ดูกันหน่อย AI-AIE ลืมกันหรือยัง (โดย มิตร กัลยาณมิตร เว็บ Share2Trade)

กระทู้ข่าว
http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=3270
จำกันได้หรือไม่ บมจ. เอเชียน อินซูเลเตอร์ หรือ AI ลืมกันไปหรือยัง แต่หลายๆ ท่านที่ยังติดหุ้นอยู่ คงทำใจยากลำบากหน่อย เพราะหุ้นถูก SP ตั้งแต่ปี 2558 หลังจากการที่บริษัทย่อยคือ บมจ.เอไอ เอนเนอร์จี หรือ AIE มีปัญหาในเรื่องงบการเงินไม่ได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชี ปัจจุบันได้แก้ไขแล้ว และพร้อมกลับมาเทรดใหม่ในเร็วๆ นี้ ก็ติดตามข่าวกันได้
มาว่ากันที่ธุรกิจหลักของ AI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายลูกถ้วยไฟฟ้า ที่มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยกว่า 55% เรียกได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งของวงการ มีกำลังผลิต 6,000 ตัน/ปี ใช้กำลังผลิตไปแล้วกว่า 95% โดยมีลูกค้ารายสำคัญๆ 2 ราย คือ 1.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 2.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และเชื่อหรือไม่ว่า มูลค่าตลาดลูกถ้วยไฟฟ้าคิดเป็น 7-10% ของงบประมาณการปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน.
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้ประเมินว่า ในแต่ละปี และถ้าไปดูงบการลงทุนของทั้ง 2 การไฟฟ้าที่ว่า เชื่อว่าในปี 2561-2566 น่าจะมีประมาณ 300,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้คิดเป็นมูลค่าในตลาดลูกถ้วยไฟฟ้าเฉลี่ยราว 25,000 ล้านบาท ทำให้มองเห็นภาพการเติบโตได้เป็นอย่างดี
มองกันไปที่โครงการในแถบ EEC ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างถนน ตรงนี้กำลังส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจการผลิตและจำหน่ายลูกถ้วยไฟฟ้าของ AI ดูดีมีเสน่ห์ รวมไปถึงความคืบหน้าการสร้างสถานีส่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้อุตสาหกรรม รวมไปถึงในบางพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้มีแนวโน้มการสร้างสถานีหรือเสาส่งไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต อีกทั้งการนำสายไฟฟ้าภายในตัวเมืองลงใต้ดิน จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับลูกถ้วยไฟฟ้าแบบเฉพาะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตรายเดียวเท่านั้นที่สามารถผลิตได้ ทำให้เป็นอีกช่องทางการเติบโตให้กับบริษัทได้ในอนาคต
ขณะที่ผู้บริหารคาดว่าจะมีความต้องการลูกถ้วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20% และยังมีออเดอร์พิเศษจากการไฟฟ้าที่มีงบประมาณราว 150 ลบ. ที่จะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ Cable Spacer ซึ่ง 30% เป็นการสั่งซื้อโดยตรงกับบริษัท และอีก 70% เป็นการแข่งขันเสนอราคา อีกทั้งแนวโน้มความต้องการใช้ลูกถ้วยไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้น ดูเหมือนจะดี แต่การลงทุนในบริษัทย่อย คือ AIE ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนกว่า 60% ยังคงมีความเสี่ยงจากการผลประกอบการที่ผันผวนตามราคาปาล์มน้ำมัน
อีกหนึ่งคือ บมจ.เอไอ เอนเนอร์จี หรือ AIE ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซล ด้วยโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบกำลังการกลั่น 1,150 ตันต่อวัน (คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 5%ของรายได้รวม) โรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซล (B100) กำลังการผลิต 8 แสนลิตรต่อวัน (คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 80%ของรายได้รวม) ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตราว 40-45% เนื่องจากตลาดยังมีอุปทานส่วนเกินกว่า 2 ล้านลิตรต่อวัน
ธุรกิจนี้อาจจะยังลำบากอยู่ เพราะปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลมีผู้ผลิตประมาณ 13 ราย กำลังการผลิตรวม 6.6 ล้านลิตรต่อวัน แต่ความต้องการใช้ หากใช้น้ำมันดีเซล B7 ก็จะประมาณ 4.2 ล้านลิตรต่อวัน ด้วยเหตุนี้เลยทำให้นับแต่ช่วงขึ้นเครื่องหมาย SP เป็นต้นมา AIE มีผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก แต่ปัจจุบัน กำลังก่อสร้างโรงกลั่นกลีเซอลีนดิบ ซึ่งเป็น "กลีเซอลีนบริสุทธิ์" กำลังการผลิต 100 ตันต่อวัน (คาด COD 1Q62) ซึ่งจะช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นเพราะกลีเซอลีนบริสุทธิ์มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทที่ 0.26-4.48% ในช่วงปี 58-60 ที่ผ่านมา
คำถามคือ "กลีเซอรีน" คืออะไร และ "กลีเซอลีนบริสุทธิ์" นำไปใช้อะไร มีประโยชน์อะไร
"กลีเซอรีน" คือ ของเหลวที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความหนืด และมีรสหวาน โดยปกติจะมาจากน้ำมันของพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์ม ซึ่ง "กลีเซอรีนบริสุทธิ์" สามารถนำไปประยุกต์เป็นส่วนช่วยหล่อลื่นเหมือน "มอยซ์เจอร์ไรเซอร์" เพื่อปกป้องผิวไม่ให้แห้ง และดูดซับความชื้นเมื่อสัมผัสกับอากาศ ทำให้รู้สึกว่า ผิวมีความชุ่มชื้น อ่อนโยนต่อผิว ขจัดความสกปรกที่ฝังแน่น ไม่ทำให้อุดตันรูขุมขน รวมทั้งปลอดภัยต่อผิวหนัง และเนื้อผ้าทุกชนิด
การที่กลีเซอรีนเป็นสารที่ไม่มีพิษในทุกๆ รูปแบบของการประยุกต์ใช้ จะว่าไป "กลีเซอรีน" เป็นสารตั้งต้นหรือสารเติมแต่ง ทำให้กลีเซอรีนได้รับความสนใจและนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถใช้เป็นยาเฉพาะที่สำหรับปัญหาทางผิวหนังหลายชนิด รวมถึง โรงผิวหนัง ผื่น แผลไฟลวก แผลกดทับ และบาดแผลจากของมีคม รวมทั้งรักษาโรคเหงือก เพราะจากกลีเซอรีนสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องได้ ตรงนี้ถือว่ามีอนาคต แต่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน AIE ไม่ได้ผูกขาด
  ด้วยความหลากหลายและคุณประโยชน์เยอะ "กลีเซอรีน" ถึงถูกใช้งานอย่างกว้างขวางเป็น เช่น สารละลาย (solvent) สารเพิ่มความหวาน (sweetener) เครื่องสำอาง (cosmetics and personal care products) สบู่เหลว (liquid soaps) ลูกอม (candy) สุรา (liqueurs) หมึก (inks) และสารหล่อลื่น (lubricants) เพื่อให้ยืดหยุ่น (pliable) สารป้องกันการแข็งตัว (antifreeze mixtures) เป็นส่วนผสมอาหาร (Food and beverage ingredients ) อาหารสัตว์ (Animal feed ) สารปฏิชีวนะ (Antibiotics) ยา (Pharmaceuticals) สารให้ความชุ่มชื้น(moisturizers) น้ำมันไฮดรอลิกส์ (Hydraulic fluids) และสารตั้งต้นทางปีโตรเคมีต่างๆ (Polyether polyols, propylene glycol, epichlorohydrin และอื่นๆ) ซึ่งกลีเซอรีนบริสุทธิ์ 99.87% ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากปาล์ม เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และ เครื่องสำอาง แต่กว่าที่ "กรีเซอรีน" ของ AIE จะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก็ปี 2562 แม้จะฟังดูไม่นาน แต่ก็มีอะไรดีๆ รออยู่
ทั้ง AI และ AIE แม้จะคนละชื่อ ซึ่ง AI จะดูดีจากธุรกิจลูกถ้วยไฟฟ้า แต่ปัญหาคือ AI ถือ AIE ประมาณ 60% อาจจะมีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเกิดอะไรขึ้น เหมือนที่ผ่านมาจนกระทั่งโดนขึ้นเครื่องหมาย SP ที่ผ่านมา ยังมีการปรับปรุงต้นทุนในการเผาดินที่จากเดิมใช้ LPG เปลี่ยนมาใช้ Natural Gas ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 20% ทำให้คาดอัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังมีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูงจากโครงการของ กฟน. และ กฟภ. ที่มีแผนลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่การลงทุนในบริษัทย่อย AIE ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนกว่า 60% ยังคงมีความเสี่ยงจากการผลประกอบการผันผวนตามราคาปาล์มน้ำมัน อาจทำให้กำไรของบริษัท AIE ขาดทุนได้
ราคาปิดของ AI ก่อนขึ้นเครื่องหมาย 1.52  บาท ส่วน AIE ราคาปิดอยู่ที่ 0.67 บาท ก็ต้องมาลุ้นกันว่า ราคาเปิดมาจะเป็นอย่างไร จากนี้ไปก็ต้องมาลุ้นกันว่า การกลับมาเทรด จะเป็นวันไหน และงบที่ออกมาจะช่วยกระตุ้นการซื้อขายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นอีกหนึ่งของหุ้นที่หลายคนรอคอย และไตร่ถามเสมอว่า เป็นอย่างไร จะกลับมาเทรดเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน เราคงจะได้เจอกัน ในการกลับมาเทรดแบบขึ้นลงไม่มีเพดาน
///////////////////////
ขอบคุณบทความจาก
www.facebook.com/Share2Trade/
www.share2trade.com

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่