จากคนนอกสายตา “ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ” กุนซือโนเนมผู้กุมอนาคตช้างศึก

กระทู้สนทนา
“ผมจะพยายามพาทีมชุดนี้ไปชิงแชมป์โลกให้ได้ ผมไม่ได้เด่นไม่ได้ดังอะไร
แต่เมื่อได้รับโอกาส ผมคิดเสมอว่า เรามาทำหน้าที่เพื่อในหลวงของเรา
โดยมีคนทั้งชาติรอเชียร์อยู่”  

...ทันทีที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศแต่งตั้ง
ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ เฮดโค้ชหนุ่มวัย 32 ปี เข้ามาทำหน้าที่
หัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี

ก็น่าจะทำให้ชื่อของ “โค้ชด๊าท” ถูกพูดถึงในวงกว้างและจับตามองเป็นครั้งแรก
ในฐานะคนนอกสายตา ทั้งสมัยเป็นนักฟุตบอล หรือตอนแม้กระทั่งเป็นโค้ช
แต่กลับถูกเลือกให้มาทำหน้าที่สำคัญ ในการวางรากฐานของทีมชาติไทย
แก่เยาวชนชุดนี้

ความไร้ชื่อเสียงนี่เอง นำมาซึ่งคำถามมากมายถึงความเหมาะสม
และความสามารถของ ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ ว่าดีพอแล้วหรือยัง?
ที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้กุชะตาเหล่าแข้งช้างศึกแห่งอนาคต

โดยเฉพาะความฝันของวงการฟุตบอลแดนสยาม ที่อยากจะเห็น
ทีมชาติไทย ได้ไปแข่งขัน ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ในอีก 8 ปีข้างหน้า
ตามเป้าหมายที่สมาคมฯ ตั้งเป้าไว้ Main Stand จะพาไปทำความรู้จักกับ
กุนซือที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก ถึงเส้นทางการต่อสู้ที่แสนยากลำบาก...
จนถึงวันนี้ที่ได้เป็น เฮดโค้ชทีมชาติไทย รุ่น U-16

ฟรีคิกของธวัชชัย
“พี่วังเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ”
โค้ชด๊าท กล่าวถึงผู้ชายที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มออกเดินบนถนนลูกหนัง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 ประเทศไทยได้รับเลือกให้ทำหน้าที่
เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ท่ามกลางกระแสความนิยม
ของฟุตบอลทีมชาติไทย ยุคดรีมทีม ที่โด่งดังขึ้นมาสร้างความสำเร็จ
ให้กับ ทัพช้างศึก มากมาย

ธงชัย เชื้อหนองโปร่ง (นามสกุลเดิม) ในวันที่ยังเป็นเพียงเด็กน้อยคนหนึ่ง
ที่หัดเตะบอลในบ้านเกิด จ.ลำปาง ก็เป็นอีกหนึ่งในหลายล้านคน
ที่ได้เกาะจอทีวี รับชมการถ่ายทอดสด ฟุตบอลชายในครั้งนั้น

โดยเฉพาะแมตช์ในความทรงจำที่ ทีมชาติไทย เอาชนะ ทีมชาติเกาหลีใต้
ไปได้ 2-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ จากฟรีคิกสุดสวย
ของ ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล

ที่ได้ปลุกไฟฝันให้ ด.ช.ธงชัย ลุกขึ้นมาฝึกฝนฟุตบอลอย่างจริงจัง
ในตำแหน่งกองกลาง โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ก้าวขึ้นไปเล่น
ทีมชาติไทย เหมือนอย่างไอดอล “วัง ลันตา”

“ทุกครั้งที่ได้ดู พี่วัง เล่นในสนาม มันเป็นความสุข
ที่เด็กคนหนึ่งได้ติดตามผลงานของไอดอลตัวเอง
ผมชอบพี่วังมากๆ ถือเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ผมยึดเป็นไอดอลเลยก็ว่าได้”

“จริงๆแล้วที่บ้านผมก็ไม่ได้มีฐานะดีอะไร  ค่อนข้างยากลำบากด้วยซ้ำ
บางทีก็อดมื้อกินมื้อ แต่ผมไม่ได้ท้อหรือถอดใจ
ในช่วงนั้นก็พยายามผลักดันตัวเอง สร้างฝีเท้าจนโค้ชเริ่มเห็นความสามารถ
แล้วก็เริ่มมีผลงานเป็นตัวแทนโรงเรียน, ตัวแทนเขต, ตัวแทนจังหวัด”

“ผมเป็นเด็กบ้านนอกก็จริง แต่ผมก็มีความฝัน
และความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร ยิ่งผมได้เห็นนักฟุตบอลเก่งๆ
ผมก็พยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อที่จะได้เก่งแบบเขาบ้าง
ผมมีความตั้งใจอยากจะเป็นกองกลางที่เก่งเหมือนกับ พี่วัง ให้ได้”

ความฝันที่แตกสลาย
ธงชัย ยังคงมุ่งมั่นขยันฝึกซ้อม และพัฒนาฝีเท้าขึ้นมาเรื่อยๆ
ในทุกๆการแข่งขัน จนวันหนึ่งผลความพยายามอย่างหนัก
ที่อยากจะตามรอย ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล ก็เริ่มเห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง
เมื่อเจ้าตัวถูกเรียกเข้าไปติด ลิสต์ 50 คนสุดท้าย ทีมชาติไทย ชุดปรีโอลิมปิก 2008

ท่ามกลางเหล่าแข้งดังแห่งยุค ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็น ธีรเทพ วิโนทัย, สมปอง สอเหลบ, วุฒิชัย ทาทอง, ประสิทธิ์ เทาดี ฯ
นับเป็นความสำเร็จขั้นต้น ที่ทำให้เจ้าตัวรู้สึก ราวกำลังอยู่ในความฝันเลยทีเดียว

“ตอนที่รู้ว่ามีชื่อในทีมชุดปรีโอลิมปิก ผมดีใจและภูมิใจมาก
เหมือนกับความฝันของเรา มันสำเร็จไปหนึ่งขั้นแล้วนะ”

“ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เป็น 23 คนสุดท้าย
แต่เราก็พยายามเต็มที่ ในเมื่อโอกาสมันมาแล้ว เราก็ไม่อยากปล่อยผ่านไปง่ายๆ”

แต่ความฝันของเขาในการรับใช้ชาติก็แตกสลายไม่เหลือชิ้นดี
ในรอบคัดตัว 35 คนสุดท้าย “ด๊าท” โชคร้ายได้รับบาดเจ็บหนักหัวเข่าบิด
และต้องออกจากการคัดตัวทีมชาติไทย ชุดนั้น...ที่เสื้อตัวนั้น
กลายเป็น เสื้อทีมชาติไทยตัวสุดท้ายที่เขาเคยสวมใส่ ในฐานะนักฟุตบอล

“ยอมรับว่าเสียดายมาก ที่ไม่ได้ติดทีมชุดนี้
เพราะผมเชื่อว่า ลึกๆแล้วว่าผมก็มีดีไม่แพ้ใครนะ
แต่มันย้อนเวลากลับไปไม่ได้ สิ่งที่ผมทำได้คือ พยายามลุกขึ้นสู้ต่อ
พยายามกลับไปสร้างผลงานกับสโมสรให้ดี เพื่อสักวันหนึ่ง
ผมจะได้กลับมาติดทีมชาติอีกครั้งในอนาคต”

หลังพลาดโอกาสในการรับใช้ชาติจากอาการบาดเจ็บหนัก
ธงชัย ฟื้นฟูร่างกาย จนหวนกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้ง
โดยเริ่มจาก อยุธยา เอฟซี ทีมชั้นนำในดิวิชั่น 2 โซนภาคกลาง
ด้วยเงินเดือน 3-4 หมื่นบาท  

น่าเสียดายที่แม้ว่า ธงชัย จะได้รับโอกาสลงสนามต่อเนื่อง
แต่ต้นสังกัดของเขาก็ไม่สามารถตีตั๋วเลื่อนชั้นสู่ลีกพระรองได้
ทำให้ต้องระหกระเหินย้ายไปเล่นให้กับ เพชรบุรี เอฟซี และ เชียงราย ซิตี้

แต่อาการบาดเจ็บก็ยังคงมารุมเร้าและรบกวน
จนทำให้ชื่อของ ธงชัย เชื้อหนองโปร่ง ค่อยๆหายไป
จากเงินเดือน 40,000 บาท ก็ลดลงมาเหลือแค่หลัก 8,000-10,000 บาท

“ช่วงนั้นเป็นเหมือนมรสุมชีวิต  อาการบาดเจ็บรุมเร้าต่อเนื่อง
ทุกครั้งที่ย้ายจากทีม รายได้ของผมก็ลดลงไปทุกที
เพราะสภาพร่างกายเราไม่สมบูรณ์ ประกอบกับอายุเราก็มากขึ้นเรื่อยๆ”  

“ตอนนั้นเหมือนคนที่ไม่มีหลักเลยก็ว่าได้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า
ชีวิตจะเดินต่อไปทางไหนดี ผมควรจะไปทำอะไร
เพราะความฝันของตัวเองที่อยากจะติดทีมชาติ
มันแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว”

ด้วยหลากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นตลอดอาชีพการค้าแข้ง
ทำให้สุดท้าย ธงชัย ตัดสินใจแขวนสตั๊ดไปแบบเงียบๆ
กับสโมสรสุดท้าย ลำปาง เอฟซี ด้วยวัยเพียง 27 ปี

เบนเข็มสู่งานโค้ช
“ผมคิดว่าเราเพิ่งอายุแค่ 27 ปีเท่านั้น
ถ้าเล่นฟุตบอลต่อ ยังไงก็ไปไม่ถึงทีมชาติแน่ๆ ก็เลยตัดสินใจว่า
เอาว่ะ เราไปเริ่มเรียนโค้ชเลยดีกว่า
วันหนึ่งมันอาจจะพาเรากลับไปสานต่อความฝันที่มีมาแต่เด็กก็ได้”

“แม้เราหมดโอกาสทำมันได้ตอนที่เป็น นักฟุตบอล
แต่ในการเป็นโค้ช เราก็ยังมีโอกาสได้เรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์
ผมเลยตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนว่า สักวันหนึ่ง ผมจะต้องเป็นโค้ชทีมชาติให้ได้”

ด้วยพื้นฐานการเป็นอดีตนักฟุตบอล บวกกับลักษณะนิสัย
ที่เป็น คนเรียนรู้ง่าย,ชอบศึกษาแท็กติกฟุตบอลจึงเป็นต้นทุนที่ดีที่
ทำให้ “ด๊าท” สามารถทำความเข้าใจกับศาสตร์ของโค้ชได้อย่างรวดเร็ว

เขาใช้เวลาเรียนโค้ชเพียง 1 ปีเศษ  ก็สามารถเรียนจบระดับ เอ ไลเซ่นส์
ตั้งแต่ตอนอายุ 28 ปี ก่อนจะได้รับโอกาสเริ่มงานสตาฟฟ์โค้ชครั้งแรก
กับ สโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี ผ่านการชักชวนของกิตติศักดิ์ ระวังป่า
อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไทย ที่ทำงานให้กับสโมสรแห่งนี้อยู่

“ถ้าไม่มี พี่บอย (กิตติศักดิ์) ในวันนั้น
ผมคงมาไม่ถึงจุดนี้แน่นอน ต้องขอขอบคุณพี่บอยที่มองเห็นความสามารถ
และไว้ใจผม  ผมคิดว่าเขาน่าจะเห็นว่าผมเป็นคนมุ่งมั่น
มีสไตล์ที่ชัดเจน และมีความคิดเป็นฟุตบอลสมัยใหม่”

จากสตาฟฟ์โค้ชคนหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และเรียนรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ไม่นานนัก ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ ก็ได้รับโอกาสดีๆ จากทีมชาติไทยอีกครั้ง
ด้วยการเป็นผู้ช่วยโค้ช ทัพช้างศึก รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี,19 ปี และ 21 ปี ตามลำดับ

“ช่วงปี 2014  ผมมีโอกาสไปเป็นผู้ช่วยของโค้ชอดุลย์ รุ่งเรือง
ลุยศึกชิงแชมป์เอเชียรอบสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
รายการนี้แม้ว่าผลงานจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่มันเป็นก้าวแรกของผม
ในนามทีมชาติในฐานะโค้ช ได้เรียนรู้ความผิดหวัง และข้อบกพร่องค่อนข้างเยอะ”

“จากนั้น ปี 2015  “โค้ชจุ่น” อนุรักษ์ ศรีเกิด ได้ชวนให้มาเป็นหนึ่ง
ในทีมสตาฟฟ์โค้ช ชุดลุยศึกชิงแชมป์อาเซียนที่ลาวได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กๆ
และรู้จักเทคนิคต่างๆ มากขึ้น ก่อนที่สุดท้าย ทีมจะคว้าแชมป์มาครอง
ได้ด้วยการชนะเวียดนาม 6-0  ทีมงานทำงานกันหนักมาก
และผมก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ”

“สองรายการนี้  ผมเองได้ใกล้ชิดกับโค้ชเก่งๆ
ได้ซึมซับบรรยากาศ รูปแบบการฝึกซ้อม
ช่วยให้ผมละเอียดขึ้นในเรื่องการวางแผน”

หลังจากนั้น “โค้ชด๊าท” ได้ขยับขึ้นมาคุมทีมทำหน้าที่ เฮดโค้ชเต็มตัว
กับทีมบางกอกกล๊าส รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี
เขากลายเป็นโค้ชฟุตบอลรุ่นจิ๋วที่มีสไตล์ชัดเจน และน่าสนใจ
บวกกับความรับผิดชอบในการทำงานสูง และความรู้ความสามารถที่ไม่แพ้ใคร

จึงทำให้ บีจีเอฟซี สนับสนุนให้ กุนซือหนุ่มคนนี้
ได้มาร่ำเรียนหลักสูตร เอเอฟซี โปร ไลเซนส์ รุ่นแรกของเมืองไทย
ร่วมกับเหล่าโค้ชชื่อดัง ทั่วฟ้าเมืองไทย ที่เขาแทบจะเป็นบุคคล
ที่ได้รับความสนใจจากหน้าสื่อน้อยที่สุด

เสียงโทรศัพท์ กับฝันที่เป็นจริงอีกครั้ง
แม้จะเคยมีประสบการณ์ในการเป็น ผู้ช่วยโค้ชทีมชาติไทย ในระดับเยาวชนมาก่อน
แต่ก็คงไม่มีใครคาดคิดเหมือนกันว่า ในการอบรมเอเอฟซี โปร ไลเซนส์ รุ่นแรก
ท่ามกลางเฮดโค้ชที่มีชื่อเสียงมากมาย ในคลาสเรียนเดียวกัน

ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ จะกลายเป็น นักเรียนที่ฉายแสง
ให้เห็นถึงความรู้ ความสามารถ ที่ไม่ธรรมดาในตัวเขา
โดยเฉพาะการสอบที่เขาทำคะแนนได้สูงสุดในชั้น
เหนือกว่าโค้ชชื่อดังมากมาย

ซึ่งมันก็เข้าตา วิทยา เลาหกุล อุปนายกฝ่ายพัฒนาเทคนิค สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยอย่างจัง
ที่เสนอชื่อของเขาเข้าไปในสมาคมฯ พิจารณา ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัวมาก่อน

จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งในวันที่ดูเหมือนไม่น่ามีอะไร
มีเสียงโทรศัพท์หนึ่งโทรมาปลุกเขา และภายหลังจากวางสายสนทนา
ทุกอย่างในชีวิตของ ธงชัย รุ่งเรืองเลิศ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป...

“วันนั้น เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ โทรมาบอกว่า
ทางสมาคมฯเลือกให้ผมเป็นเฮดโค้ชทีมชาติไทยชุดยู-16
ตอนนั้นผมก็ยังอึ้งๆ แล้วถามว่านี่เป็นเรื่องจริงเหรอ?”

“เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล หรือทีมงานสมาคมฯ
ไม่มีใครบอกผมให้รู้ก่อนเลย  แล้วผมเองก็รู้ว่า
ด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์ยังน้อยกว่าคนอื่นๆ”

“แต่อีกใจหนึ่งความฝันที่เคยวาดไว้ มันมาอยู่ตรงหน้าแล้ว
ก็เลยคิดว่า ลองซักตั้งดีกว่า หลังจากตัดสินใจรับงาน
ผมยอมรับเลยว่าเครียดมาก เพราะเป็นงานที่ท้าทาย
และแบกความหวังของสมาคมฯและคนไทยไว้”

“ผมนอนไม่หลับร่วมอาทิตย์หลังจากตัดสินใจรับตำแหน่ง
แต่ในเมื่อเราตัดสินใจแล้ว  ก็เดินหน้าต่อ”

ผมอยากร้องเพลงชาติไทยในต่างแดน
ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่ง “โค้ชด๊าท”  ก็ขานรับนโยบายของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ
ที่ต้องการให้เขาสร้างทีมรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี เป็นรากฐานสำคัญสำหรับ
ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในอีก 8 ปีข้างหน้า ตามแนวทาง ไทยแลนด์ เวย์ส

ด้วยประสบการณ์ที่คุ้นเคยกับฟุตบอลเยาวชนระดับประเทศมาก่อน
บวกกับไอเดียในการทำฟุตบอลที่สะท้อนออกมาจากตัวตน
ทำให้ โค้ชด๊าท มีความตั้งใจที่จะต้องการสร้างทีมชุดนี้
ภายใต้คอนเซปท์ เล่นฟุตบอลอย่างดุดัน แต่ต้องรัดกุม และเสียประตูยาก

เพื่อลดจุดด้อยที่เคยมีมาในอดีต ของทีมชาติไทยรุ่นอายุนี้
ผ่านมุมมอง วิธีคิดของโค้ชสายเลือดใหม่วัย 32 ปี

“ปกติเวลาซ้อม ผมจะเป็นคนที่ดุมาก
เด็กๆทุกคนจะรู้ว่าเวลาอยู่ในสนามผมจะเป็นคนจริงจังมาก
แต่ไม่ใช่ว่า ผมดุให้เด็กกลัวผมนะ
ผมต้องการให้เด็กซึมซับและเรียนรู้มากกว่า”

“อย่างในวันที่เราแพ้จุดโทษพลาดแชมป์อาเซียน
ผมก็ปลอบใจจนน้องๆในทีมกลับมามีกำลังใจสู้อีกครั้ง
ด้วยสไตล์การเล่นในสนามของเรา ผมเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การเล่นที่ดุดัน
เพราะผมเชื่อว่า โค้ชเป็นแบบไหน บุคลิกทีมจะเป็นแบบนั้น
แล้วทีมก็จะเดินหน้าไปในแบบที่ผมอยากให้เป็น”

สำหรับสไตล์การเล่นของฟุตบอล “โค้ชด๊าท” ก็ได้เผยปรัชญาทีม 5 ข้อ
ที่นำไปฝึกสอน และเป็นแนวทางปฏิบัติของทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ดังนี้

1.Aggressive  ทีมชุดนี้จะเล่นด้วยความดุดัน จากบุคลิกของทีม
2.Transition  เปลี่ยนรุกเป็นรับอย่างรวดเร็ว
3.Possession Play  เน้นการครองบอล, เอาบอลกลับมาอย่างรวดเร็วยามเสียการครองบอล
4.Creative Play  เล่นบอลสวยงาม สร้างสรรค์เกมและทะลุทะลวงที่ดี  
5.Sharp Finishing  จบสกอร์ให้คม, ทำประตูให้ได้
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ฟุตบอลไทย
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่