ใครได้รับผลประโยชน์ จากการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542!!!

แหล่งข่าว https://www.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873/2005398786165299/?type=3&theater
บรรษัทเมล็ดพันธุ์หวังผลประโยชน์อะไรจึงผลักดันให้มีการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV 1991 ? คำตอบนั้น ดูได้จากสิ่งที่เขาต้องการจากซองเมล็ดพันธุ์ของ Seminis/มอนซานโต้ ซึ่งปัจจุบันควบรวมกิจการกับไบเออร์ กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีส่วนแบ่งตลาดมหาศาลทั้งด้านเมล็ดพันธุ์และสารพิษกำจัดศัตรูพืช

หากเป้าหมายของพวกเขาบรรลุผล ทันทีที่ฉีกซองเท่ากับเกษตรกรทั่วโลก ต้องยอมรับเงื่อนไขการผูกขาดภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (UPOV1991 และหรือ กฎหมายสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต) ดังข้อความที่ไบโอไทยแปลมาจากหลังซองเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศของ Seminis ที่ขายในสหรัฐอเมริกา ดังข้อความต่อไปนี้

" คำเตือนสำหรับผู้ซื้อ
การใช้เเมล็ดพันธู์นี้เท่ากับคุณยอมรับเงื่อนไขต่อไปนี้ หากคุณไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว คุณสามารถส่งกลับเมล็ดพันธุ์นี้ได้โดยรับเงินคืนเต็มจำนวนที่ซื้อมา โดยการฉีกซองเมล็ดพันธุ์นี้เท่ากับคุณยอมรับว่า :

ก) ต้องไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ ต้นพืช ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช สารพันธุกรรม เมล็ดพันธุ์พ่อแม่ หรือต้นพืช หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชซึ่งมาจากเมล็ดพันธุ์นี้ ทั้งนี้รวมถึงผลิตผลที่ได้จากการผลิตด้วย เพื่อนำไปปลูกต่อ

ข) ห้ามกระทำการคัดเลือกพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์หรือส่วนใดๆจากแปลงปลูกยกเว้นเป็นการดำเนินการของบริษัทเอง หรือเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อขายเท่านั้น และ

ค) ห้ามใช้ส่วนใดๆสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ การวิจัย การผลิตเมล็ดพันธุ์ วิศวกรรมย้อนกลับ การวิเคราะห์ระดับโมเลกุล หรือระดับพันธุกรรม หรือการนำไปใช้อื่นใดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ"


หากอ่านร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ที่กรมวิชาการเกษตรกำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ จะเห็นการสอดแทรกเนื้อหาดังที่กล่าวเอาไว้อย่างแนบเนียนในหลายมาตรา

เซมินิส/มอนซานโต้นั้น เป็นพันธมิตรธุรกิจกับเจริญโภคภัณฑ์ และเป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทอีสต์เวสต์ซีดส์ (ผู้บริหารของบริษัทนี้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านเมล็ดพันธุ์ของบริษัทอย่างเข้มงวด ก่อนหน้าการประกาศแก้กฎหมายเมื่อปีที่แล้วไม่นาน)

ตลาดเมล็ดพันธุ์ทั้งพืชไร่และพืชผักในประเทศไทยอยู่ในมือกลุ่มบริษัทที่เอ่ยชื่อมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว การมีกฎหมายแบบเดียวกับที่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ต้องการ จะทำให้เกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้นไปอีก และเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงมากขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งไบโอไทยจะนำเสนอให้เห็นอย่างละเอียดต่อไป
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมล็ดพันธุ์พืช (Seed)
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่