อีกมุมหนึ่งของดราม่าการอยู่เวรของหมอ

ช่วงนี้ในโซเชียลมีข่าวดราม่าเรื่องเกี่ยวกับการอยู่เวรของหมอ เลยต้องขอเกาะกระแสกับเขาบ้างครับ

https://m.ppantip.com/topic/38218362

อยากจะเล่าเรื่องนี้ในมุมมองของผมให้คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงโรงพยาบาลได้เข้าใจกันครับ

ดราม่าในโซเชียลพูดถึงการอยู่เวรของหมอโรงพยาบาลรัฐนอกเวลาราชการที่ดูเยอะมาก เวรที่ว่าก็น่าจะเป็นเวรห้องฉุกเฉินครับ เคยสงสัยมั้ยครับว่าในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐทำไมเวลาเข้าไปถึงมักจะเห็นแต่หมอเด็กๆ แล้วหมอแก่ๆเขาไม่มาอยู่กันหรอ คำตอบคือทุกวันนี้แพทย์ที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐแทบทุกโรงพยาบาลนอกเวลาราชการเกือบ 100% คือแพทย์จบใหม่ครับ

ฟังแล้วดูแย่เนาะเหมือนหมอที่จบมานานแล้ว เป็นหมอที่เชี่ยวชาญแล้วเอาเปรียบน้อง ไม่มาช่วยอยู่เวรห้องฉุกเฉินเลย แล้วอย่างนี้คนไข้จะได้รับการรักษาที่ดีหรือ จริงๆแล้วมันคือวัฎจักรที่เกิดขึ้นเช่นนี้มานานแสนนานแล้วเพราะอะไร เวรห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการสำหรับหมอคือเวรที่เป็นเหมือนยาขมครับ นอกจากต้องอดหลับอดนอนแล้ว งานหนัก เหนื่อย แล้วยังต้องมาเครียดปวดประสาทกับปัญหาของคนไข้และญาติ และยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทางกฎหมายมากกว่าจุดอื่นอีก ถ้าถามความคิดเห็นของหมอผมเชื่อว่าส่วนใหญ่แทบทั้งหมดไม่อยากอยู่เวรห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ดังนั้นวิถีชีวิตของหมอส่วนใหญ่คือเมื่อเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิตใช้ทุนครบแล้วก็ต้องพยายามไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางเพื่อที่จะได้ทำงานในจุดที่สบายกว่า เครียดน้อยกว่า และที่สำคัญคือได้เงินมากกว่า เพราะทุกคนก็ย่อมมีความเห็นแก่ตัวกันทั้งนั้นและต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองเสมอ

เมื่อหมอเรียนจบแพทย์เฉพาะทางกลับมาไม่ได้แปลว่ากลางคืนว่างไม่มีอะไรทำนะครับ ก็ย่อมต้องมีงานของแพทย์เฉพาะทางนอกเวลาราชการด้วยเช่นเดียวกันเพียงแต่มันสบายกว่าเวรห้องฉุกเฉิน อย่างผมเป็นหมอมา 25 ปี ทุกวันนี้ก็ยังต้องอยู่เวรของการดูแลคนไข้ในแผนกตั้งแต่ 16.30-08.30 น. เดือนละ 7-8 วัน ในขณะที่ในเวลาราชการก็ต้องทำงานตามปกติแล้วถ้าจะให้ไปช่วยอยู่เวรห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการอีกคงไม่ไหวมั้งครับ ถ้าจะให้ไปอยู่จริงก็คงแย่ทั้งหมอทั้งคนไข้ เพราะความรู้ทุกวันนี้หลงเหลืออยู่แต่ในเฉพาะทางที่ตนเองเรียนมาเท่านั้น ด้านอื่นแทบจะคืนครูไปหมดแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าเอาสูตินรีแพทย์ไปรักษาโรคไต เอาหมอโรคไตไปรักษาโรคตา มันจะได้เรื่องมั้ย ในที่สุดแล้วหน้าที่ในการอยู่เวรห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการจึงตกเป็นของ Intern หรือแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่ซึ่งต้องมาใช้ทุนที่โรงพยาบาลจังหวัด 1 ปีก่อนออกไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ถามว่าแล้วทำไม Intern ต้องอยู่เวรนี้ล่ะ ก็เพราะ Intern อยู่ต่ำสุดไงครับ ในโลกนี้ไม่มีความยุติธรรมครับ

เคยมี Intern ถามคำถามนี้กับผมเมื่อนานมาแล้ว ผมก็ตอบไปเช่นนี้แล้วถามน้องกลับว่าเมื่อน้องโตขึ้นเป็นแพทย์เฉพาะทางแล้วน้องจะทำเหมือนที่พี่ทำมั้ยหรือน้องจะมาช่วย Intern อยู่เวร ดังนั้นจบเนาะ เป็น Intern แค่ปีเดียวแล้วมันก็จะผ่านพ้นไป แต่จริงๆแล้วการอยู่เวรตรงนี้ของ Intern มันก็มีข้อดีนะครับ มันคือการฝึกให้หมอมีความแข็งแกร่งสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันในชีวิตการทำงานของหมอได้ แล้วจริงๆมันก็ไม่ได้หนักจนรับไม่ไหว อาชีพหมอเป็นอาชีพหนึ่งที่ในเวลาราชการเราไม่ได้ทำงานเต็มเวลา 8 ชั่วโมงจริงๆหรอก มีเวลาพักเวลาอู้เยอะ อยู่เวรกลางคืน กลางวันมีเวลาว่างก็แอบมานอนเป็นเรื่องปกติ ถ้าเทียบกับสมัยเรียนหมอคือสบายกว่าเยอะ

ขอเล่าประสบการณ์ของผมสมัยเรียนหมอที่จุฬาฯให้พอเห็นภาพ ขึ้น Extern (นิสิตแพทย์ปี 6) วันแรกที่แผนกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะโรงพยาบาลตำรวจ ทำงานตั้งแต่เช้ายันเย็นแล้วอยู่เวรต่อถึงเช้าโดยทำหน้าที่เข้าช่วยผ่าตัดยืนขาแข็งกันตั้งแต่เย็นไปๆเรื่อยๆ มีเวลาพักกินข้าวบ้างเข้าห้องน้ำบ้างระหว่างเคส จำได้ว่าคืนนั้นยืนช่วยผ่าตัดจนถึงประมาณตีห้าคือหลับไปทั้งที่ยังยืนอยู่จนพี่แพทย์ประจำบ้านต้องบอกว่าน้องออกไปก่อนก็ได้ อีกจุดหนึ่งที่จำได้แม่นยำคืออยู่ที่แผนกศัลยกรรมอุบัติเหตุ ต้องผ่านทั้งหมด 3 สัปดาห์ พี่แพทย์ประจำบ้านบอกว่าให้เลือกเอาว่าจะหยุดวันไหน ให้โควตา 3 วัน ที่เหลือต้องขนข้าวของมาอยู่ที่ห้องพักแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง มีข้าวเวรให้กินในห้อง ถ้าจะไปอาบน้ำต้องหาเพื่อนมาแตะมือเฝ้าห้องแทน แทบทุกแผนกตอนเรียนต้องเริ่มงานก่อน 07.00 น.เพราะต้องทำงานให้เสร็จก่อนที่แพทย์ประจำบ้านจะมา บางแผนกต้องมาดูคนไข้ตั้งแต่ 05.30 น.ทุกวันก็มี

ต่อมาขณะเรียนต่อเฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยามีครั้งหนึ่งต้องผ่าตัดคลอดต่อเนื่องกัน 12 คนโดยไม่ได้กินข้าว จำได้ว่าแทบจะอ้วกออกมาเป็นเด็กกันเลยทีเดียว นึกย้อนกลับไปแล้วตอนนั้นคือเหนื่อยมาก กูทำไปได้ไงเนี่ย แต่ตอนนั้นคือเก็บไว้ในใจ ไม่เคยคิดจะต่อรอง เพราะเข้าใจว่านี่คือการฝึกที่หมอทุกคนต้องผ่านไปให้ได้ การเป็นหมอที่ดีต้องแกร่ง ถ้าแค่นี้ทำไม่ได้ ไม่มีทางเป็นหมอที่ดีได้อย่างแน่นอน

คำตอบของปัญหานี้จริงๆคือจำนวนหมอที่ขาดแคลนในโรงพยาบาลรัฐระดับโรงพยาบาลจังหวัดครับ ถ้าตราบใดมีหมอแค่นี้มันก็จะต้องเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆแหละ ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ที่นโยบายการกำหนดกรอบอัตรากำลังของหมอ ไม่ใช่กำหนดชั่วโมงการทำงาน เพราะถ้ามีการกำหนดชั่วโมงการทำงานของหมอขึ้นมาจริงๆ แน่นอนว่า Intern ก็จะได้อยู่เวรห้องฉุกเฉินน้อยลง แล้วเวรที่เหลือล่ะ ก็จะกลายเป็นแพทย์เฉพาะทางต้องลงไปอยู่ แล้วสุดท้ายคือแพทย์เฉพาะทางก็จะรู้สึกว่ากูไม่ไหวแล้ว ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเงินเดือนของแพทย์โรงพยาบาลรัฐน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนเยอะ ถ้าระบบบีบให้แพทย์เฉพาะทางรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงานสุดท้ายก็จะเกิดภาวะสมองไหล แพทย์เฉพาะทางลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกันหมด คราวนี้ระบบจะยิ่งพังพินาศไปกันใหญ่ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่