สมาคมฟุตบอลเผยคุณสมบัติของผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติ

พาทิศ ศุภะพงษ์ เผยถึงคุณลักษณะของตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติไทย ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แบบเต็มเวลา

พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และโฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เผยถึงคุณลักษณะของตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติไทย ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แบบเต็มเวลา

โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เริ่มมีแนวคิดดังกล่าวตั้งแต่ได้รับคำแนะนำจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ในการประชุมหารือที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย

ซึ่งล่าสุด พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ ได้ส่งจดหมายไปยัง ดาโต๊ะ วินด์เซอร์ จอห์น เลขาธิการทั่วไปของเอเอฟซี เพื่อขอความช่วยเหลือในการสรรหาผู้ที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งดังกล่าว ให้ทางสมาคมฯพิจารณาต่อไป

สำหรับกระบวนการสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติไทย ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการตามที่เอเอฟซีและฟีฟ่าแนะนำ ในการส่งจดหมายขอตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติ และได้รับการการันตีจากสมาพันธ์ฯ

นอกจากนี้ ยังได้รับคำแนะนำจาก เจร์ ธอร์สเตนส์สัน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลไอซ์แลนด์ ที่มีพัฒนาการก้าวกระโดด จนสามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลยูโร และฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เป็นครั้งแรกได้สำเร็จในปี 2016 และ 2018 ถึงแนวทางการพัฒนาฟุตบอลทีมชาติด้วยเช่นกัน

โดยตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติไทย จะเป็นผู้ที่ลงรายละเอียดในส่วนของทีมชาติโดยเฉพาะ ในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจากฟอร์มการเล่นล่าสุด ทั้งจากผลงานของนักเตะในสนาม และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่ วิทยา เลาหกุล ดำรงตำแหน่งประธานพัฒนาเทคนิค

พาทิศ ศุภะพงษ์ กล่าวว่า “เอเอฟซีได้มีการคุยกับนายกสมาคมฯ ที่มอสโก หลังจากที่เราได้แสดงความต้องการที่จะพัฒนาด้านเทคนิคแบบจริงจัง”

“ซึ่ง แอนดี้ ร็อกซ์เบิร์ก ผู้อำนวยการเทคนิคของเอเอฟซี ที่เคยเป็นผู้อำนวยการเทคนิคของยูฟ่ามาก่อน เขาก็มีลิสต์ของคนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิกสามารถส่งคำขอไปยังสมาพันธ์ฟุตบอลทวีปของตัวเอง เพื่อให้ช่วยสรรหารายชื่อที่เหมาะสมกับประสบการณ์ที่เราต้องการ แล้วเราค่อยมาเลือกในขั้นต่อไป”

“ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งระดับสูง ที่ต้องการคนมีประสบการณ์ เคยทำงานด้านนี้จริงๆ แบบเต็มเวลา ซึ่งเอเอฟซีจะมีรายชื่ออยู่ เพราะมีการจัดสัมมนาของผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านเทคนิคหรือผู้อำนวยการฟุตบอลอยู่เป็นประจำ”

“ตำแหน่งนี้จะต้องดูแล วางรากฐาน และเตรียมข้อมูลให้กับทีมชาติ เป็นงานที่จะต้องทำเต็มเวลา ทำให้เราต้อง headhunt เท่านั้น ไม่เหมาะที่จะเปิดรับสมัครทั่วไปได้”

“นอกจากนี้ เรายังได้คุยกับอดีตประธานสมาคมฟุตบอลไอซ์แลนด์ ที่ใช้เวลา 10 ปีในการพาทีมชาติไปเล่นฟุตบอลโลก ซึ่งเขาก็ให้ข้อคิดที่ดีว่า ประเทศไอซ์แลนด์ไม่ได้เป็นคนคิดกีฬาฟุตบอลขึ้นมา ดังนั้นเขาจึงมีความต้องการนำเข้าบุคลากรมาวางรากฐาน เอาคนที่มีประสบการณ์จริง มาบอกว่า ณ ปัจจุบันต้องใช้อะไร”

“เขาก็บอกว่านี่คือหัวใจ ต้องใช้คนที่เคยทำมาก่อน และรู้เรื่องพวกนี้จริงๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้ทีมชาติได้รับการสนับสนุนที่แข็งแรง และมีการลงรายละเอียดมากขึ้น”

“ในปัจจุบันเราใช้บริการข้อมูลฐานระบบจากพาร์ทเนอร์ที่หลากหลาย รวมถึง GPS ดังนั้นเราต้องตามให้ทัน และจะต้องรู้ว่าข้อมูลเหล่านี้ สามารถนำมาช่วยเหลือทีมชาติไทยได้อย่างไรบ้าง ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด”

“เพราะฉะนั้นเราต้องการที่จะหาคนมาประมวลสิ่งเหล่านี้ และตรวจสอบผลงานของนักกีฬาจากในสนาม เปรียบเทียบกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เขาต้องอยู่กับข้อมูลต่างๆ อาทิเช่น ความฟิตในการแข่งขัน, การฟื้นตัว, สถิติผลงานในสนาม ต้องนำข้อมูลปัจจัยหลายด้านๆ มาเปรียบเทียบกัน”

“อย่างตอนนี้ไทยลีกเล่นไป 20 กว่าแมตช์ เขาต้องมีการประมวลผลนักเตะในแต่ละตำแหน่ง ด้วยสถิติต่างๆ อาทิเช่น การควบคุมบอล, การเข้าปะทะ, ความฟิต, สภาพร่างกาย ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีอยู่ในข่ายประมาณ 5 คน เขาต้องอยู่กับข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อจะได้ Selection List ของทีมชาติไทย ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลในสนาม และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์”

“ตำแหน่งนี้ต่างจากโค้ชเฮงที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร นี่เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติไทยที่ต้องวิเคราะห์ และเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องมีการ headhunt จากเอเอฟซี เพราะมันเป็นข้อมูลสำคัญ”

“สำหรับ ลิม คิม ชอน เขาเป็นผู้ช่วยพี่เฮงในด้านการสอนโค้ช ผลิตโค้ช เนื่องจากเมื่อก่อนเราไม่มีวิทยากรฝึกสอนโค้ชในประเทศ ทำให้เราต้องนำเข้าวิทยากรในการจัดคอร์สมาตลอด”

“แต่ตอนนี้เราจ้างเขาแบบเต็มเวลา เท่ากับว่าสมาคมฯ มีบุคลากรที่สามารถเปิดคอร์สอบรมโค้ชได้เร็วและมากเท่าที่เขาจะทำได้ และสามารถผลิตผู้ฝึกสอนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“ตัวเขามีความเป็นอาจารย์ ความเป็นจิตใจของผู้สอน ซึ่งในเชิงของผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติจะไม่ใช่เขา เขามีหน้าที่สอนและพัฒนาโค้ชเป็นหลัก  เนื่องจากเป็นผู้ออกแบบคอร์สโปร, เอ, บี และ ซี ไลเซนส์ด้วยตัวเอง สมัยที่ยังเป็นผู้อำนวยการเทคนิคของเอเอฟซี” พาทิศ กล่าวทิ้งท้าย

เครดิต: http://fathailand.org/news/2752
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่