ออกท่าภาษามือกับ ‘เพลงรบ ฐิติกุลดิลก’ ล่ามทีวีผู้แปลเพลง BNK 48

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะมีแอพฯต่างๆ มากมายที่ทดแทนการดูทีวี แต่ทีวีก็ยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงอยู่ คนพิการก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยินที่อินเทอร์เน็ตช่วยทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อย่างไรก็ดี ทีวีก็ยังเป็นอีกช่องทางที่คนหูหนวกเลือกรับสื่อ แต่ทีวีกลับมีช่องล่ามภาษามือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน


จำเป็นไหมที่คนหูหนวกต้องดูแต่รายการข่าว และหากมีล่ามภาษามือในทุกๆ รายการจะทำให้คนหูหนวกเข้าถึงสื่อมากขึ้นได้อย่างไร ThisAble.me ชวนคุยกับเพลงรบ ฐิติกุลดิลก “ล่ามภาษามือ” อาชีพในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ บนจอทีวีสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง7 เอชดี ที่เพิ่งโด่งดังจากการล่ามเพลง ‘เธอคือเมโลดี้’ ของ BNK 48

เพลงรบเลือกเรียนล่ามเพราะความแปลก แต่ความแปลกนี้เองที่ทำให้เขาได้ใช้วิชาที่เรียนจากสาขาหูหนวกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางสู่เส้นทางอาชีพล่ามจนปัจจุบัน

นักเรียนล่าม สู่ล่ามอาชีพ

เพลงรบ: หลังเรียนจบเรายังไม่ได้เป็นล่ามเต็มตัว แต่ได้มีโอกาสทำงานที่เกี่ยวข้องกับล่ามภาษามือทั้งที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  หลังจากนั้นเห็นช่อง 7 เปิดรับสมัครล่ามภาษามือ เราก็เลยลองไปสมัครทั้งที่หลังเรียนจบก็ทำแต่งานราชการจนภาษามือเข้าหม้อ ลืมไปหมดแล้ว พอสมัครแล้วก็จะต้องออดิชัน เทสหน้ากล้อง ทดสอบในสตูดิโอตามกระบวนการคัดสรรผู้ประกาศข่าว ตอนนั้นคิดว่า ไม่น่าได้เพราะไม่ได้ใช้ภาษามือมาประมาณ 5-6 ปี เลยขาดความมั่นใจพอสมควร แต่ก็อาศัยเปิดคลิปข่าวที่แปลล่ามดูเพื่อรื้อฟื้นคำศัพท์ใหม่ แล้วก็ผ่านมาได้

ล่ามภาษามือเริ่มให้บริการคนพิการที่ช่อง 11 ก่อน และขยายไปในหลายช่องตามระเบียบของ กสทช.ที่ว่า ทุกช่องจะต้องมีล่ามภาษามือ 1 ชั่วโมงหรือ 5 เปอร์เซ็นต์ของรายการข่าว แต่ช่อง 7 ไม่ได้ใช้ระเบียบแบบนั้น จึงมีล่ามภาษามือมากกว่า 38เปอร์เซ็นต์ ทั้งรายการเพลง รายการธรรมะ ข่าว กีฬา ฯลฯ ไม่เหมือนบางช่องที่เมื่อมีกำหนดว่าต้องมีแค่ 1 ชั่วโมง ล่ามก็ทำแค่ 1 ชั่วโมง ทั้งที่รายการยาว 1.30 ชั่วโมง จึงมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อสอดรับนโยบายแต่ไม่ได้ทำเพื่อบริการให้คนพิการอย่างแท้จริง

ทำไมสถานีต่างๆ ถึงไม่สามารถจัดล่ามภาษามือได้ในทุกช่วงรายการ

เพราะปัญหาค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนกลางของล่ามคือ 600 บาทบวกกับค่าเดินทาง 500 บาทซึ่งหลายครั้งไม่คุ้มเลยหากบ้านอยู่ไกล สถานีเองก็ไม่ได้มีล่ามประจำ แต่สำหรับช่อง 7 เขาคิดกับเราเหมือนเป็นผู้ประกาศคนหนึ่ง มีการเซ็นสัญญา  ดูแลเสื้อผ้าหน้าผมเครื่องแต่งกายและบุคลิกภาพทุกอย่าง นี่จึงถือได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนแรก ที่ก็ยังต้องลองผิดลองถูก และแก้ไขไปเรื่อยๆเมื่อมีข้อเสนอแนะ ตั้งแต่การปรับขนาด ปรับช่องจอล่าม หรือทำสตูดิโอสำหรับทำภาษามือ มีช่างภาพ ไฟ จอมอนิเตอร์ที่พอดีระดับสายตา และอีกอย่างที่เน้นคืออารมณ์ ล่ามผู้ประกาศจะไม่นั่งนิ่ง ถ้ารถชนกันตู้ม! ก็ต้องตู้ม!

เมื่อมีโอกาสได้บอกว่าเราอยากทำอะไร งามล่ามในเวทีคอนเสิร์ตแร็พที่เคยทำก็แว็บขึ้นมาเป็นอย่างแรก เลยบอกเขาว่า อยากแปลข่าวฝนฟ้าอากาศกับสะเก็ดข่าวเพราะน่าจะได้ออกท่าทาง (หัวเราะ) ขนาดชุดยังใส่ไม่ซ้ำแต่ละวัน การแสดงท่าทางทำให้คนหูหนวกเข้าใจมากขึ้น หากไม่มีภาษามือเขาก็จะจินตนาการเองแล้วเล่าต่อๆ กันไป ข้อมูลจึงมักคลาดเคลื่อน

อะไรทำให้ช่อง 7 ตัดสินใจจ้างล่ามประจำ

นโยบายของสถานีสำคัญมาก แม้จะเปลี่ยนหัวหน้าบ่อยแต่นโยบายเรื่องการถ่ายทอดข่าวสารก็ไม่เคยถูกเปลี่ยน เมื่อมีงานล่ามเพิ่มขึ้นจนเราทำไม่ไหว ทางสถานีก็เพิ่มล่ามขึ้น ในหนึ่งวันช่อง 7 ใช้ล่าม 3 คน ซึ่งไม่ใช่ค่าจ้างที่ถูกๆต่อเดือนแถมยังวัดไม่ได้ด้วยว่า คนดูช่อง 7 มีใครบ้างแต่ก็ยังเลือกที่จะทำ เราจึงมองว่า นโยบายและผู้บริหารคือหัวใจสำคัญ มีจุดยืนที่เข้าใจข้อจำกัดด้านงานแปล บางครั้งเราแปลบางส่วนไม่ได้เขาก็เลือกที่จะพัฒนาและส่งเราไปอบรม เราโตไปด้วยกันโดยมีเป้าหมายคือ ทำยังไงให้คนพิการเข้าถึงได้มากที่สุด

“เฮ้ยโยกอีกดิ มันอีก ง่วงเหรอ” เป็นสิ่งที่ทีมจะคอยกระตุ้นกันตลอดเวลา แต่เราก็ดูตามความเหมาะสมว่าแปลรายการอะไร บางครั้งเป็นการแปลเพลง ไม่ใช่ร้องเพลงก็ต้องแสดงท่าทางพอดีๆ โยกเท่าที่ทำได้ ยังคิดเลยว่าถ้ามีพื้นที่ให้ยืนแปลเราอาจจะเต้นแข่งก็ได้ (หัวเราะ) บางเพลงที่ยาก เขาก็ถามเราว่าทำได้ไหม ถ้าเราทำไม่ได้เขาก็เอาจอล่ามลง ไม่ใช่ต้องตะบี้ตะบันทำ

ช่อง 7 เป็นช่องเดียวที่แนะนำชื่อล่ามภาษามือ ทำจนช่องอื่นต้องแนะนำด้วย นอกจากแนะนำแล้ว เขาก็ยังสื่อสารกับเราขณะพูดคุยด้วยไม่ใช่นั่งแปลเฉยๆ ช่วงแรกเราไม่รู้คาแรคเตอร์ของผู้ประกาศแต่ละคน แต่พอแปลบ่อยขึ้น เราจะรู้ว่าผู้ประกาศคนนี้จะทิ้งคำประมาณไหน ขึ้นยังไง รวมทั้งการใช้ชีวิตก็ไม่ได้ถูกแบ่งแยก ทุกคนเป็นเพื่อนพี่น้องกัน


https://www.facebook.com/LuvBNK48/videos/301119967355691/

ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ล่ามเพลง ‘เธอคือเมโลดี้’ ของ BNK 48 ได้อย่างไร

ตอนที่รู้ว่า ต้องแปลเพลงของ BNK 48 เรามั่นใจมากว่าต้องเป็นเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ กะว่าถ้าอินโทรขึ้นจะเต้นตามเลยเพราะว่าเราเต้นได้ แต่เปล่าเลยเขามาโปรโมทเพลงใหม่ ในระหว่างพักโฆษณาสาม 3-4 นาทีเลยเสิร์ชเพลงแล้วนั่งฟัง จับจังหวะดูท่า 2 รอบ พอเข้ารายการก็ลุยเลย หลังแปลออกมามีความเห็นทางบวกเยอะมาก บางคนเขาบอกว่าถึงไม่รู้ภาษามือก็เห็นความตั้งใจจากสีหน้าท่าทาง จังหวะลงตัว

เราต้องให้เครดิตกับ BNK 48 ว่าเขาคือแรงดึงดูด จากแรงดึงดูดกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ทำให้คนรู้ว่า ภาษามือร้องเพลงได้ ผมเคยแปลเพลง ‘เต่างอย’ของจินตหรา พูนลาภ หรือเพลงของวงคอกเทลแต่ก็ไม่มีคนดู แต่คลิป BNK 48 ทำให้คนรู้จักเรา และยิ่งในคลิปที่เขาดึงเอาจอล่ามขึ้นมาบนจอใหญ่ ยิ่งทำให้เราประทับใจที่เขาเห็นความสำคัญของคนพิการ ตอนเรากลับบ้านมาแล้วเห็นคนดูกว่าสี่แสนคน ก็ตกใจมากรีบบอกหัวหน้าว่า “บอสครับ ถ้าผมแปลได้ดีจะเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าแปลผิดนี่คือตกงานเลยนะ” (หัวเราะ)

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/W3UZoL
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่