เคล็บ(ไม่)ลับ ... การขายนวนิยายในโลกออนไลน์



ช่วงนี้ผมมีโอกาสได้ไปอบรมการเขียนและไปฟังงานเสวนาทางวรรณกรรมมาหลายครั้ง  ผมจึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากนักเขียนคนอื่นที่ประสบความสำเร็จมาบันทึกเป็นองค์ความรู้เก็บไว้  โดยเฉพาะเรื่องการเขียนนวนิยายขายในออนไลน์ซึ่งกำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ ผมลองจดจำวิธีการของเขาที่ผมได้รับรู้มา  เอามาเขียนเรียบเรียงเพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ  โดยส่วนหนึ่งหวังว่าจะเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับนักเขียนออนไลน์หน้าใหม่ด้วย  เพื่อนๆ ลองอ่านกันดูนะครับ

++++++++++

@@> ก่อนอื่นนักเขียนควรจะต้องถามตัวเองก่อนว่า  งานของเราจะขายได้ไหม?  ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่างานของเราแต่ละเรื่องขายอะไร?  ขายเรื่องราวที่สนุกสนานหรือขายตัวตนของนักเขียน?

@@> มีคนมองว่า  การที่นักเขียนเอานวนิยายมาขายในโลกออนไลน์ (กรณีเป็นนักเขียนใหม่ที่สร้างผลงานใหม่) นั้น  เล่มแรกสุดที่ขายได้นั้นมันฟลุ๊ค  ถ้าของจริงต้องดูว่าเล่มต่อๆ ไปขายได้ด้วยหรือไม่?

@@> การขายนวนิยายในโลกออนไลน์  นักเขียนควรหมั่นตรวจสอบดูยอดขายของตัวเองด้วย  ว่าเรื่องแนวไหนขายได้ดี  เรื่องแนวไหนขายได้ไม่ดี  นอกจากนั้นยังควรดูคอมเม้นท์ของนักอ่านที่ให้ไว้ด้วย  เพราะความคิดเห็นจากคนอ่านจะเป็นข้อเสนอแนะที่ดีสำหรับเรา

@@> เราต้องหาจุดขายของตัวเองเองให้ได้  ถ้าในโลกออนไลน์  ในเว็บเด็กดี ในเว็บธัญวลัย ฯลฯ นิยายที่ติดอันดับขายดีอาจะเป็นแนวรักโรแมนติค  ต้องดูว่าเราสู้กับเขาได้ไหม?  เราเขียนเรื่องรักโรแมนติคได้ดีกว่าเขาไหม? ถ้าทำไม่ได้ต้องไปหาจุดอื่นดู  ลองเขียนในแนวที่ยังไม่ค่อยมีมากได้ไหม? หรือเขียนในแนวที่ต่างประเทศกำลังเป็นที่นิยมอยู่ได้ไหม?  ต้องคิดให้ออกว่าถ้าไม่ใช่แนวโรแมนติดเราจะเขียนแนวไหน? เราจะขายอะไร?

@@> เรื่องที่มีอยู่ในท้องตลาดไม่มากคือเรื่องตลก  ต้องดูว่าเราเขียนเรื่องตลกได้ไหม?

@@> ต้องลองจับจุดของนักเขียนที่ประสบความสำเร็จในการขายนวนิยายออนไลน์ ทั้งอีบุ๊กและขายออนไลน์ โดยดูว่าเขาทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ  หาจุดนั้นให้เจอแล้วลองเอามาสร้างเป็นไอเดียของตัวเอง

@@> ในกรณีขายเป็นอีบุ๊กคือเรื่องที่เขียนจบแล้ว  แต่ถ้าเรื่องยังเขียนไม่จบสารถขายได้ทางเว็บขายนิยายออนไลน์ เช่น Fictionlog , readAwritre , jamplay.world  ฯลฯ  

@@> สำหรับการขายนิยายออนไลน์ทีเรากำลังเขียนอยู่  ให้ลงขายทีละฉาก แต่ลงถี่ๆ ทุกวัน  ลงตามเวลาเดียวกันทุกวัน  จะช่วยให้ยอดวิวสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้

@@> อย่างในเว็บเด็กดี  คนจะอ่านนิยายหลังเลิกงานเป็นหลัก  ดังนั้นเราควรโพสขายเรื่องในช่วงเวลา 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม  หรือเราจะตัดบทนิยายให้สั้นๆ เพื่อลงขายในตอนเช้า ลงประมาณ 6 โมงเช้าถึง 8 โมงเช้า สำหรับคนที่กำลังเดินทางไปทำงาน  โดยการตัดแต่ละบทให้สั้นลงหรือให้โพสลงแค่ฉากเดียว ให้สั้นพอสำหรับอ่านได้สะดวกในสมาร์ทโฟน  เพื่อที่คนจะอ่านจบได้ในระหว่างที่ขึ้นรถไฟฟ้า  หรือนั่งอ่านบนรถเมล์ตอนไปทำงานได้

@@> พยายามมองหากลุ่มลูกค้าของเราให้เจอ  เช่นถ้าเราขายเรื่องสำหรับกลุ่มแม่บ้านเราต้องโพสตอนกลางวัน ระหว่าง 10 โมงเช้าถึงบ่ายสอง  , ถ้าขายคนทำงานโพสตอนเช้าที่คนกำลังไปทำงานหรือโพสตอนเย็นที่คนเลิกงาน , ถ้าขายให้วัยรุ่นอาจจะโพสตอนหัวค่ำถึงดึกได้ (สองทุ่มถึงเที่ยงคืน)

@@> เราต้องพยายามสร้างแฟนคลับใหม่ให้มากขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าเราขายในออนไลน์แล้วมีคนอ่านมาคอมเม้นท์แสดงความคิดเห็น  นักเขียนควรจะไปเขียนตอบคอมเม้นท์นั้นด้วยตัวเอง  จะสร้างความประทับใจให้แก่คนอ่าน  เขาจะได้ติดตามอ่านงานเราไปเรื่อยๆ

@@> พยายามสร้างกลุ่มเป้าหมายให้หลากหลายมากขึ้น  เราอาจจะเอาเรื่องที่เป็นอีบุ๊กของเราไปโพสขายให้เว็บบอร์ดที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ได้  ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มคนที่อยู่ในเว็บบอร์ดซื้อขายสินค้าเหล่านี้คือคนที่มีกำลังซื้อและยินดีที่จะซื้อของทางออนไลน์อยู่แล้ว

@@> ถ้าเราอยากจะเขียนอย่างเดียว  ให้เราจ้างทีมงานที่ทำหน้าที่โพสแปะลิงค์ในกลุ่มต่างๆ เพื่อทำการตลาดให้เราแทนก็ได้ ให้ลองจ้างคนที่ชอบเล่นโซเซียลเป็นประจำหรือพวกนักศึกษาที่ชอบเล่นเน็ต  โดยอาจจะจ้างเขาโพสเป็นรายเดือนเลย ตกลงล่วงหน้าเลยว่าเดือนหนึ่งจะให้เขาโพสกี่โพส  ให้เงินเขาเดือนละ 1,000 บาท หรือ 2,000 เลยก็ได้  เพราะถ้ามีการโพสขายเรื่องหรือโพสโฆษณาได้เยอะ  ก็มีโอกาสขายงานของเราได้เยอะตามไปด้วย

@@> เวลาที่โพสขายเรื่องหรือขายอีบุ๊กควรตั้งหัวข้อให้ชัดเจนว่าเราขายอะไร?  เราขายนวนิยายเรื่องไหน? เป็นเรื่องแนวไหน?  เรื่องเกี่ยวกับอะไร?  ต้องโพสหัวข้อให้ชัดเจนไปเลย

@@> การที่เราจะขายนิยายทางออนไลน์ เราจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์และโฆษณาด้วยวิธีการแปะลิงค์ให้คนเห็นเยอะๆ  คนจะได้คลิกเข้าไปดูเข้าไปลองอ่านบทตัวอย่างที่ลองให้อ่านฟรีก่อนได้  ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนคนอื่นก๊อปปี้เรื่องของเรา   เพราะว่าในโลกออนไลน์มีกลุ่มคนที่คอยจะประชาทัณฑ์คนที่ชอบขโมยของคนอื่น  ถ้าเรามีกลุ่มแฟนคลับที่หนาแน่น  บรรดาแฟนคลับเหล่านี้จะเป็นผู้ช่วยสอดส่องให้เราเอง

@@> ทุกวันนี้คนในวงการนักเขียนต้องช่วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนด้วยกันเอง สำนักพิมพ์เอง  บรรณาธิการเอง  หรือคนที่ทำหน้าที่ต่างๆ   เพราะว่าทุกวันนี้คู่แข่งจริงๆ ของพวกเราคือพวกมือถือต่างๆ

@@> การตั้งชื่อเรื่องต้องดี  คำแนะนำเรื่องและคำแนะนำเนื้อหาต้องชัดเจนด้วย  บางครั้งเวลาที่โพสแปะลิงค์อาจไม่ต้องนำเนื้อเรื่องมาให้อ่านเลยก็ได้  แต่ใช้วิธีโพสชื่อเรื่องหรือคำแนะนำเรื่องแทน  แล้วโพสท้าทายเลยว่า  “ลองคลิกไปอ่านดู ถ้าอ่านแล้วไม่สนุกให้มาเตะก้นได้เลย” แบบนี้จะดึงดูดความสนใจช่วยให้คนคลิกไปหาเรื่องเราได้

@@> ในการทำการตลาดในโลกออน์ไลน์  เราต้องทำพร้อมๆ กันทุกช่องทาง  ไม่ว่าจะเป็นทางเพจเฟสบุ๊ก  ทางไลน์ ทางทวิเตอร์  ทางเว็บไซต์ขายอีบุ๊ก  ทางเว็บไซด์ส่วนตัว ฯลฯ

@@> นักเขียนควรจะต้องมีบรรณาธิการของตัวเอง  เพราะอีบุ๊กส่วนใหญ่ที่ขายได้  คือเรื่องที่เคยจัดพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์มาก่อนแล้ว  เรื่องพวกนี้จะผ่านสายตาของบรรณาธิการแล้ว  ผ่านการตรวจสอบของสำนักพิมพ์แล้ว  ถือว่าผ่านการกลั่นกรองมาชั้นหนึ่งแล้ว

@@> เราต้องพยายามเกลาแก้ไขงานของเราก่อน  ถ้าไม่มีบรรณาธิการจริงๆ หรือเราเองยังไม่ได้เกลาแก้ไขเลย  ถ้าจะโพสขายไปก่อน  ให้ระบุบอกไว้ด้วยว่า  “เรื่องนี้ยังไม่ได้เกลานะครับ รีบเอามาลงให้อ่านกันก่อน”  แล้วหลังจากนั้นพอมีเวลาต้องกลับไปเกลาแก้ไขใหม่ด้วย

@@> บรรณาธิการของเราอาจจะเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ก็ได้  หรือจะเป็นเพื่อนนักเขียนด้วยกันก็ได้  เราต้องช่วยกันอ่าน  ช่วยกันดูงานซึ่งกันและกัน





@@> ในกรณีที่จัดทำเป็นอีบุ๊กขายแล้วมีการลงฟรีให้อ่านก่อน 5 บท  บทที่ 5 ต้องเป็นบทที่ทำให้นักอ่านอยากจะอ่านต่อมากที่สุด  ซึ่งบทที่ 5 นี้ต้องทำให้คนอ่านอยากติดตามต่อมากที่สุด  อีบุ๊กของเราจึงจะขายได้

@@>  อาจจะใช้เทคนิคการเขียนบทละครมาช่วยด้วยก็ได้  คือทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวละครเกิดการปะทะกันเร็วที่สุด  โดยตัดเอาบทที่เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นมาก่อนเลย  แล้วค่อยกลับไปเขียนเนื้อเรื่องต่อตามปกติ

@@> การขายเรื่องเป็นอีบุ๊กได้เงินมากกว่าที่คุณคิด  ต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับการเปลี่ยนแปลง  เอาเรื่องไปลองขายเป็นอีบุ๊กแล้วคุณจะรู้ว่าเรื่องของคุณขายได้  จากยอดขายเราจะได้สูงถึง 65 % เลย  จะโดนหักค่าดำเนินการไปประมาณ 35%   ซึ่งพอเห็นยอดขายแล้วความขี้เกียจเขียนของเราจะหายไปในทันทีเลย

@@> ไม่ต้องไปจงรักภักดีกับเว็บใดเว็บเดียวตลอดไป  เช่นไม่จำเป็นว่าต้องโพสที่เด็กดีที่เดียว  ให้โพสทุกที่ทุกเว็บเลย ให้คนได้เห็นพร้อมกันเยอะๆ  พอให้เขาอ่านฟรีก่อนแล้วจึงโพสแปะลิงค์ที่ขายอีบุ๊กของเราเลย  อย่างที่บอกเราต้องพยายามสร้างกลุ่มเป้าหมายของเราให้กว้างที่สุด   และให้หลากหลายที่สุดด้วย

@@> ปัจจุบันเฟสบุ๊กไม่ยอมให้เราโพสอะไรที่ซ้ำๆ กันแล้ว อย่างเช่นเราจะโพสเรื่องเดียวกันซ้ำๆ ทั้ง 5 ครั้งไม่ได้ เฟสบุ๊กมันจะบล็อกโพสของเรา  ต้องใช้วิธีให้คน 5 คนโพสแทนดีกว่า (แสดงว่าถ้าไม่มีเพื่อนถึง 5 คน เราก็ควรมี 5 เฟส ใช่ไหม?)

@@> ในกรณีที่เราโพสแล้วไม่เห็นมีคอมเม้นท์ใดตอบกลับมาเลย  ไม่มีใครเม้นท์หรือกดไลท์ให้เลย   ให้ลองโพสบอกว่า “มีของแจกให้ค่ะ  ใครอยากได้บ้าง?”  ลองโพสดูว่ายังมีคนตอบเราไหม?  ถ้าไม่มีเลยแสดงว่าโพสนี้อาจจะถูกเฟสบุ๊กบล็อกไปแล้วก็ได้  ทำให้คนอื่นไม่เห็นโพสของเรา

@@> งานที่ดีที่สุดของเราอาจะไม่ใช่งานที่ขายดีที่สุดก็ได้   แต่งานชิ้นใดก็ตามที่ทำการตลาดออนไลน์อย่างหลากหลาย  ซึ่งแม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่งานที่ดีที่สุดแต่มันอาจจะขายดีที่สุดก็ได้ (แต่ต้นฉบับทั้งหมดต้องดีด้วยนะ)

@@> จากที่เคยขายได้หลักหมื่น  ถ้ามีการทำการตลาดออนไลน์ที่ดีๆ อาจจะขายได้ถึงหลักแสนก็เป็นได้  มีนักเขียนหลายท่านที่ขายอีบุ๊กได้ถึง 300,000 บาทเลย  (โห ... ของผมขายยังไม่ได้เลยอ่ะ)

@@> นักเขียนต้องมีเทคนิคการขายออนไลน์ให้หลากหลายและพรั่งพราวที่สุด  ถ้านิยายของเราขายดีจนติดอันดับท็อปเท็นได้ ให้ปล่อยขายไปเรื่อยๆ สักประมาณ 6 เดือน  พอยอดขายเริ่มตกลง  ให้เราทำการรีเซ็ตเรื่องใหม่  ให้ลบเรื่องออกแล้วลงขายใหม่โดยบอกว่า “เป็นเรื่องในเวอร์ชั่นใหม่นะคะ ใช้เวอร์ชั่นของสำนักพิมพ์ค่ะ” (แถไว้ก่อน) มันจะทำให้เรื่องของเรากลับมาขายได้อีก คนที่ยังไม่เคยเห็นเรื่องของเราอาจจะซื้อเพิ่มขึ้นก็ได้

@@> นักเขียนต้องยืดเรื่องให้เป็น  เผื่อว่าจะมีคนขอซื้อเรื่องของเราไปทำเป็นละครได้ โดยต้องคำนึงถึงว่า  ถ้านิยายจะสนุกมันจะต้องมีตัวละครอะไรบ้าง?  ต้องมีพระเอกนางเอกที่เป็นตัวละครหลัก , ต้องมีพระรองและนางรองเอาไว้เป็นซับพล็อตไหม? ถ้าได้เพิ่มขึ้นอีกคู่จะดีไหม? , ต้องผูกเรื่องของพระรองกับนางรองกี่ปม(กี่ประเด็น)ดี? , ผู้ร้ายต้องมีสักกี่คนดี? มีผู้ร้ายเป็นกลุ่มเลยดีไหมจะได้กดดันพระเอกมากๆ , ต้องมีตำรวจมาคอยช่วยพระเอกไหม? , ตัวละครประกอบที่มีบทพูดต้องมีใครบ้าง? ต้องมีคนใช้ มีคนสวน มีคนขับรถไหม?  ตัวละครพ่อแม่พระเอกนางเอกต้องมีไหมเพื่อจะได้สร้างคุณค่าให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างความสมจริงให้แก่ตัวเรื่องของเรามากขึ้นด้วย ฯลฯ

@@> แต่จุดสำคัญก็คือ  เรื่องต้องสนุกไว้ก่อน  ถ้าเรื่องสนุกมากในเรื่องอาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้  เพราะฉะนั้นนักเขียนต้องมีวิธีการเล่าเรื่องให้สนุกด้วย

@@> เวลาที่นักเขียนมีโอกาสได้ไปอบรมหรือไปเรียนอะไรเพิ่มเติม  เราอย่าไปนั่งด้วยกัน  หมายถึงถ้าเรากับเพื่อนมาอบรมด้วยกันสองคน  เราก็ควรแยกกันนั่ง  จะได้เจอเพื่อนใหม่ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างคอนเน็คชั่นใหม่ๆ ด้วย เพราะว่าถ้าอยู่กับเพื่อนคนเดิมหรือกลุ่มเดิมก็จะได้เรื่องราวเดิมๆ  แต่ถ้าไปเจอเพื่อนใหม่เราจะได้ประสบการณ์อื่นที่หลากหลายมากกว่าเดิม

@@> อย่าลืมว่าความรู้อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา  เราต้องเดินออกไปหามัน ออกไปเก็บเกี่ยวมันมาให้ได้ นักเขียนต้องคุยกับคนอื่นด้วยไม่ใช่เก็บตัวอยู่คนเดียว  เพื่อนใหม่ที่เป็นกลุ่มนักเขียนด้วยกันจะคอยช่วยเหลือกันได้

++++++++++

ท้ายสุดนี้ผมคิดว่ารายละเอียดที่ผมเก็บบันทึกไว้นี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจบ้าง  น่าจะเอาไปใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อย  อาจจะมีผิดถูกอย่างไรก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน  เพราะในโลกวรรณกรรมคงไม่มีอะไรที่ผิดถูก 100% แน่ๆ   ที่สำคัญที่สุดในยุคออนไลน์นี้โลกมันปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ขอให้ทุกๆ ท่านสามารถขยับตัวก้าวตามทันการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายด้วยครับ

พาพันชอบ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่