอพีจี นักเตะu23 อยู่ในสนามเฉลี่ยเพียงคนละ24 นาทีต่อเกมส์


“ประกาศรายชื่อนักเตะ u25 จำนวน 55 คนเข้าเก็บตัวฝึกซ้อม” สร้างดรีมทีม?

เนื่องจากทีมชาติจีนชุดปัจจุบันมากกว่าครึ่งอายุเกิน 30 ปี ซึ่งแม้แต่ลิปปี้เองก็ทำภาระกิจเปลี่ยนถ่ายสายเลือดใหม่ไม่สำเร็จ ทำให้สมาคมฟุตบอลจีนตัดสินใจประกาศนโยบาย “เรียกเก็บตัวนักเตะu25”(u25集训)  โดยนักเตะที่ถูกเรียกตัวนั้นเป็นนักเตะที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ที่ยังไม่ติดทีมชาติแต่มีความสามารถสูงเข้าค่ายฝึกซ้อม โดยเริ่มเก็บตัวตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ที่เมืองลาซาเขตปกครองตนเองทิเบต เป็นเวลา80 วัน

นโยบายนี้สร้างเสียงวิจารณ์ดังสนั่นไปทั่ว เพราะเรียกไปเก็บตัวไม่ตรงฟีฟ่าเดย์และยังไม่ปิดลีก ถึงแม้จะเรียกตัวนักเตะเฉลี่ยกันไปทุกทีม แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อบางทีมที่นักเตะตัวหลักถูกเรียก โดยเฉพาะทีมที่กำลังหนีตกชั้นอยู่

ซึ่งทีมที่มีนักเตะถูกเรียกเก็บตัวสมาคมอนุโลมกฏนักเตะu23 ทำให้กลายเป็นว่าท้ายฤดูกาลนี้ นโยบายu23 เหมือนถูกยกเลิกไปกลายๆ (ปัจจุบันนอกจาก u25 ก็ยังมี u21 ที่เริ่มเก็บตัวตั้งแต่เดือนตุลาคม คือชุดที่จะลงแข่งนัดอุ่นเครื่องสี่เส้าที่ทีมไทยu21เข้าร่วมแข่งขันด้วย)


------------------------------------------------------------------

ประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนด้านฟุตบอลสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก เหตุใดยิ่งลงทุนมากยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายในการเป็นมหาอำนาจทางฟุตบอล คงต้องตั้งคำถามว่าเอาเงินไปถมไว้ตรงไหน สมาคมฟุตบอลประเทศจีนให้ความสำคัญกับทีมชาติ ต้องการเห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วจนละเลยการพัฒนาพื้นฐาน

สิ้นปี 2017 จีนมีโค้ชที่ผ่านการอบรมไลเซ่นของเอเอฟซี ระดับโปร 142คน ระดับเอ 899คน ระดับบี 2027คน ซึ่งยังห่างไกลจากเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ทั้งปริมาณและคุณภาพ และดูจากอัตราการเพิ่มขึ้นก็ไม่มีวี่แววว่าจะตามทัน (เริ่มเปิดอบรมมา 9 ปี ได้จำนวนแค่นี้เอง จำนวนคอร์สอบรมต่อปีไม่ต่างจากไทยเราเลย)

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า การพัฒนาวงการฟุตบอลนั้นต้องเริ่มจากเยาวชน ให้เยาวชนในชาติได้มีโอกาสเข้าถึงฟุตบอล ได้รับการฝึกอย่างถูกต้อง ซึ่งจำนวนโค้ชที่มีไลเซ่นต่อจำนวนประชากรถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดอนาคตวงการฟุตบอล ซึ่งการพัฒนาพื้นฐานเหล่านี้ต้องมีนโยบายต่อเนื่อง ทุ่มเทเวลา อดทนและรอคอย ดังนั้นไม่ว่าจะทุ่มเงินไปมากเพียงใดก็ไม่เกิดประโยชน์ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งยังอาจทำให้ถอยหลังลงคลองอีกด้วย


เรียบเรียงจากที่มา :
1.http://www.thecfa.cn/jlypxlmym/index.html
2.https://baijiahao.baidu.com/s?id=1598595215717956329&wfr=spider&for=pc
3.http://www.sohu.com/a/257572740_591523
4.http://www.sohu.com/a/257910605_565130
5.http://nanning.gxorg.com/tiyu/2018/1112/15911.html


ส่วนตัวผมเห็นว่าประเทศจีนเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ ในระดับสโมสรครองความยิ่งใหญ่ในเอเชียได้ แต่ในระดับชาติ กลับตกต่ำลงเรื่อยๆ ข้อมูลที่นำมาให้อ่านเป็นการสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีของจีนและส่วนท้ายเป็นความเห็นที่อ่านมาจากเว็บข่าวต่างๆของจีนครับ

*ขออนุญาตแท็กฟุตบอลไทย ให้แฟนบอลไทยได้อ่านด้วยนะครับ

*แก้ไขคำผิด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่