พระสูตรธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา (พระไตรปิฎก)


วันอาสาฬหบูชา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ พระองค์ทรงเป็นธรรมราชา บันลือสีหนาทยังพระธรรมจักรอันยิ่งใหญ่ให้หมุนไป คำว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรหรือบทธรรมแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรมนั่นเอง
ในกาลครานั้น ยังมีหมู่มนุษย์ฟังพระธรรมทั้งสิ้นจำนวน 5 คน หมู่ทวยเทพเทวดาทั้งหลายต่างแซ่ซ่องสรรเสริญคุณแห่งการแสดงปฐมเทศนาก้องกังวานไปถึงหมู่พรหม หมื่นโลกธาตุสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น แสงสว่างอันเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้นในโลกพร้อพุทธอุทาน “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

สิ่งปรากฏสำคัญในวันอาสาฬหบูชาประกอบด้วย
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือ คือท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งธรรม บรรลุความเป็นอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน เกิดอริยบุคคลท่านแรกในหมู่สงฆ์
๔. เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาบวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวก คือท่านโกษฑัญญะเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า
*****************************************************************************

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ


การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
            
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?
            
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
***
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขสมุทัยอริยสัจ (เหตุแห่งทุกข์) คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก  ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธอริยสัจ (ความดับทุกข์) คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือ ด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (วิธีปฏิบัติให้พ้นทุกข์) คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา(ดวงตาธรรม) ญาณ(ความรู้อันเกิดจากสมาธิ) ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ แลทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้ อันเราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ แลทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้น ควรละเสีย อันเราได้ละแล้ว
            
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้คือทุกขนิโรธอริยสัจ แลทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้น เป็นสิ่งอันควรกระทำให้แจ้ง อันเราทำให้แจ้งแล้ว.


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แลทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้เจริญ อันเราได้เจริญแล้ว.
***
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด เราจะยังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ *อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์            

อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.
            
ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.(ท่านได้บรรลุธรรมชั้นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำไม่เกิดในทุคติตลอดไปทั้งจะกลับมาเกิดเฉพาะในสุขคติภูมิอีก ๔-๑๖ ชาติเท่านั้น)



ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้
บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
            
เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
             เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป ถึงชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวดี
    
             ตลอดถึงเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ก็ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้”
          
ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้แล.
            
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.
            
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า
“ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ”

เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้. (ซึ่งแปลว่าโกณฑัญญะรู้แล้ว)

******************************จบพระสูตร***********************************
เชิงอรรถตามพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬา
องค์มรรคแต่ละข้อมีนัยพิสดาร ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ หมายถึงเห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
๒. สัมมาสังกัปปะ หมายถึงความนึกคิดในทางสละปลอดจากกาม ความนึกคิดปลอดจากพยาบาท และความนึกคิดปลอดจากการเบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา หมายถึงพูดคำสัตย์ พูดไม่ส่อเสียด พูดคำอ่อนหวาน พูดสิ่งมีสาระ
๔. สัมมากัมมันตะ หมายถึงไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ หมายถึงเว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาอาชีพ (อาชีพที่ไม่ผิดศีล)
๖. สัมมาวายามะ หมายถึงเพียรระวังไม่ให้ความชั่วหรืออกุศลเกิดขึ้น เพียรกำจัดความชั่วหรืออกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีหรือกุศลให้เกิด เพียรรักษาความดีหรือกุสลให้ยิ่งขึ้นไว้
๗. สัมมาสติ หมายถึงพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม หรือสติปัฏฐาน ๔
๘. สัมมาสมาธิ หมายถึงฌาน ๔

*ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง หรือ ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือความรู้แจ้งอันประกอบด้วย สัจจญาณ(รู้ตัวตนความเป็นจริงของสิ่งนั้น) กิจจญาณ (รู้หน้าที่การทำงานต่างๆของมัน) กตญาณ(รู้แจ้งในกิจว่าดับทำลายได้แล้ว) อันเกิดขึ้นเวียนไปในอริยสัจ ๔
๓ รอบ ๑๒ อาการคือ ญาณทัศนะ ๓ อันเกิดประจักษ์ในอริยสัจจ์ ๔ รวมเป็น ๑๒ รอบ ดังนี้
ความแจ้งในทุกข์ (๑) นี้ทุกข์ (๒) ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ (๓) ทุกข์นี้กำหนกรู้แล้ว
ความแจ้งในสมุทัย (๑) นี้สมุทัย (๒) สมุทัยนี้ควรละ (๓) สมุทัยนี้ละแล้ว
ความแจ้งในนิโรธ (๑) นี้นิโรธ (๒) นิโรธนี้ควรทำให้แจ้ง (๓) นิโรธนี้ทำให้แจ้งแล้ว
ความแจ้งในมรรค (๑) นี้มรรค (๒) มรรคนี้ควรทำให้เจริญ (๓) มรรคนี้ทำให้เจริญแล้ว
ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
*****************************************************************************
ขอเชิญอ่านพระสูตรบทเต็มได้ที่
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=04&A=355&Z=445

ขอขอบคุณภาพจาก https://pt.pngtree.com/freebackground/mid-autumn-festival_343764.html

ขออนุโมทนาสามารถเผยแผ่เป็นธรรมทานได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย

*****************************************************************************
ขออนุโมทนากับผู้ร่วมรวบรวมพระธรรมและตรวจทานคำผิดในการเผยแผ่ทุกท่าน
ขอให้ทั้งหลายเจริญในธรรม มีธรรมเป็นที่ไป มีธรรมดำเนินไป มีธรรมนำทางไป
บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงขอจงถึงแก่ ท่านอ.พันธุม คีริวัต คุณแม่เสาวลักษณ์ เที่ยงธรรม ตลอดถึงบิดามารดาครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ผู้ถูกเบียดเบียนของข้าพเจ้าและทุกท่านที่ศึกษาพระธรรมร่วมกัน ขอพวกเราทั้งหลายจงเจริญแต่กุศลปิดหนทางอบาย ได้เวียนว่ายเพียงในเฉพาะสุคติภูมิ ไม่พบเจอกับทุคติวินิบาตนรกอีกตลอดทุกภพทุกชาติตราบถึงวันแห่งพระนิพพานด้วยเทอญ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่