เล่าสู่กันฟัง | เรียนปริญญาตรีที่เยอรมนี (ฉบับแม่บ้าน)

กระทู้นี้เจ้าของกระทู้ขออนุญาตแทนตัวเองว่า เรา นะคะ เพราะถนัดที่สุด ลองใช้ดิฉันแล้ว แต่เขียนได้ไม่ลื่นเลยค่ะ รู้สึกขัดๆ อยู่ตลอดเวลา
จึงจำเป็นต้องใช้คำว่า "เรา" และต้องขอโทษผู้ใหญ่หลายท่านในห้องไกลบ้าน หรือห้องอื่น ที่อาจจะบังเอิญเข้ามาอ่านกระทู้นี้
ไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่สุภาพแต่อย่างใด

และก่อนจะเข้าเรื่อง ต้องขอความร่วมมือด้วยนะคะ สำหรับคนที่รู้จักเราจริงๆ เป็นการส่วนตัว หรือคิดว่าน่าจะรู้จักว่าเราเป็นใคร ขอความกรุณาไม่ทักชื่อในกระทู้นะคะ ถ้าจะทักชื่อขอหลังไมค์มานะคะ ยังไม่อยากเปิดเผยตัวเท่าไหร่ค่ะ พราะว่าเรายังไม่อยากให้คนในครอบครัว หรือญาติๆ ทราบชื่อล็อกอินของเราค่ะ ที่บ้าน รวมไปถึงญาติๆ เล่นพันทิปกันหลายค่ะ คือรู้กันว่าเล่น แต่ไม่มีใครทราบว่าใครใช้ล็อกอินอะไร ใครเล่นห้องไหน เพราะทุกคนก็อยากแสดงความเห็นในบอร์ดสาธารณะ โดยใช้ความคิดเห็นของตัวเองได้เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องต้องกลัวญาติผู้ใหญ่ตำหนิ และสามารถเป็นอีกตัวตนหนึ่งของตัวเองได้ โดยไม่อึดอัด เราเองก็เช่นกัน

และไม่ต้องสงสัยนะคะว่า ทำไมเราไม่กลัวว่าเขาจะรู้เอง จากข้อมูลที่เราตั้งกระทู้ ค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่แน่นอนค่ะ
ข้อมูลที่ครอบครัวเราทราบนั้นน้อยมากค่ะ และเรามีเหตุผลของเราที่ยังไม่ได้บอกค่ะ
ไม่ต้องห่วงตรงจุดนี้ค่ะ แค่ขอความร่วมมือไม่เอ่ยชื่อเราก็พอค่ะ

กระทู้นี้เราเขียนเท่าที่พอจะนึกออก ณ ตอนนี้นะคะ ไม่ได้ร่าง หรือจัดลำดับความคิดก่อนเขียน เขียนไปเรื่อยๆ ตามสิ่งที่คิดได้ในหัว
ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ดังนั้นถ้าใครอยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือคิดว่าเราควรเพิ่ม หรือเสริมเรื่องอะไร ส่วนไหน ก็ถาม
หรือบอกได้นะคะ อยากถามอะไร ก็ถามมาเลยค่ะ อาจจะตอบไม่ได้ทุกคำถาม แต่ถ้าตอบได้ ก็จะตอบให้ค่ะ
    
สถานะของเจ้าของกระทู้ และเหตุผลที่เขียนกระทู้

อย่างในหัวข้อกระทู้เลยค่ะ เป็นแม่บ้านเต็มตัวเต็มเวลา ดูแลรับผิดชอบงานบ้านเองทั้งหมด ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ทำอาหาร ฯลฯ
คือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน และงานครัว
(สามีเขาทำงานเต็มเวลา และก็ดูแลบริเวณรอบบ้าน ดูสวน ต้นไม้ รวมไปถึงงานช่าง งานซ่อมต่างๆ นะคะ ขอออกตัวก่อน เดี๋ยวจะมีคนมาว่า ทำไมสามีไม่ทำงานบ้านช่วยเลย บ้านเราตกลงแบ่งหน้าที่กันเรียบร้อยแล้วค่ะ จริงๆ แล้ว ถ้าถึงเวลาจำเป็นก็ช่วยกันนั่นแหละค่ะ
ไม่ได้แบ่งผูกขาดขนาดนั้น)

เราเป็นแม่บ้านที่เรียนมหาวิทยาลัยไปด้วย ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วยตามแต่เวลาจะเอื้อ ขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีเวลาให้สามี มีเวลาให้ตัวเอง
ได้ทำสิ่งที่อยากทำ มีงานอดิเรก มีเวลาพบปะเพื่อนฝูงตามสมควร แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ทำทุกอย่างที่กล่าวมา ในทุกช่วงเวลาของชีวิต
ทำเท่าที่จะจัดสรรเวลาได้

หลายคนอ่านมาถึงตอนนี้อาจจะรู้สึกหมั่นไส้ ไหนว่าจะเล่าเรื่องเรียน นี่อวดตัวเองอยู่หรือเปล่า ถ้าทำให้คิอแบบนั้น ก็ต้องขอโทษด้วยนะคะ
ที่เกริ่นก่อน เพราะอยากให้เห็นภาพ และมันเป็นสิ่งที่นำมาสู่ความคิดที่จะเขียนกระทู้นี้ค่ะ

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้มีโอกาสคุยกับหลานของเพื่อนที่กำลังมีปัญหากับการเรียนในเยอรมนี เพื่อนเลยขอให้เราช่วยคุย แล้วมีช่วงหนึ่งที่น้องพูดกับเราว่า "พี่เป็นแค่แม่บ้านธรรมดา ก็มีเวลาเหลือเยอะสิ แถมพี่มีแฟนเป็นคนเยอรมัน คอยช่วยเรียนอีก ก็เรียนได้สิ"

เอาจริงๆ ณ เวลานั้น เราไม่ได้โกรธน้องนะคะ เพราะหลายคนก็คิดว่างานแม่บ้านสบาย โอเค ถ้าอยู่บ้านเฉยๆ เราไม่เถียง
แต่ถ้าทำงานบ้านจริงจัง  ทำอาหารเอง ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เราว่ามันไม่ได้สบายเลยนะคะ เราเลยต้องอธิบายให้น้องฟัง ว่าเราทำอะไรบ้าง
เราใช้เวลาเท่าไหร่ ไปกับการทำอะไรบ้าง ใช้เวลาตอนไหนรับผิดชอบงานในส่วนที่เรียน และเรียนยังไง แบ่งเวลายังไง

และอธิบายให้น้องฟังว่า สามีไม่เคยช่วยในเรื่องของการเรียนเลย แค่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง สามีเราปล่อยให้ทำเองตั้งแต่แรกเลยค่ะ ทั้งการค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ นานา สมัครเข้าเรียนยังไง จัดเตรียมเอกสาร คือทุกอย่างจริงๆ เพราะสามีเราบอกว่า คุณสมบัติหนึ่งของการที่จะเรียนในเยอรมนีได้ คือการพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด และรู้จักค้นคว้าหาข้อมูลเอง ถึงแม้ว่าเขาจะมีฝ่ายให้คำปรึกษาในมหาวิทยาลัย ก็ต้องหาข้อมูลเองให้ได้มากที่สุดก่อน ส่วนไหนไม่เข้าใจ ค่อยเข้าไปถาม ซึ่งเราก็ทำทุกอย่างเองมาตลอด เรียนเอง จบเอง (ถึงจะทุลักทุเลหน่อยก็เถอะ)

เราได้เล่าทุกอย่างให้น้องฟัง น้องบอกกับเราในที่สุดว่า "พี่เป็นแม่บ้าน มีอะไรต้องทำเยอะแยะ ยังเรียนจบได้ แถมมีเวลาให้กับตัวเองด้วย ผมเรียนอย่างเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ก็ต้องทำได้ ผมจะพยายามดูอีกสักทีครับ"

จากการได้คุยกับน้อง ทำให้เราทราบว่าปัญหาหลักๆ ของน้องคือ แบ่งเวลาไม่เป็น จัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตไม่ได้ ไม่เคยชินกับการเรียนที่ต้องหาข้อมูลเองเยอะๆ วิเคราะห์บทเรียนไม่เป็น แต่พอพูดคุยกัน จริงจัง น้องก็เข้าใจ และจะสู้ต่อ (ตอนแรกน้องจะกลับอย่างเดียวเลย)

ตอนที่คุยตอนแรก ที่บ้านน้องก็บอกว่า ถ้าคุยแล้วน้องยังยืนยันที่จะกลับก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้ลองคุยกับน้องให้ก่อน ที่บ้านอยากทราบปัญหาจริงๆ น้องบอกแค่ว่ามันยาก เรียนไม่ได้ แต่น้องตอบที่บ้านไม่ได้ว่ายากตรงไหน สาเหตุคืออะไร เพื่อนเราก็เลยแนะนำเราให้พ่อกับแม่น้องรู้จัก และขอให้ลองคุยกับน้องดู เผื่อเราจะคุยรู้เรื่องกว่า เพราะเรียนอยู่ที่นี่เหมือนกัน ซึ่งผลก็ออกมาแบบที่เขียนไปข้างบนนั่นแหละค่ะ

เหตุการณ์นี้มันทำให้เราได้คิด ว่าจะมีเด็กอีกกี่คน ที่ไม่มีคนให้คำปรึกษาเวลาท้อ เวลามีปัญหา หรือไม่อยากจะปรึกษาใคร เพราะคิดว่าพูดไปก็คงไม่มีคนเข้าใจ หรือแม่บ้านเช่นเรา ที่อยากจะเรียน แต่ท้อตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม เพราะคิดว่าตัวเองภาระเยอะ ไม่มีเวลาหรอก ทำไม่ได้หรอก ฯลฯ หรือสารพัดเหตุผลอื่นที่จะยกมาบั่นทอนจิตใจตัวเอง

เราเลยคิดว่า ถ้าเราเขียนกระทู้ อาจจะช่วยให้กำลังใจใครหลายๆ คนได้ หรืออาจจะเป็นตัวช่วยตัดสินใจอะไรบางอย่างของบางคนได้ เลยเป็นที่มาของกระทู้นี่ค่ะ

แน่ละว่า การเรียนในหลักสูตรที่เราไม่คุ้นเคย เรียนเป็นภาษาที่สามด้วย มันไม่ได้ง่าย ต้องอาศัยความอดทน ความพยายามพอสมควร ต้องต่อสู้กับสิ่งบั่นทอนจิตใจ หรืออุปสรรคต่างๆ มากน้อยต่างกันไป แต่ว่ามันก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราค่ะ

สิ่งที่เราจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ คือประสบการณ์ และสิ่งที่เราได้เจอนะคะ อ่านแล้วอย่ายึดติด เพราะแต่ละที่การเรียนการสอนอาจจะไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ที่เดียวกัน คนละคณะ คนละสาขาก็ต่างกันแล้วค่ะ หรือแม้แต่สาขาเดียวกัน เข้าไปเรียนคนละช่วงเวลากัน บรรยากาศก็อาจจะไม่เหมือนกันแล้วก็ได้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เอามาแลกเปลี่ยนกันก็แล้วกันนะคะ

สาขาและมหาวิทยาลัยที่เรียน

เราเรียนจบเอกภาษาศาสตร์ (Germanistik im Kulturvergleich: Schwerpunkt - Sprachwissenschaft) จาก Universität Heidelberg ค่ะ

นี่คือคลิปแนะนำสาขา/ภาควิชานะคะ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



ในภาควิชานี้ ถ้าเราเรียน 75% หรือ 50% เราจะเลือกเป็นวรรณกรรม/วรรณคดี (Literatur) หรือ ภาษาศาสตร์ (Linguistik) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นวิชาโท 25% ต้องเรียนวิชาพื้นฐานเบื้องต้นทั้งสองสาย

และมีวิชาพื้นฐานอาชีพสองอย่างให้เลือก คือ

1. Interkulturelle Kommunikation (ภาษาอังกฤษคือ Cross-cultural communication แปลเป็นไทยน่าจะหมายถึง การสื่อสารต่างวัฒนธรรม อันนี้ไม่ชัวร์นะคะ ใครเรียนวิชานี้อยู่ไทย ช่วยดูให้หน่อยนะคะ ว่าเขาเรียกว่าอะไร)

2. Fremdsprachendidaktik – การสอนภาษาต่างประเทศ (ทฤษฎีจะเรียนแบบรวมๆ แต่การทำสื่อ เลือกสื่อ วิเคราะห์แบบเรียน ทำแผนการสอน รวมถึงปฏิบัติ เน้นไปที่การสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างชาติ)

ตัวเราเองเรียนสาขาภาษาศาสตร์เป็นวิชาเอก 75% ค่ะ วิชาเลือกพื้นฐานอาชีพการสอนภาษาต่างประเทศ (แต่จริงๆ อีกอันหนึ่งเราก็ลงเรียนครบนะคะ แต่ว่าเอาไปกระจายๆ ไว้ในวิชาเลือกโมดูลอื่นแทน)

วิชาโท 25%เราเรียนศึกษาศาตร์ค่ะ (Bildungswissenschaft – ภาษาอังกฤษEducation Studies)
ขอแปะหลักลิงค์แนะนำภาควิชา และหลักสูตรที่เรียนไว้ทั้งสองอันก็แล้วกันนะคะ เพราะถ้าลิสต์สิ่งที่เรียนทั้งหมดออกมา มันจะยาวมาก (แค่นี้ก็ยาวมากแล้ว) ถ้าใครอยากรู้ตรงไหนเพิ่มเติม ถามได้นะคะ (เป็นภาษาอังกฤษนะคะ ถ้าใครถนัดเยอรมันก็เปลี่ยนภาษาได้ตามสะดวก)

Germanistik im Kulturvergleich - Comparative German Studies
https://www.uni-heidelberg.de/courses/prospective/academicprograms/german_comparative_ba_en.html

Bildungswissenschaft – Education Studies
https://www.uni-heidelberg.de/courses/prospective/academicprograms/bildungswissenschaften_en.html

สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม เงื่อนไขการสมัครต่างๆ ในเวบมีบอกไว้ละเอียดแล้วค่ะ
https://www.idf.uni-heidelberg.de/index.html

ขอแอบโปรโมทมหาวิทยาลัยหน่อยนะคะ

สนใจคณะ หรือสาขาอื่นในระดับปริญญาตรี ดูในลิงค์ได้เลยค่ะ
https://www.uni-heidelberg.de/studium/interesse/faecher/
จะเห็นว่าก่อนจะคลิกเข้าไปดู เราจะเห็นด้วยว่า มีวงเล็บข้างหลังใส่จำนวนเปอร์เซนต์ไว้ ให้เราดูคร่าวๆ ด้วยว่า มีกี่เปอร์เซนต์ อันนี้เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษได้นะคะ ถ้าไม่ถนัดภาษาเยอรมัน

ระดับปริญญาโท ก็ตามลิงค์นี้ค่ะ
https://www.uni-heidelberg.de/studium/interesse/faecher/master.html
ระดับปริญญาโท นี่ต้องเข้าไปดูหลักสูตรเองนะคะ ว่าจำเป็นต้องมีวิชาโทไหม ลิสต์ของวิชาโทก็จะตามข้างล่างนี้
https://www.uni-heidelberg.de/md/studium/interesse/faecher/begleitfaecher.pdf

(ข้อความยาวมากต่อในช่องความเห็นนะคะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่