กว่ามนุษย์จะหลุดจากบ่วง (คือรู้อริยสัจ)

กว่ามนุษย์จะหลุดจากบ่วง (คือรู้อริยสัจ)
(พระบาลีนี้ แสดงให้เห็นถึงการที่สามัญสัตว์ติดอยู่ในบ่วงของโลกอย่างไรในขั้นต้น
แล้วจะค่อยๆ รู้สึกตัวขึ้นมาตามลำดับอย่างไร ดังต่อไปนี้ :- )

๑. เมื่อจมกามตามปกติ

ภิกษุ ท. !
ชาวสวนผักมิได้ปลูกผักด้วยคิดว่า
“เนื้อในป่าทั้งหลายจะได้กินผักที่เราปลูกนี้แล้ว จะได้มีอายุยืน
รูปร่างสวยงาม มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน” ดังนี้ ;

แต่ได้คิดดังนี้ว่า
“เนื้อในป่าทั้งหลายจะเข้ามาสู่สวนผักอันเราปลูกแล้วกินอยู่อย่างลืมตัว
ครั้นเข้ามากินอยู่อย่างลืมตัว จักถึงซึ่งความเลินเล่อ
ครั้นเลินเล่ออยู่จักถึงซึ่งความประมาท
ครั้นประมาทแล้วจักเป็นสัตว์ที่เราพึงกระทำได้ตามความพอใจในสวนผักนั้น” ดังนี้.

ภิกษุ ท. !
บรรดาเนื้อทั้งหลาย ฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งได้เข้าไปสู่สวนผักที่ชาวสวนผักปลูกไว้
กินอยู่อย่างลืมตัว เมื่อเข้าไปกินอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความเลินเล่อ
ครั้นเลินเล่อแล้วก็ถึงซึ่งความประมาท
ครั้นประมาทแล้วก็เป็นสัตว์ที่เจ้าของสวนผักพึงกระทำได้ตามความพอใจในสวนผักนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล
ฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งเหล่านั้นก็ไม่พ้นไปจากกำมือแห่งเจ้าของสวนผัก.

(พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่งมาเปรียบกันกับ
ฝูงเนื้อจำพวกที่หนึ่ง ดังต่อไปนี้ :- )

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่ง
ได้เข้าไปสู่โลกามิสเหล่าโน้น ซึ่งเป็นเหมือนกับสวนผักอันมารปลูกไว้
บริโภคอยู่อย่างลืมตัว ครั้นเข้าไปบริโภคอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความมัวเมา
ครั้นมัวเมาอยู่ ก็ถึงซึ่งความประมาท
ครั้นประมาทอยู่ ก็เป็นผู้ที่มารพึงกระทำได้ตามความพอใจ
ในโลกามิสซึ่งเป็นเหมือนกับสวนผักแห่งมารนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล
สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งนี้ จึงไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพแห่งมาร.

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งนี้
ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งนั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุ ท. ! อุปมานี้มีเพื่อให้รู้เนื้อความนั้น :
คำว่า “สวนผัก” นั้น เป็นชื่อแห่งกามคุณทั้งห้า.
คำว่า “เจ้าของสวนผัก” นั้น เป็นชื่อของมารผู้มีบาป.
คำว่า “พวกพ้องของเจ้าของสวนผัก” นั้น เป็นชื่อของบริษัทแห่งมาร.
คำว่า “ฝูงเนื้อ” นั้น เป็นชื่อของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย.

(คำไขอุปมานี้ ตรัสไว้ตอนกลางของพระสูตรที่ตรัสเรื่องเนื้อพวกที่สี่จบลง
ในที่นี้ได้ยกมาไว้ตอนต้นเช่นนี้ เพื่อสะดวกแก่การศึกษายิ่งขึ้น).


๒. เมื่อจมกามครั้งที่สอง*
(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อจำพวกที่สองซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สองว่า:- )

ภิกษุ ท. ! เนื้อพวกที่สอง
(รู้ความวินาศของเนื้อจำพวกที่หนึ่งโดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า
“ถ้าอย่างไร เราเว้นการกินผักซึ่งเป็นโภชนะอันตรายเหล่านี้โดยประการทั้งปวงเสีย
เข้าไปอยู่ในราวป่ากันเถิด” ดังนี้.

เนื้อเหล่านั้น เว้นการกินผักซึ่งเป็นโภชนะอันตรายเหล่านั้นโดยประการทั้งปวงแล้ว
เข้าไปอยู่ในราวป่าแล้ว ;
ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนเป็นเวลาที่หมดหญ้าและน้ำ
ร่างกายก็ถึงซึ่งความซูบผอมอย่างยิ่ง
เมื่อมีร่างกายซูบผอมอย่างยิ่งกำลังอันแกล้วกล้าก็หมดไป
เมื่อกำลังอันแกล้วกล้าหมดไป ก็ย้อนกลับมาสู่ถิ่นแห่งสวนผัก
ที่เจ้าของสวนผักปลูกไว้อีก.
ฝูงเนื้อเหล่านั้น ได้เข้าไปกินผักในสวนผักอย่างลืมตัว
เมื่อเข้าไปกินอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความเลินเล่อ
เมื่อเลินเล่อก็ถึงซึ่งความประมาท
เมื่อประมาทก็เป็นสัตว์ที่เจ้าของสวนผักกระทำได้ตามความพอใจในสวนผักนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล
ฝูงเนื้อพวกที่สองนั้นก็ไม่พ้นไปจากกำมือแห่งเจ้าของสวนผัก.

(พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่สองมาเปรียบกับฝูงเนื้อ
จำพวกที่สอง ดังนี้ว่า :- )

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์จำพวกที่สอง
(รู้ความวินาศของสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่งโดยประการทั้งปวงแล้ว)

มาคิดกันว่า
“ถ้ากระไร เราเว้นจากโลกามิสซึ่งเป็นเสมือนการบริโภคเหยื่อโดยประการทั้งปวงเสีย
เว้นจากโภชนะอันตราย แล้วเข้าไปอาศัยอยู่ในราวป่ากันเถิด” ดังนี้.

สมณพราหมณ์เหล่านั้น เว้นจากโลกามิส อันเป็นเสมือนการบริโภคเหยื่อ
โดยประการทั้งปวง เว้นโภชนะอันตราย พากันเข้าไปอยู่ในราวป่าแล้ว.
สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีผักสากะเป็นภักษาบ้าง มีผักสามากะเป็นภักษาบ้าง
มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีเปลือกไม้เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง

มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีเมล็ดผักกาดเป็นภักษาบ้าง
มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเง่าไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร
ยังอัตภาพให้เป็นไป เป็นผู้บริโภคผลตามที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ;

ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน
เป็นเวลาที่หมดผักหมดหญ้าหมดน้ำ ร่างกายก็ถึงซึ่งความซูบผอมอย่างยิ่ง
เมื่อมีร่างกายซูบผอมอย่างยิ่งกำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป
เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไปเจโตวิมุตติก็เสื่อม
เมื่อเจโตวิมุตติเสื่อม ก็ย้อนกลับมาหาโลกามิส
ซึ่งเป็นเสมือนกับสวนผักอันมารปลูกไว้เหล่านั้นอีก.

สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เข้าไปบริโภคอยู่อย่างลืมตัว
ครั้นเข้าไปบริโภคอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความมัวเมา
ครั้นมัวเมาอยู่ก็ถึงซึ่งความประมาท
ครั้นประมาทแล้วก็เป็นผู้ที่มารพึงกระทำได้ตามความพอใจ
ในโลกามิสอันเป็นเสมือนสวนผักของมารนั้น.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล
สมณพราหมณ์แม้พวกที่สองนี้ก็ไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพแห่งมาร.

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สองนี้ ว่า
มีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สองนั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น.



๓. เมื่อเฉไปติดบ่วงทิฏฐิ

(ต่อไปนี้ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อพวกที่สาม ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สามสืบไปว่า :- )

ภิกษุ ท. ! ฝูงเนื้อพวกที่สาม
(รู้ความวินาศของเนื้อจำพวกที่หนึ่งและจำพวกที่สองโดยประการทั้งปวงแล้ว)

มาคิดกันว่า
“ถ้าอย่างไร เราอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ๆ สวนผัก ของเจ้าของผักนั้น
ครั้นอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ๆ สวนผักนั้นแล้ว ก็ไม่เข้าไปกินผักนั้นอย่างลืมตัว
เมื่อไม่เข้าไปกินอย่างลืมตัวอยู่ ก็ไม่ถึงซึ่งความเลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่ออยู่ ก็ถึงซึ่งความไม่ประมาท
เมื่อไม่ประมาท ก็ไม่เป็นสัตว์ที่ใครๆ จะพึงทำอะไรๆ ได้ตามความพอใจ
ในสวนผักของเจ้าของผักนั้น” ดังนี้.
ฝูงเนื้อเหล่านั้น (ก็ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น).

ภิกษุ ท. !
ความคิดได้เกิดแก่เจ้าของสวนผักกับบริวารเหล่านั้นว่า
“ฝูงเนื้อพวกที่สามเหล่านี้คงจะมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงเหมือนมีฤทธิ์เป็นแน่
ฝูงเนื้อพวกที่สามนี้ คงจะเป็นสัตว์พิเศษชนิดอื่นเป็นแน่
มันจึงมากินผักที่เราปลูกนี้ได้. และเราก็ไม่เข้าใจการมาการไปของมัน.
ถ้ากระไรเราพึงล้อมซึ่งที่นั้นโดยรอบ ด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลาย
เราคงจะได้เห็นที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สาม อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน” ดังนี้.
ชนเหล่านั้นได้ทำการล้อมพื้นที่ปลูกผักนั้นโดยรอบ
ด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลายแล้ว.

ภิกษุ ท. ! เจ้าของสวนผักและบริวารก็หาพบที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สาม
อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน.
ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล
ฝูงเนื้อแม้พวกที่สามนั้นไม่พ้นไปจากกำมือของเจ้าของสวนผัก.

(พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่สาม มาเปรียบกับฝูงเนื้อ
จำพวกที่สาม ดังนี้ว่า :- )

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์จำพวกที่สาม
(รู้ความวินาศของสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่งและที่สอง โดยประการทั้งปวงแล้ว)

มาคิดกันว่า
“ถ้ากระไร เราจะอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ๆ โลกามิสซึ่งเปรียบเสมือนสวนผักของมาร
ครั้นอาศัยอยู่ในที่ซุ่มซ่อนนั้นแล้ว จักไม่เข้าไปบริโภคโลกามิส
อันเป็นเสมือนสวนผักแห่งมารนั้น อย่างลืมตัว
ครั้นไม่เข้าไปบริโภคอย่างลืมตัวอยู่ ก็ไม่ถึงซึ่งความมัวเมา
เมื่อไม่มัวเมาอยู่ก็ไม่ถึงซึ่งความประมาท
เมื่อไม่ประมาทอยู่ก็เป็นผู้ที่มารจะพึงกระทำตามความพอใจไม่ได้
อยู่ในโลกามิสอันเป็นเสมือนสวนผักแห่งมารนั้น” ดังนี้.

สมณพราหมณ์เหล่านั้น (ก็ได้ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น) ;
ก็แต่ว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้เป็นผู้มีทิฏฐิ ขึ้นมาแล้วอย่างนี้
ว่า “โลกเที่ยง” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “โลกไม่เที่ยง” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “โลกมีที่สุด” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “โลกไม่มีที่สุด” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีก” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมไม่มีอีก” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็มีไม่มีอีกก็มี” ดังนี้บ้าง ;
ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็หามิได้ไม่มีอีกก็หามิได้” ดังนี้บ้าง.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์
แม้พวกที่สามนี้ ก็ไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพแห่งมาร.

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สามนี้
ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สามนั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น.

๔. เมื่อพ้นจากบ่วง

(ต่อไปนี้ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อพวกที่สี่ ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สี่ สืบไปว่า:- )

ภิกษุ ท. ! ฝูงเนื้อพวกที่สี่
(รู้ความวินาศของเนื้อพวกที่หนึ่ง พวกที่สอง และพวกที่สาม โดยประการทั้งปวงแล้ว)

มาคิดกันว่า
“ถ้าอย่างไร เราอาศัยซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งเจ้าของสวนผักและบริวารไปไม่ถึง
ครั้นอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งเจ้าของสวนผักและบริวารไปไม่ถึง
จะไม่ลืมตัวเข้าไปกินผัก ที่เจ้าของสวนผักปลูก จะไม่ถึงซึ่งความเลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่อจักไม่ถึงซึ่งความประมาท
เมื่อไม่ประมาทแล้วก็ไม่เป็นสัตว์ที่ใครๆ พึงทำอะไรๆ ได้ตามความพอใจ
ในสวนผักของเจ้าของผักนั้น". ฝูงเนื้อเหล่านั้น (ก็ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น).

ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวนผักกับบริวารเหล่านั้นว่า
“ฝูงเนื้อพวกที่สี่เหล่านี้ คงจะมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงเหมือนมีฤทธิ์เป็นแน่
ฝูงเนื้อพวกที่สี่นี้คงจะเป็นสัตว์พิเศษชนิดอื่นเป็นแน่ มันจึงมากินผักที่เราปลูกนี้ได้,
และเราก็ไม่เข้าใจการมาการไปของมัน.
ถ้ากระไร เราพึงล้อมซึ่งที่นั้นโดยรอบด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลาย
เราคงจะได้เห็นที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สี่ อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน” ดังนี้.
ชนเหล่านั้นได้ทำการล้อมพื้นที่ปลูกผักนั้นโดยรอบ
ด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลายแล้ว.

ภิกษุ ท. !
เจ้าของสวนผักและบริวารไม่ได้พบที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สี่
อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน.

ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวนผักและบริวารว่า
“ถ้าเราทำฝูงเนื้อพวกที่สี่ให้แตกตื่นแล้ว มันก็จะทำให้ฝูงอื่นแตกตื่นด้วย
ด้วยการทำอย่างนี้ฝูงเนื้อทั้งปวงก็เริศร้างไปจากผักที่เราปลูกไว้
ถ้ากระไรเราพึงทำความพยายามเจาะจง (ทำความแตกตื่น) แก่เนื้อพวกที่สี่” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เจ้าของสวนผักและบริวารได้ทำความพยายามเจาะจง (ทำความแตกตื่น)
แก่ฝูงเนื้อพวกที่สี่แล้ว.

ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อพวกที่สี่นั้นก็พ้นไปจากกำมือของเจ้าของสวนผัก.

(พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่สี่ มาเปรียบกับฝูงเนื้อจำพวกที่สี่ ดังนี้ว่า:- )

ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพรหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่สี่
(รู้ ความวินาศของสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม โดยประการ
ทั้งปวงแล้ว)

มาคิดกันว่า
“ถ้ากระไร เราอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง
ครั้นอาศัยซุ่มซ่อนอยู่ในที่นั้นแล้ว จะไม่ลืมตัวเข้าไปบริโภคโลกามิส
ซึ่งเป็นเสมือนสวนผักที่มารปลูกไว้ เมื่อไม่ลืมตัวเข้าไปกินก็ไม่ถึงซึ่งความมัวเมา
เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ถึงซึ่งความประมาท
เมื่อไม่ประมาทก็จักเป็นผู้ที่มารไม่ทำอะไรๆได้ตามความพอใจ
ในโลกามิสซึ่งเป็นเสมือนสวนผักที่มารปลูกไว้”
ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้น (ก็ได้ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น).

ภิกษุ ท. !
ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์พวกที่สี่นี้ ก็พ้นไปจากอิทธานุภาพของมาร.

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สี่นี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สี่นั้น,
ฉันใดก็ฉันนั้น.  (ต่อ คห.1)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่