▼ กำลังโหลดข้อมูล... ▼
แสดงความคิดเห็น
คุณสามารถแสดงความคิดเห็นกับกระทู้นี้ได้ด้วยการเข้าสู่ระบบ
กระทู้ที่คุณอาจสนใจ
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ
เรียนต่อต่างประเทศ
ประเทศจีน
นักเรียนทุนต่างประเทศ
ภาษาจีน
การเรียน
เด็กนักเรียนตอบรับเข้าร่วมการแข่งขัน Friendship Cup ครั้งที่ 10 ชิงทุนเรียนต่อจีน
http://matemnews.com/2018/09/03/friendshipcup10/
เครือข่ายการศึกษานานาชาติไทย-จีน หรือ iGET ร่วมกับสำนักข่าวซินหัวประจำประเทศไทย โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และสมาคมแลกเปลี่ยนบุคลากรไทย-จีน จัดการแข่งขันทักษะภาษาจีน “ Friendship Cup ครั้งที่ 10” ในหัวข้อ China Dream and My Dream เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2561 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก กรุงเทพฯ โดยเปิดโอกาสให้น้องๆ นักเรียน ได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถทางภาษาและวัฒนธรรมจีน เพื่อก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้าของโลก ตามแนวความคิด “ความฝันของจีน” หรือ China Dream นอกจากถ้วยรางวัลที่ได้รับ น้องๆ ยังมีโอกาสชิงทุนการศึกษาเพื่อสานฝันในการเรียนต่อที่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย
ผศ.ชัชวาล หังสพฤกษ์ ประธานเครือข่ายการศึกษานานาชาติไทย-จีน หรือ iGET เปิดเผยว่าวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานครั้งนี้เป็นไปเพื่อสนับสนุนการเรียนภาษาจีนและการแสดงความสามารถด้านภาษาจีน เป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในด้านการเรียนภาษาจีน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรด้านไทย-จีนขององค์กรวิสาหกิจจีนในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนอัสสัมชัญและมหาวิทยาลัยจีนในเครือข่ายของ iGET 2 แห่งได้แก่ Guangdong University of Foreign Studies เมืองกวางโจว และ East China Nornal University เมืองเซี่ยงไฮ้ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพและมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ทุนเรียนภาษา 1 ปี และยังมีผู้สนับสนุน อย่างสายการบินสปริงแอร์ไลน์ สนับสนุนตั๋วเครื่องบิน 2 ที่นั่ง และ น้ำเต้าหู้โทฟุซังสนับสนุนผลิตภัณฑ์น้ำเต้าหู้ให้ผู้เข้าแข่งขัน รวมมูลค่ารางวัลกว่า 2 ล้านบาท
ด้าน ดร. หัว เซี่ย เลขาธิการสมาคมแลกเปลี่ยนบุคลากรไทย-จีน ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันองค์กรทั้งรัฐบาลและเอกชนจีน มีความต้องการบุคลากรที่ไม่เพียงแค่มีทักษะภาษาจีนเท่านั้น แต่ยังต้องการบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้าน ดังนั้นการร่วมเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนไทยที่มีความรู้ด้านภาษาจีน มีความตื่นตัวและมองไปถึงการประกอบอาชีพในอนาคต ในแต่ละปีมีนักเรียนเดินทางไปศึกษาต่อประเทศจีนกว่า 30,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มาก แต่มีบัณฑิตที่จบมาในสายงานที่ตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรจำนวนน้อย ในขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีน มีสาขาในการเลือกเรียนที่หลากหลายมากกว่าประเทศไทย แต่เด็กไทยเรามักจะเลือกเรียนด้านภาษา หรือการสอนภาษาจีน ซึ่งอาจจะมองว่าเรียนจบได้ง่าย เมื่อจบมาแล้วทำให้แรงงานมีล้นตลาด เราจึงจะเห็นปัญหาสถานการณ์ในเรื่องของการขาดบุคลากรในสายงานเฉพาะทาง
อาจารย์ อู๋ เยี่ยน รองคณบดีคณะการศึกษาสำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติ และ รองศาสตราจารย์ หลัว อี้หยวน รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัย Guangdong University of Foreign Studies ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านภาษาและการค้าระหว่างประเทศในมณฑลกวางตุ้ง เห็นว่า การเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาชาวไทยมองประเทศจีนเป็นอีกจุดหมายในการเลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยคุณภาพของโลก ปัจจุบันนักศึกษาต่างชาติรวมถึงนักศึกษาไทยเดินทางไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจีนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นการเรียนในมหาวิทยาลัยจีนนั้น นอกจากจะได้ทักษะภาษาจีนแล้ว นักศึกษาจะสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาเฉพาะต่างๆที่หลากหลาย ซึ่งมหาวิทยาลัยจีนเปิดไว้รองรับทั้งสายศิลป์ และสายวิทย์ ขณะเดียวกันนักศึกษาจะได้สัมผัสชีวิตนานาชาติในรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจีนเองมีความพร้อมที่จะดูแลนักศึกษาต่างชาติ โดยมีหน่วยงานดูแลนักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศจีนจะพบว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการลงทุนและไม่แตกต่างจากการเรียนในประเทศไทยมากนัก
สำหรับการแข่งขันทักษะภาษาจีน “ Friendship Cup ”จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2550 โดยโรงเรียนภาษาสายสัมพันธ์ เป็นการแข่งขันภาษาจีนที่จัดขึ้นสำหรับนักเรียนที่มีสัญชาติไทยที่ไม่ได้ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่ โดยจัดการแข่งขันมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีน เพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาจีนของผู้เรียนภาษาจีนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนภาษาจีนมีความรู้ ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมจีน รวมถึงมีแรงจูงใจในการเรียนรู้เพื่อต่อยอดทางด้านภาษาจีนต่อไป ซึ่งการแข่งขัน Friendship Cupครั้งที่10 ในงานนี้มี คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 1,000 คน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันมาจากสถาบันการศึกษาในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจำนวน 30 สถาบัน