ยึดกฎมัสต์แฮฟ-มัสต์แครี่ สร้างบรรทัดฐานเพื่อคนไทย


         ถึงแม้การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ปิดฉากลงไปแล้ว แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการถ่ายทอดการแข่งขันบนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาถกเถียงกันอีกในอนาคต และเร็วๆนี้ก็จะมีการแข่งขันกีฬารายการใหญ่อีกรายการ คือการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 18 ส.ค.ถึง 2 ก.ย.นี้ ที่กรุงจาการ์ตา และเมืองปาเลมบัง ประเทศอินโดนีเซีย

          คนไทยทุกคนจะได้ดูการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้แน่นอน เพราะมี ภาคเอกชนไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ มาเรียบร้อยแล้ว และตาม ประกาศ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์รายการ โทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ กฎมัสต์แฮฟ (Must Have) กำหนดรายการแข่งขันกีฬา7 ประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับชม ประกอบด้วย รายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิก พาราลิมปิก และ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

          ขณะเดียวกันผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์เกี่ยวกับกีฬา 7 ประเภทดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย และต้อง แจ้งเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ก่อนที่จะซื้อมาว่าประเทศไทยมีกฎระเบียบข้อบังคับอะไรบ้างที่อาจส่งผลต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว

          ที่สำคัญคือการให้ข้อมูลด้านกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม ประกาศกสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ กฎมัสต์แครี่ (Must Carry) ที่กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตกิจการทีวีทุกประเภทของ กสทช.ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิตอลที่ตอนนี้มีอยู่ 25 ช่องไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งกิจการทีวีที่เข้าข่ายได้แก่ ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และ ไอพีทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีวีแบบบอกรับสมาชิก ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง มีหน้าที่ต้องให้สมาชิกได้รับชมรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศเป็นการทั่วไปหรือฟรีทีวีได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถรับชมการเผยแพร่กีฬาที่สำคัญของโลกได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

          หากไม่มีประกาศ กสทช.ว่าด้วยกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ ที่กำหนดให้กีฬาระดับโลก 7 ประเภทต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี คนไทยคงต้องเสียเงินในการรับชมให้แก่ทีวีระบบบอกรับสมาชิกเหมือนกับอีกหลายประเทศ (การแข่งขันฟุตบอลโลกที่เพิ่งจบไปก็เกี่ยวข้องทั้งกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ และต้องขอบคุณรัฐบาลที่เรียกภาคเอกชน“7 ลูกเทพ” มาร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์ ทำให้คนไทยได้ดูฟรีครบทั้ง54 แมตช์)

          เหนืออื่นใดกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ไม่ได้ทำให้สิทธิของผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายการได้รับผลกระทบ เพียงแค่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามผู้ซื้อลิขสิทธิ์จะได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการโฆษณาสินค้าต่างๆ เนื่องจากกฎมัสต์แครี่ระบุชัดเจนให้มีการออกอากาศเป็นการทั่วไปทุกช่องทาง จึงทำให้มีช่องทางในการเผยแพร่ออกอากาศเพิ่มขึ้น ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ซื้อลิขสิทธิ์ เจ้าของสินค้าที่นำมาโฆษณา และประชาชนซึ่งมีช่องทางดูรายการได้มากขึ้น

          ถ้าไม่ยึดหลักการของกฎมัสต์แครี่ ก็จะเกิดปัญหา “จอดำ” และมีคดีฟ้องร้องกันไม่รู้จบทุกครั้งที่มีการซื้อลิขสิทธิ์รายการสำคัญ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน และปฏิบัติตามประกาศทั้ง 2 ฉบับ เพื่อคนไทยจะได้ชมกีฬาระดับโลกอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพราะทั้งลิขสิทธิ์ มัสต์แฮฟ มัสต์แครี่ ไม่มีใครได้ใครเสีย แต่เพื่อผลประโยชน์ของคนไทยทั่วประเทศ.
          ลมกรด

Cr https://www.thairath.co.th/content/1340655
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  กสทช. (NBTC) รายการกีฬา เอเชียนเกมส์ 2018
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่