เครือข่ายสื่อขวาง กสทช. ออกมาตรการเยียวยา ดีแทค ชี้เล่ห์จับประชาชนผู้ใช้บริการเป็นตัวประกันหรือไม่

กระทู้ข่าว

เครือข่ายสื่อฯ ขวาง กสทช. คลอดมาตรการเยียวยาอุ้ม ดีแทค  แฉเล่ห์จับตัวผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน หวังบีบ กสทช. ออกมาตการคุ้มครอง-ฮุบคลื่น 850 MHz ไปใช้โดยไม่ต้องประมูล ชี้ พฤติการณ์ส่อชัดตั้งใจลอยแพลูกค้าเก่า ทั้งที่รู้หมดสัมปทานกลับเมินเข้าร่วมประมูลคลื่นเดิม ก่อนส่งบริษัทลูกประมูลคลื่นใหม่ที่ไม่ได้เหลียวแลลูกค้าเก่า  จ่อร้อง ป.ป.ช.ซ้ำ หาก กสทช. ยังดื้อแพ่งอุ้มเอกชน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 นายณัชพล โรจน์ถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) นายคฑาภณ สนธิจิตร นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) พร้อมด้วยกรรมการ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. และสำเนาเอกสารร้องเรียนถึง  พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานกสทช. เพื่อขอให้ กสทช. ระงับการออกประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับบริษัทดีแทค

โดยระบุว่า พฤติการณ์ของบริษัทที่จับเอาประชาชนผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน เพื่อบีบให้ กสทช. ต้องคลอดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว (มาตรการเยียวยา) นั้น  ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต้องการใช้คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ์ฟรี หรือจ่ายค่าเช่าใช้คลื่นในอัตราต่ำโดยไม่ต้องประมูล ถือเป็นการเอาเปรียบประเทศชาติและประชาชน

นายณัชพล กล่าวอีกว่า หาก กสทช. ยินยอมดำเนินการตามข้อเรียกร้องของบริษัทดีแทค ไม่เพียงจะเป็นการตกหลุมพรางที่บริษัทเอกชนวางเอาไว้ ยังทำให้ประเทศชาติ และประชาชนเสียประโยชน์ จากการนำคลื่นความถี่ 850 MHz ออกไปประมูล และการที่ กสทช. จะพิจารณาออกมาตรการเยียวยาต่อกรณีดังกล่าว ก็ไม่มีความสมเหตุสมผล หรือมีฐานอำนาจในการดำเนินการ เนื่องจากการจัดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตบนคลื่นความถี่ 900 (850) เมกะเฮิร์ตซ์ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง จึงไม่มีเหตุผลใดที่ กสทช. จะต้องออกมาตรการเยียวยาในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่นที่เคยดำเนินการในอดีต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ เพื่อออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3 จี ไปแล้วถึง 2 ครั้ง และเป็นการประมูลคลื่นความถี่เดิมของดีแทค ที่ใกล้สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่บริษัทกลับแสดงเจตจำนง ไม่เข้าร่วมประมูล ชี้ให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการปกป้องรักษาฐานลูกค้าผู้ใช้บริการเดิม ให้ใช้บริการต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด
                                  
“แม้ในภายหลัง กสทช. จะปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลเพิ่มเติม  แต่บริษัทดีแทค ก็ยังคงไม่เข้าร่วมประมูลแต่อย่างใด กลับส่ง บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือ ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz เข้าร่วมประมูลแทน โดยเป็นการเข้าร่วมประมูลเพื่อขอรับใบอนุญาต 3 จี บนคลื่นความถี่ 1800 MHz  จำนวน 1 ใบอนุญาตขนาด 5 เมกะเฮิร์ตซ์(MHz) เท่านั้น ไม่ได้ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz (850) ที่เป็นคลื่นเดิมของดีแทคแต่อย่างใด เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า บริษัทดีแทค ไม่ได้มีความจริงใจ ปกป้องคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเดิม ที่ใช้งานบนคลื่นความถี่เดิมได้อย่างต่อเนื่องดังที่กล่าวอ้าง”  นายณัชพล กล่าว

นอกจากนี้ การที่บริษัทดีแทค ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 มาตั้งแต่ต้น แต่กลับหยิบยกเอาประเด็นความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการเดิม ที่อ้างว่ามีอยู่ 90,000 เลขหมาย มาเป็นตัวประกันและเป็นข้อต่อรอง เพื่อกดดันให้ กสทช. ต้องออกมาตรการคุ้มครองเป็นการชั่วคราวให้นั้น ถือเป็นความพยายามที่จะได้คลื่นความถี่ 900 MHz ไปใช้งานฟรีๆ โดยไม่ต้องประมูล ซึ่งหาก กสทช. ยินยอมออกมาตรการเยียวยาตามที่บริษัทร้องขอ  เท่ากับเป็นการส่งเสริมเอื้อประโยชขน์ให้กับเอกชน ทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการนำคลื่นดังกล่าวออกไปประมูลทันที  เพราะเชื่อว่า หากบริษัทเข้าสู่กระบวนการเยียวยาได้ ก็คงจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ใหม่แต่อย่างใด

“กสทช. มีแผนจะทบทวนและนำคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (850 MHzเดิม) ออกประมูล ซึ่งหากพิจารณาฐานราคาที่เคยประมูลในอดีตนั้น เคยสร้างรายได้จากการประมูลเข้ารัฐไม่น้อยกว่า 76,000 ล้านบาท แต่หากดีแทคสามารถกดดันให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองให้ได้ ไม่เพียงจะทำให้บริษัทดีแทคสามารถช่วงชิงคลื่นความถี่ไปใช้งานได้โดยไม่ต้องประมูลแล้ว อาจก่อให้เกิดช่องทางทุจริต เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนได้อีก เพราะเมื่อเทียบเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเพื่อเป็นใบเบิกทางในการช่วงชิงคลื่นความถี่ไปใช้ฟรี โดยไม่ต้องประมูล กับการเข้าร่วมประมูลที่ต้องใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาทแล้ว ย่อมคุ้มกว่าแน่

นอกจากนี้ มีกระแสข่าวว่า ขณะนี้มีการวิ่งล็อบบี้ผู้มีอำนาจสูงสุด เพื่อช่วยเหลือเอกชนในกรณีดังกล่าว  ด้วยเหตุนี้  เครือข่ายสื่อฯ จึงขอให้ กสทช. ได้พิจารณาระงับแนวทางการออกมาตรการเยียวยาให้แก่ บรืษัท  ดีแทค แต่หาก กสทช. ยังคงดึงดันที่จะโอบอุ้มบริษัทสื่อสารรายดังกล่าว “เครือข่ายสื่อมวชนต่อต้านทุทจริตแห่งชาติ” (ส.ท.ช.) จะะดำเนินการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช, / สตง. และผู้นำรัฐบาล ให้ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตต่อไป

ที่มา : http://pimthaionline.com/html/modules.php?name=hotnews&file=article&asid=4847
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  กสทช. (NBTC) dtac Mobile Operator
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่