" สัมมัปปธาน" -------> ความเพียรที่พึงกระทำก่อน





** โพธิปักขิยธรรม **

ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาถึงหมวดหลังนี้ ซึ่งในมหาสติปัฏฐานยังมีอีก ๒ หมวด คือหมวดโพชฌงค์
และหมวดมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่า ๒ หมวดนี้ได้รวมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้แล้ว เป็นหมวดสุดท้าย
และรองสุดท้าย

เพราะว่าในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรวมเอาหมวดธรรมต่างๆ ที่ได้ตรัสแสดงไว้มา
รวมเข้าเป็นหมวดใหญ่ ตรัสว่าเป็นโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ก็คือ

สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
มรรคมีองค์ ๘


เป็น ๗ หมวด โพชฌงค์ไปเป็นหมวดที่ ๖ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหมวดที่ ๗ อันเป็นหมวดสุดท้าย เพราะฉะนั้น
เมื่อได้อธิบายสติปัฏฐาน ๔ ตามหลักมหาสติปัฏฐาน มาถึงหมวดอายตนะแล้ว จึงเว้นโพชฌงค์และมรรคไว้
ต่อเป็นหมวดที่ ๖ ที่ ๗ ของโพธิปักขิยธรรม จึงแสดงหมวดที่ ๒ ของโพธิปักขิยธรรมคือสัมมัปปธานทั้ง ๔



สัมมัปปธาน ความเพียรที่พึงกระทำก่อน

สัมมัปปธาน แปลกันเพื่อเข้าใจง่ายว่าความเพียรชอบ ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ คือ

สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลมิให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมแต่ให้เจริญบริบูรณ์


อันคำว่า ปธานะ แปลกันง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ว่าเพียร สัมมัป คือสัมมา ก็แปลว่าชอบ คำว่าปธานะนี้
ก็แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ข้างหน้า คือตั้งไว้ข้างหน้า อันหมายความว่าเป็นความเพียรที่พึงกระทำก่อน ไม่ใช่กระทำในภายหลัง

และคำว่าปธานะนี้ ก็มาใช้หมายถึงสิ่งที่เป็นประธาน เช่นพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่เป็นหลักสำคัญในอุโบสถ หรือในโบสถ์
ก็เรียกว่าพระประธาน พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ในหมู่สงฆ์ ก็เรียกว่าประทับอยู่เป็นประธานแห่งสงฆ์ บุคคลที่นั่งอยู่ข้างหน้า
เป็นประธานของการประชุมก็เรียกว่าประธานที่ประชุม ก็ตรงตามศัพท์ว่าดำรงอยู่ข้างหน้า หรือตั้งไว้ข้างหน้า

และความเพียรที่มาเรียกว่าปธานนี้ จึงมีความหมายว่า เป็นความเพียรที่พึงตั้งขึ้นไว้เบื้องหน้า พึงกระทำก่อน
เพราะว่าทุกคนนั้นย่อมมีสิ่งที่พึงทำหลายอย่าง ผู้ที่มีธุระมาก ก็ต้องมีความเพียรที่จะต้องกระทำมาก แต่ในบรรดาธุระที่กระทำนั้น
จะทำเรื่องใดเป็นที่ ๑ เรื่องใดเป็นที่ ๒ เรื่องใด เป็นที่ ๓ หรือว่าในเวลาใดในเวลาหนึ่ง จะพึงทำเรื่องใดในเวลานั้น
และเมื่อได้กำหนดไว้ดั่งนี้ ถ้ากำหนดไว้ว่าเป็นเรื่องที่พึงทำที่ ๑ ที่ ๒ เรื่องที่พึงทำเป็นที่ ๑ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่เป็นประธาน
ความเพียรที่พึงกระทำในเรื่องนั้น ก็เรียกว่า ปธาน หรือว่าถ้ากำหนดเวลา ว่าในเวลาใดจะทำเรื่องใด ถึงเวลานั้นก็ทำเรื่องนั้น
เรื่องนั้นก็เป็นประธานของเรื่องทั้งหลายในเวลานั้น คือจะต้องทำในเวลานั้น และความเพียรที่กระทำก็เรียกว่า ปธาน

ดั่งเช่นในเวลานี้เป็นเวลาที่ท่านผู้มุ่งปฏิบัติธรรม กำหนดไว้ว่าจะมาฟังธรรมมาปฏิบัติธรรม ในเวลานี้เรื่องการปฏิบัติธรรม
เรื่องการฟังธรรมปฏิบัติธรรมจึงเป็นประธาน เรื่องอื่นก็งดไว้ก่อน และความเพียรที่พึงทำก็เรียกว่าเป็นประธาน





สัมมัปปธาน ๔ (๑)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
https://sites.google.com/site/smartdhamma/sammappthan-4-1

เม่าฝึกจิต













** ทางปฏิบัติอันถูกชอบ**

ฉะนั้น สีลัพพตุปาทานดังกล่าวมานี้ ก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะพากันละพากันทิ้งได้ หรือเป็นสิ่งที่เป็นของไม่ดี  
จำเป็นที่จะต้องแบ่งตามภูมิตามชั้น

กล่าวคือ ถ้าเป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา อันเป็นศีลและวัตรที่ผิดต่างๆ
นั่นก็เป็นอันว่าผู้นับถือพุทธศาสนา ก็ต้องละต้องเว้นไปโดยลำดับ

และมาถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเอง ก็จะต้องละต้องเว้นเหมือนกัน
แต่ว่าก่อนที่จะละจะเว้นก็ต้องสมาทาน คือ ต้องรับถือปฏิบัติก่อน และจะต้องอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาดังกล่าวมานั้น
คือ ยังจะต้องมีสีลัพพตปรามาส สีลัพพตุปาทานอยู่ในการปฏิบัติมาโดยลำดับ แต่ว่า ก็ยึดและปล่อยไปเป็นขั้น ๆ

เหมือนอย่างคนเดินขึ้นบันไดซึ่งมีหลายขั้น ก็ต้องขึ้นไปทีละขั้น
และขั้นที่กำลังขึ้นอยู่นั้น ก็จะต้องเหยียบอยู่บนบันไดทั้งสองเท้าในขั้นนั้น
ดั่งนี้เรียกว่ายังมีสีลัพพตปรามาสสีลัพพตุปาทานอยู่ในขั้นนั้น


แต่ว่าที่จะก้าวขึ้นขั้นต่อไปนั้น ก็จะต้องละขั้นที่กำลังยืนอยู่นั้น ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือว่าปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น
ถ้าหากว่าไม่ปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ยังคงยืนอยู่ในขั้นเดิมนั่นแหละ ก็แปลว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นก็ต้องปล่อยขั้นที่ ๑ ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นที่ ๒ ก็จะต้องยึดขั้นที่ ๒ ทรงตัวอยู่ในขั้นที่ ๒ แล้วก็ปล่อย
เดินขึ้นไปเป็นขั้น ๆ ดั่งนี้ จึงจะขึ้นสูงขึ้นไปได้โดยลำดับ
จนถึงขั้นสุดท้ายแล้วก็เป็นอันว่าปล่อยได้หมด ดั่งนี้


เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาที่แสดงธรรมะอันละเอียดนี้
จึงไม่ใช่หมายความว่าข้อที่แสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีโทษ ต้องละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้น
ถ้าละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ก็เป็นอันว่าปฏิบัติอะไรไม่ได้

เหมือนอย่างว่ามีบันได ก็เป็นอันว่าขึ้นบันไดกันไม่ได้ เพราะขึ้นบันไดแล้วก็จะต้องเหยียบขึ้นไปทีละขั้น
ถ้าสอนว่าอย่าให้เหยียบ เหยียบแล้วไปยึด อย่างนี้ก็เป็นอันว่าไม่ต้องขึ้นบันไดกัน แล้วเป็นอันว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องยึด จะต้องปล่อย ไปโดยลำดับดั่งนี้ ให้เป็นขั้น ๆไป
นี้กล่าวในข้อที่เป็นข้อที่พึงปฏิบัติ คือเป็นทางปฏิบัติอันถูกชอบ

แต่ว่าถ้าเป็นทางปฏิบัติอันไม่ถูกไม่ชอบแล้ว ก็ต้องปล่อยเสียทีเดียว ไม่ต้องไปทดลองก่อน
เช่น ว่าเว้นจากการฆ่า มีเมตตากรุณา ก็ไม่ต้องไปทดลองฆ่าเสียก่อนแล้วจึงเว้น ละเสียทีเดียว
แต่ในข้อที่พึงปฏิบัตินั้น ก็ให้ปฏิบัติไป แล้วก็ต้องก้าวขึ้นไปเป็นขั้นๆ ดังกล่าวมานี้

ดั่งนี้เป็นอธิบายในสีลัพพตุปาทาน ความยึดถือศีลและวัตร


Ref.
สัมมาทิฏฐิ ๘ - ความรู้จักสีลัพพตุปาทาน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่
https://sites.google.com/site/smartdhamma/khwam-ru-cak-si-laphph-tu-pathan

อ่านถอดเทปทั้งหมดได้ที่
https://sites.google.com/site/smartdhamma/sangarat_anapa_home/tesana_sungaraj


ฟังเสียงพระธรรมเทศนาชุดอบรมจิตได้ที่
http://sangharaja.org/index.php?option=com_content&view=article&id=376&Itemid=10


ขอบคุณภาพจาก
http://www.panoramio.com/photo/27493226


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่