เทรนด์ฮิต! "แบ่งข่าว" 2 เวลาเช้า

เวลาช่วงเช้าของ "สมรภูมิ" ทีวีดิจิทัล ไม่มีพื้นที่ให้กับรายการอื่น นอกเหนือจาก "รายการข่าว" เสมือนไฟท์บังคับให้ทุกช่องต้องลงสนามช่วงชิง "เรตติ้ง" โดยเฉพาะเมื่อ "เจ้าพ่อข่าวเช้า เบอร์ 1" อย่าง "สรยุทธ" สะดุดขาตัวเองจนต้องลงจากบัลลังก์ ก็ทำให้แต่ละช่องต้องขนทุกกลยุทธ์มาเพื่อคว้าชัยให้ได้
.
.
แต่ก่อน "รายการข่าวเช้า" เริ่มเป่านกหวีด ออกจากจุดสตาร์ทที่เส้นเวลา 6 โมงเช้า ซึ่งกลายเป็นเวลา "ไพร์มไทม์ข่าวเช้า" ที่ทุกช่องจัดรายการหนัก หมัดเด็ดมาใส่กันไม่ยั้งที่เวลานี้ แต่เมื่อวัดผลแพ้ชนะไม่ขาด "หลายช่อง" เริ่มใช้กลยุทธ์ชิงออกอากาศก่อน 6 โมง เพื่อ "ดักคน"
.
.
เริ่มจาก "ช่อง 8" ที่ขยับรายการ "คุยข่าวเช้า" นำร่องไปที่ ตี 5 ลากยาวมาจนถึง 9 โมง ทำสถิติรายการที่ออกอากาศยาวนานที่สุด 4 ชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นก็ช่วยให้ "คุยข่าวเช้า" มีเรตติ้งที่สูงขึ้น จนเบียด "เรื่องเล่าเช้านี้" วันที่ไร้ "สรยุทธ" ได้ จนหลายช่อง เริ่มใช้วิธีการนี้ตามกันมา อาทิ Workpoint / ช่องวัน / PPTV ที่ขยับรายการข่าวเช้าไปออกอากาศช่วง ตี 5
.
.
แต่พอแข่งไปสักพัก เรตติ้งรวมก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะช่วงเวลา ตี 5 นั้นยังถือว่าเป็นช่วง "นัน ไพร์มไทม์" คือไม่ได้มีคนดูมาก ประกอบกับ แชมป์เก่าช่อง 7 เจ้าของสนามก็มีรายการ "เช้าข่าว 7 สี" ครองแชมป์เรตติ้งอยู่
.
.
ทำให้ "ช่อง 8" เริ่มใช้ยุทธวิธี "แยกรายการ" แยกการนับเรตติ้ง โดยแบ่งตัวรายการออกแบบเนียนๆ ด้วยรายการ "คุยข่าวเช้ารุ่งอรุณ" ขอนับเรตติ้งแค่ช่วงเวลา 05.00-06.00 น. แล้วเอา "คุยข่าวเช้า" รายการหลักไปนับเรตติ้งที่ 06.00 - 09.00 น. แทน ซึ่งรูปแบบข่าวก็เหมือนๆกัน ผู้ประกาศก็เซ็ทเดียวกัน ปรากฏว่าการแยกนับเรตติ้งนี้ ส่งผลให้ "คุยข่าวเช้า" ที่นับช่วงที่คนดูมากกว่า (3 ชั่วโมงหลัง) ทำเรตติ้งเอาชนะ "เรื่องเล่าเช้านี้" ได้เกือบทุกวัน กลายเป็นความสำเร็จของช่อง 8 ที่หลายช่อง เริ่มนำมาทำตาม
.
.
อย่าง "ช่องวัน" ก็ใช้สูตรแบบเดียวกัน เป๊ะๆ ด้วยการแบ่งเป็น "ข่าวเช้าตรู่ช่องวัน" ออกอากาศ 05.00-06.00 น. และ "ข่าวเช้าช่องวัน" ออกอากาศ 06.00 - 08.00 น. มี 2 คู่หูข่าว "จั๊ด และ เอก" เล่าและขยี้ข่าวจนโดนใจ พอแบ่งแบบนี้ ก็ส่งผลให้เรตติ้งช่วงหลังพุ่งขึ้นจนติดอันดับต้นๆของตาราง
.
.
จน "ยักษ์" อย่างช่อง 3 ที่โดนโยกเวลา "เรื่องเล่าเช้านี้" มาอยู่ 05.30 - 08.00 น. ต้องปรับตัวเพื่อขยับเรตติ้ง ด้วยการแบ่งเป็น "เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง" 05.30-06.00 น. และ "เรื่องเล่าเช้านี้" 06.00-08.00 น. ซึ่งวันแรกที่ออกอากาศ "เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง" ได้เรตติ้ง ประมาณ 0.3 กว่าๆ ส่วน "เรื่องเล่าเช้านี้" ได้ 0.9 กว่าๆ ซึ่งถ้าไม่แยกรายการแล้วนับเรตติ้งรวมกันแบบเก่า จะเหลือแค่ 0.7 กว่าๆ เท่านั้น
.
.
ส่วนช่องอื่นๆ ใช้รูปแบบ "ปรับฉาก - เปลี่ยนพิธีกร" คล้ายกับกรณีช่อง 7 ที่แบ่งรายการเป็น "เช้าข่าว 7 สี" - "เช้านี้ที่หมอชิต" และ "สนามข่าว 7 สี" ในรูปแบบรายการพี่น้อง มีความเชื่อมโยงกัน อย่าง Workpoint ที่แบ่งรายการเป็น "ตลาดข่าว" เวลา 05.00 - 06.00 น. และ "ข่าวไก่โห่" เวลา 06.00-09.00 น. ที่ในเวลาไม่นานถูกปรับมาเป็นชื่อ Workpoint News ที่มีการปรับผู้ประกาศบางท่าน และลีลาการเล่าที่ต่างกัน โดนช่วงเช้ามืด เล่าคล้ายฟังจากวิทยุ น้ำเสียงฟังชัด เน้นคนต่างจังหวัด ส่วนช่วงข่าวหลัก เน้นการลำดับเรื่องตอบโจทย์ คนกรุงและหัวเมือง
.
.
รวมถึง PPTV ที่ไม่ใช้เส้น "แบ่งเวลา" 6 โมงเช้าเหมือนเจ้าอื่น แต่ขอแบ่งเวลาเป็น 05.00-05.30 น. ด้วยรายการ "เช้าปลุกข่าว" ที่เน้นข่าวสีสัน ยืนเล่าข่าวแบบเฮฮา แล้วต่อด้วย "โชว์ข่าวเช้านี้" ที่นั่งโต๊ะเล่าแบบทางการขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เน้นข่าวหลัก ส่วน True 4U นั้นยังไม่ขยับรายการมาโซนก่อน 6 โมง แต่แบ่งรายการกันเอง คือประมาณ 06.00-07.00 น. เป็น "คุยเช้า" และ 07.00 - 09.00 น. เป็น "สมาร์ทนิวส์" ที่แยกโต๊ะผู้ประกาศ รวมถึงสไตล์ข่าวออกจากกัน
.
.
เห็นได้ชัดว่าการที่มีช่องทีวีมากขึ้น ส่งผลให้ "คนดู" มีตัวเลือกมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่แต่ละช่องต้องแข่งขัน ปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์แทบจะรายวันเพื่อพิชิตใจคนดูให้หยุด "รีโมท" ดูสิ่งที่ใช่ โดนใจพวกเค้า เพราะนาทีนี้ใครไม่ขยับเตรียมรับความ "ปราชัย" ได้เลย

ที่มา [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่