บทบาท ‘เภสัชสมุนไพร’ ขับเคลื่อน ‘สระบุรี’ เป็นจังหวัดสมุนไพร
Fri, 2018-09-07 22:32 -- hfocus
จากกระแสการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรในหมู่ประชาชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรเพื่อทดแทนการนำเข้าของยาแผนปัจจุบัน และเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
เภสัชกร จัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการกำกับ ควบคุมดูแลการใช้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนได้รับยาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและปลอดภัย ดังนั้นเมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข
เภสัชกรจึงจำเป็นต้องปรับบทบาทการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการควบคุมและกำกับการใช้สมุนไพรและยาจากสมุนไพร การตระหนักถึงการปรับบทบาทของเภสัชกรให้เท่าทันกับบริบททางสุขภาพที่เปลี่ยนไป เพราะการใช้สมุนไพรนั้นสามารถใช้ได้ทุกมิติทางสุขภาพ ทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค และฟื้นฟูสภาพ หากใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมก็จะลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ ประชาชนลดการพึ่งพิงระบบสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถต่อยอดเชิงพานิชย์ได้ด้วย
โดยบทบาทของเภสัชกรในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีบทบาทหน้าที่พื้นฐาน ด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบการให้บริการการแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐ บทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 บทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนายาจากสมุนไพรและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย บทบาทหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
นับตั้งแต่ การบรรจุประเด็นการส่งเสริมแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตรา 55 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในขณะที่สภาการปฎิรูปประเทศ ได้กำหนดให้วาระการปฎิรูปการแพทย์แผนไทยและระบบยาสมุนไพรแห่งชาติ และจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาระบบยาสมุนไพร โดยกำหนดพันธกิจ ไว้ 4 ด้าน คือ การสร้างการยอมรับในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร สนับสนุนการผลิตให้ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านสมุนไพร เพื่อให้เกิดการใช้อย่างถูกต้อง ภายใต้การขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานพัฒนาโครงการเมืองสมุนไพร
จังหวัดสระบุรีเป็น 1 ใน 13 จังหวัด ที่เป็นจังหวัดเมืองสมุนไพร โดยการขับเคลื่อนภายใต้การบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน
ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทภารกิจการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาฟื้นฟูสมรรถนะของประชาชน เพื่อประสานภารกิจนี้กับ 9 กระทรวง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสมุนไพร ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว ฯ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มีการจัดตั้งกลุ่มงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกขึ้นมา ภายใต้การขับเคลื่อนการจัดการเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร เชื่อมโยง ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง บทบาทและภารกิจเภสัชสมุนไพร ได้มีการขับเคลื่อน เพื่อประสานความร่วมมือ และพัฒนาเมืองสมุนไพร ตั้งแต่ ปี 2560 เป็นต้นมา
กลุ่มงานการแพทย์แผนไทย ฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ได้มีการขับเคลื่อนบทบาทภารกิจเภสัชสมุนไพร 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการระบบยาจากสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการบริหารจัดการระบบยาในระดับจังหวัด ภายใต้การจัดทำกรอบบัญชียาสมุนไพรระดับจังหวัด และการดำเนินการจัดซื้อจัดหายาสมุนไพรร่วมระดับจังหวัด ระดับเขต เพื่อให้ได้ยาที่มีมาตรฐานเดียวกัน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านยาสมุนไพร
ด้านการผลิตยาจากสมุนไพรให้มีคุณภาพ จังหวัดสระบุรีมีโรงพยาบาลผลิตยาสมุนไพร 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และโรงพยาบาลหนองโดน เพื่อให้เกิดการควบคุมกำกับการผลิตยาให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ จึงได้มีการส่งเสริมและวางแนวทางในการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ทั้งระบบการผลิต วัตถุดิบ และการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และประชาชน รวมทั้งแพทย์ผู้สั่งใช้ยา
ด้านการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรอย่างเหมาะสม และด้านการสื่อสารข้อมูลสมุนไพรสู่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรเป็นไปอย่างเหมาะสม กลุ่มงานได้มีการจัดทำข้อมูลทางวิชาการ และสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังการใช้ยาและความปลอดภัยจากสมุนไพร โดยจัดทำ web application เพื่อสื่อสารการดำเนินงานร่วมกัน
ด้านการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้มีคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัย กลุ่มงานได้จัดทำโครงการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน สร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค อีกทั้งเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์
ด้านการพัฒนานวัตกรรมยาจากสมุนไพร กลุ่มงานได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านปัญหาการใช้ยาปฎิชีวนะ และการใช้ยาไม่เหมาะสม จึงได้นำภูมิปัญญาและสมุนไพร มาสู่การต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม และการพัฒนายา ได้แก่ การวิจัยพัฒนาต้นแก้งขี้พระร่วง ซึ่งในอดีตใช้เป็นยารักษาโรคระบาดในสัตว์ปีก ภายใต้การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อวิจัยและพัฒนา นำสู่การลดการเกิดเชื้อดื้อยา และได้พัฒนาสมุนไพรอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด นำสู่การวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างมาตรฐาน ส่งเสริมการปลูก พัฒนาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรของจังหวัด คือ ดอกเข้าพรรษา จากป่าสู่การวิจัย
บทบาทเภสัชสมุนไพร จึงเป็นบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจภายใต้นโยบายการพัฒนาสมุนไพร เพื่อส่งเสริมการนำสมุนไพรไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ไปสู่การนำไปใช้ในการให้บริการในสถานบริการสาธารณสุข และก้าวไปสู่การสร้างความหวังในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การพัฒนาสมุนไพรครบวงจร ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อีกทั้งการประสานความร่วมมือในหน่วยงานต่างๆ เพื่อปฎิบัติงานในการบริหารจัดการระบบการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร อันนำไปสู่การตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
https://www.hfocus.org/content/2018/09/16298
บทบาท ‘เภสัชสมุนไพร’ ขับเคลื่อน ‘สระบุรี’ เป็นจังหวัดสมุนไพร
Fri, 2018-09-07 22:32 -- hfocus
จากกระแสการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรในหมู่ประชาชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรเพื่อทดแทนการนำเข้าของยาแผนปัจจุบัน และเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
เภสัชกร จัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการกำกับ ควบคุมดูแลการใช้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนได้รับยาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและปลอดภัย ดังนั้นเมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข
เภสัชกรจึงจำเป็นต้องปรับบทบาทการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการควบคุมและกำกับการใช้สมุนไพรและยาจากสมุนไพร การตระหนักถึงการปรับบทบาทของเภสัชกรให้เท่าทันกับบริบททางสุขภาพที่เปลี่ยนไป เพราะการใช้สมุนไพรนั้นสามารถใช้ได้ทุกมิติทางสุขภาพ ทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค และฟื้นฟูสภาพ หากใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมก็จะลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ ประชาชนลดการพึ่งพิงระบบสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถต่อยอดเชิงพานิชย์ได้ด้วย
โดยบทบาทของเภสัชกรในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีบทบาทหน้าที่พื้นฐาน ด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบการให้บริการการแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐ บทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 บทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนายาจากสมุนไพรและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย บทบาทหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
นับตั้งแต่ การบรรจุประเด็นการส่งเสริมแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตรา 55 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในขณะที่สภาการปฎิรูปประเทศ ได้กำหนดให้วาระการปฎิรูปการแพทย์แผนไทยและระบบยาสมุนไพรแห่งชาติ และจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาระบบยาสมุนไพร โดยกำหนดพันธกิจ ไว้ 4 ด้าน คือ การสร้างการยอมรับในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร สนับสนุนการผลิตให้ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านสมุนไพร เพื่อให้เกิดการใช้อย่างถูกต้อง ภายใต้การขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานพัฒนาโครงการเมืองสมุนไพร
จังหวัดสระบุรีเป็น 1 ใน 13 จังหวัด ที่เป็นจังหวัดเมืองสมุนไพร โดยการขับเคลื่อนภายใต้การบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน
ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทภารกิจการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาฟื้นฟูสมรรถนะของประชาชน เพื่อประสานภารกิจนี้กับ 9 กระทรวง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสมุนไพร ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว ฯ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มีการจัดตั้งกลุ่มงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกขึ้นมา ภายใต้การขับเคลื่อนการจัดการเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร เชื่อมโยง ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง บทบาทและภารกิจเภสัชสมุนไพร ได้มีการขับเคลื่อน เพื่อประสานความร่วมมือ และพัฒนาเมืองสมุนไพร ตั้งแต่ ปี 2560 เป็นต้นมา
กลุ่มงานการแพทย์แผนไทย ฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ได้มีการขับเคลื่อนบทบาทภารกิจเภสัชสมุนไพร 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการระบบยาจากสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการบริหารจัดการระบบยาในระดับจังหวัด ภายใต้การจัดทำกรอบบัญชียาสมุนไพรระดับจังหวัด และการดำเนินการจัดซื้อจัดหายาสมุนไพรร่วมระดับจังหวัด ระดับเขต เพื่อให้ได้ยาที่มีมาตรฐานเดียวกัน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านยาสมุนไพร
ด้านการผลิตยาจากสมุนไพรให้มีคุณภาพ จังหวัดสระบุรีมีโรงพยาบาลผลิตยาสมุนไพร 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และโรงพยาบาลหนองโดน เพื่อให้เกิดการควบคุมกำกับการผลิตยาให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ จึงได้มีการส่งเสริมและวางแนวทางในการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ทั้งระบบการผลิต วัตถุดิบ และการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และประชาชน รวมทั้งแพทย์ผู้สั่งใช้ยา
ด้านการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรอย่างเหมาะสม และด้านการสื่อสารข้อมูลสมุนไพรสู่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรเป็นไปอย่างเหมาะสม กลุ่มงานได้มีการจัดทำข้อมูลทางวิชาการ และสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังการใช้ยาและความปลอดภัยจากสมุนไพร โดยจัดทำ web application เพื่อสื่อสารการดำเนินงานร่วมกัน
ด้านการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้มีคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัย กลุ่มงานได้จัดทำโครงการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน สร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค อีกทั้งเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์
ด้านการพัฒนานวัตกรรมยาจากสมุนไพร กลุ่มงานได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านปัญหาการใช้ยาปฎิชีวนะ และการใช้ยาไม่เหมาะสม จึงได้นำภูมิปัญญาและสมุนไพร มาสู่การต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม และการพัฒนายา ได้แก่ การวิจัยพัฒนาต้นแก้งขี้พระร่วง ซึ่งในอดีตใช้เป็นยารักษาโรคระบาดในสัตว์ปีก ภายใต้การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อวิจัยและพัฒนา นำสู่การลดการเกิดเชื้อดื้อยา และได้พัฒนาสมุนไพรอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด นำสู่การวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างมาตรฐาน ส่งเสริมการปลูก พัฒนาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรของจังหวัด คือ ดอกเข้าพรรษา จากป่าสู่การวิจัย
บทบาทเภสัชสมุนไพร จึงเป็นบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจภายใต้นโยบายการพัฒนาสมุนไพร เพื่อส่งเสริมการนำสมุนไพรไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ไปสู่การนำไปใช้ในการให้บริการในสถานบริการสาธารณสุข และก้าวไปสู่การสร้างความหวังในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การพัฒนาสมุนไพรครบวงจร ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อีกทั้งการประสานความร่วมมือในหน่วยงานต่างๆ เพื่อปฎิบัติงานในการบริหารจัดการระบบการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร อันนำไปสู่การตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
https://www.hfocus.org/content/2018/09/16298