ความลับอันเจ็บปวดใจ เมื่อแมวรู้ว่าเจ้าของคุยด้วยแต่ไม่เคยแคร์

เป็นเรื่องที่รู้กันดีในกลุ่มของคนเลี้ยงแมวว่าเหล่าแมวน้อยแสนน่ารักทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตสุดอินดี้ที่เดาใจค่อยไม่ถูก เอาแต่ใจตัวเอง กระหายขนมแมวเลีย และพร้อมจะนั่งทับหนังสือหรือโน้ตบุ๊กเมื่อเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้ได้ตลอดเวลา พอดุด่าไปก็ทำหน้าตาเรียบเฉยราวกับจะบอกว่า”แล้วไงใครแคร์”ให้ จนบางครั้งก็ทำให้เราสงสัยว่ามันเข้าใจสิ่งที่เราบอกบ้างไหม หรือเห็นว่าเราเป็นแค่ทาสแมวอย่างที่เขาเรียกกันจริงๆ
เนื่องใน”วันแมวดำแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่27ตุลาคมนี้ ผมจึงขอนำเสนอความลับอันดำมืดของแมวๆให้ทุกๆท่านได้อ่านกันครับ



    คงต้องบอกว่าเป็นความจริงอันน่าเจ็บปวดของเหล่าบรรดาทาสแมวทั้งหลายเลยทีเดียว เพราะมีงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นออกมายืนยันตั้งแต่ปี2013 แล้วว่าในความเป็นจริงแมวนั้นจำเสียงเจ้าของได้แถมยังรับรู้ได้ว่าเจ้าของกำลังพูดกับมันอีกด้วย แต่เจ้าสี่ขาขนปุยเหล่านี้กลับเลือกที่จะเมินเฉยใส่เราเสียเอง

     โดยการวิจัยของสองนักวิจัย อัตสึโกะ ไซโต้ และ คาสึทากะ ชิโนสุกะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งได้ออกตระเวณทำการทดลองกับแมวเลี้ยงจำนวน20ตัว ด้วยการแยกเจ้าของและแมวออกจากกัน ก่อนจะเปิดคลิปเสียงเรียกชื่อเจ้าเหมียวที่พูดโดยตัวเจ้าของเอง สลับกับการเปิดเสียงของคนอื่นเรียกจำนวน3ครั้ง แล้วตรวจดูการตอบสนองทางร่างกายของแมวทั้งการเคลื่อนไหวของหู หาง หันหน้า การส่งเสียงร้อง การขยายและหดของรูม่านตา รวมถึงการขยับของตัวและอุ้งเท้า เมื่อได้ยินเสียงของแต่ละคน

     ผลการทดลองนั้นได้แสดงให้เห็นว่าแมวตอบสนองกับเสียงของเจ้าของได้ดีกว่าเสียงคนทั่วไป เพราะเมื่อแมวได้ยินเสียงเรียกของเจ้าของจะตื่นตัวขึ้นและหันไปมาเพื่อหาตำแหน่งของเสียงซึ่งไม่เป็นกับเสียงของคนแปลกหน้า นั่นหมายความว่าแมวจำเสียงของเจ้าของได้และรู้ว่าเรากำลังคุยด้วยแต่มันเลือกจะไม่สนใจเรานั่นเอง



     แต่ถ้าหากงานวิจัยนี้ยังไม่สามารถทำให้ทาสแมวทั้งหลายสะเทือนใจได้แล้วละก็ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเปิดเผยในปี2015 โดยนักพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยลินคอล์น ประเทศอังกฤษ ซึ่งผลของการวิจัยได้บอกไว้ว่าเจ้าเหมียวของเรานั้นไม่เคยเห็นเราเป็นที่พึ่งที่ปลอดภัยของมันเลย

     จากการทดลองด้วยการประยุกต์ Ainsworth Strange Situation Tests หรือ SST ซึ่งปกติแล้วจะใช้เพื่อทดลองประเมินความผูกพันของแม่และเด็กมาใช้กับแมวจำนวน 20ตัว โดยลองปล่อยแมวให้อยู่ในห้องทดลองที่ไม่คุ้นเคยซึ่งนักวิจัยสร้างขึ้นกับเจ้าของและลองอยู่กับคนแปลกหน้า แล้วสังเกตพฤติกรรมและความเครียดของแมว ผลปรากฏว่าแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเอาเสียเลย ไม่ว่าแมวจะอยู่กับเจ้าของหรืออยู่กับคนแปลกหน้า แมวก็ยังคงแสดงความวิตกกังวล ส่งเสียงร้อง และค่อยๆเดินสำรวจไปรอบๆห้องอยู่ดี  นั่นหมายความว่าเจ้าเหมียวน้อยๆนั้นไม่ได้มองเราเป็นคนที่พึ่งพิงได้แม้แต่น้อยซึ่งต่างกับการแสดงออกสุนัขเป็นอย่างมาก

     โดยจากการหาคำตอบของนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าเหตุผลที่ทำให้แมวกลายเป็นจอมเฉยชากับทาสแมวอย่างเรานั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ9,000ปีที่แล้ว เมื่อมนุษย์เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเร่ร่อนล่าสัตว์ มาเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งและเพาะปลูกพืชเก็บไว้กินเอง สัตว์ต่างๆทั้งหนู นก กระรอก และแมลงก็แอบมาสามัคคีชุมนุมกันกินผลผลิตที่ปลูกไว้ จึงทำให้แมวป่าซึ่งเป็นบรรพบุรุษของแมวในปัจจุบันเริ่มแอบเข้ามาล่าสัตว์เหล่านี้กินเป็นอาหารกลายเป็นการอยู่ร่วมกันของคนกับแมวขึ้น จากนั้นแมวจึงถูกนำมาเลี้ยงเพื่อให้ช่วยจับหนูและได้อยู่อย่างอิสระ ต่างกับสุนัขที่มนุษย์เริ่มเอามาเพาะพันธุ์ ทำให้เชื่อง และฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งตั้งแต่แรก จึงทำให้สุนัขนั้นแสดงความรัก เชื่อฟัง มากกว่าแมวนั่นเอง




       แต่เหล่าทาสแมวทั้งหลายไม่ต้องน้อยใจกันไปนะครับ เพราะถึงแม้ว่าเจ้าเหมียวน้อยเหล่านี้จะชอบทำท่าทีที่เฉยชาใส่เราอยู่เสมอ ก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่รักเรา เพียงแค่การแสดงความรักของแมวนั้นอาจจะต่างกับสัตว์ชนิดอื่นด้วยความเอาแต่ใจและมีโลกส่วนตัวสูงเท่านั้นเอง แต่ก็เพราะความเอาแต่ใจแบบที่เราเรียกว่าดื้อตาใสนี้แหละที่ทำให้หลายๆคนต้องตกหลุมรักเจ้าสัตว์สี่ขาขนปุยเหล่านี้จนกลายเป็นทาสแมวไปในที่สุดเหมือนกันจริงไหมครับ




อ้างอิง

https://www.independent.co.uk/news/science/cats-recognise-their-owners-voices-but-never-evolved-to-care-says-study-8966580.html

https://www.washingtonpost.com/news/speaking-of-science/wp/2015/09/04/your-cat-might-not-really-care-about-you-study-suggests/?noredirect=on&utm_term=.45b0d770fc7e
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่