JJNY : กรมควบคุมโรคเผยสังเวย 'พิษสุนัขบ้า' เพิ่มอีก 2 แค่ 7 เดือน ตายแล้ว14ราย

กระทู้คำถาม
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ว่า ยังมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงานว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 2 ราย โดยรายแรกเป็นชาย อายุ 19 ปี ใน จ.บุรีรัมย์ ก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขกัดบริเวณหน้าอกและหัวไหล่ด้านซ้าย เมื่อเดือนเมษายน หลังถูกกัดไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนรายที่สอง เป็นหญิง อายุ 55 ปี ใน จ.ระยอง โดยก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขจรจัดไม่มีประวัติฉีดวัคซีน กัดบริเวณแขนขวา ตั้งแต่เดือนมกราคม ผู้เสียชีวิตไม่ได้ล้างแผล ไม่ได้ไปพบแพทย์ และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตยังมีความเชื่อเรื่องการรักษาแบบพื้นบ้าน จึงไปหาหมอชาวบ้านเพื่อเป่าแผลที่ถูกกัดเท่านั้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เมื่อรวมกับ 2 ราย ล่าสุด ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 รวมเป็น 14 ราย (จ.บุรีรัมย์ และ จ.ระยอง จังหวัดละ 2 ราย, จ.สุรินทร์ จ.สงขลา จ.ตรัง จ.นครราชสีมา จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.พัทลุง จ.หนองคาย จ.ยโสธร จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มุกดาหาร จังหวัดละ 1 ราย)

จากรายงานการสอบสวนโรคของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความตระหนักถึงความรุนแรงของโรค เมื่อถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แล้วไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค เนื่องจากคิดว่าแผลเล็กน้อย หรือโดนกัด ข่วนนานแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปฉีดวัคซีน จนกระทั่งแสดงอาการ แต่ก็สายเกินแก้ไข เป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ คือประชาชนยังมีความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่ผิดๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ โรคพิษสุนัขบ้าไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดหรือข่วน แล้วใช้สมุนไพรพอกหรือใช้รองเท้าตบแผล ให้หมอชาวบ้านเป่าแผล หรือแม้แต่เข้าพิธีกรรมแล้วจะไม่ทำให้เสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น

“ขอแนะนำว่าหากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลักคาถา 5 ย. ได้แก่
1.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์
2.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน
3.อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้
4.อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน
5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย
ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า”


นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า นอกจากนี้ หากเคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนนานแล้ว แม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์ หรืออาจยาวนานถึง 1 ปี ได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่