[หนังโรงเรื่องที่ 234] When I Get Home My Wife Always Pretends to Be Dead by ตั๋วหนังมันแพง


[หนังโรงเรื่องที่ 234] When I Get Home My Wife Always Pretends to Be Dead : เครื่องมือเล่าเรื่องดี แต่ไปไม่ถึงฝัน
คะแนนความชอบ : B+ (จากสเกล D-A)

(Toshio Lee, 2018)
by ตั๋วหนังมันแพง

*ไม่มีมีการสปอยล์เนื้อเรื่องสำคัญ

เรื่องย่อ: หลังชีวิตแต่งงานที่ราบรื่นมาตลอดจนใกล้จะครบรอบสามปี อยู่ดีๆ ภรรยาผู้แสนดีอย่าง "จิเอะ" (นานะ อิกุระ) ก็เกิดคิดเล่นแผลงๆ "เล่นแกล้งตาย" ทุกวันที่สามีกลับมาบ้าน ซึ่งในแต่ละวันก็จะมีตีมและพร็อพที่แตกต่างกันและนับวันจะยิ่งล้ำขึ้นไปเรื่อยๆ

ลำบากถึงสามี "จุน" (เคน ยาซุดะ) ที่ต้องมาอกสั่นขวัญแขวนกับการเห็นศพภรรยาตัวเองทุกวันทุกคืน แถมจนแล้วจนเล่าก็ยังไม่รู้ว่าเธอทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร พวกเราคงต้องไปช่วยจุนหาคำตอบในหนังเรื่องนี้เอาเอง
.
.

📖 การดำเนินเรื่อง 📖

เป็นหนังอีกเรื่องที่มีเครื่องมือเล่าเรื่องที่ดีมากๆ "การเล่นแกล้งตาย" ของตัวละครเอกถือว่าเป็นความสดใหม่ที่เราไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน ดังนั้นพอในช่วงต้น-กลางหนังมันชงแกนเรื่องไปทางไหนมันก็ดูน่าสนใจไปหมด ... แต่เวทมนตร์ของความแปลกใหม่ย่อมมีวันเสื่อมคลายไป

หนังเอาช่วงท้ายของตัวเองไม่อยู่มากๆ ทั้งจุดที่ควรจะคลี่คลายปมการกระทำของนางเอกก็ไม่พูดให้ชัดเจน (หรือแทบจะไม่รู้เรื่องเลยมากกว่า) รวมไปถึงบางฉากบางช่วงที่ผมรู้สึกว่ามันยืดเยื้อเกินความจำเป็น (ช่วงฉากในโรงพยาบาลทำเอาหาวง่วงเลย) จึงเป็นอีกหนึ่งเคสของหนังที่ส่งตัวเอง "ไปไม่ถึงฝั่งฝัน" ไปอย่างน่าเสียดาย
.
.

📖 ความบันเทิง 📖

ถึงการเล่าเรื่องอาจไม่เข้าทีนัก แต่ในด้านความฮาก็ถือว่า "เจ๋งเอาเรื่อง" ซึ่งฉากฮาๆ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากความล้ำในการเล่นแกล้งตายของตัวภรรยา และโอเวอร์รีแอคชั่นของสามีที่มาแรงเป็นสีสันทั้งคู่ โดยเฉพาะในช่วงต้น-กลางเรื่องนี่เตรียมตัวฮากับความน่ารักของผัวเมียคู่นี้ได้เลย แล้วมันก็จะค่อยๆ แผ่วปลายไปกับตัวพล็อตของหนังในช่วงท้ายเรื่องนั่นแหละ

ปัญหาอย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดก็คือ "ซับแปลถ่ายทอดมุกไม่ได้" ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่ามีหลายฉากเลยที่ตัวละครพูดอะไรกันสักอย่างแล้วพวกเขาก็ขำกันเอิ้กอ้าก--แต่คนดูไม่ขำด้วย ใช่แล้วครับ มันคือมุกคำพ้องเสียง (Pun) ที่คนญี่ปุ่นกับคนอเมริกันชอบเล่นกันนั่นเอง ไอ้เราก็ฟังไม่ออกทุกคำหรอก แล้วถ้าซับแปลแล้วไม่รู้เรื่องแล้วเราจะพึ่งใครได้ล่ะคุณเอ๊ย

อย่างมุกหนึ่งที่นางเอกจะพูดอยู่บ่อยๆ ก็คือ "ภูเขาสามลูก" ซึ่งมันเป็นการเล่นคำที่ลงท้ายด้วยคำว่า -ka มันเลยเป็นความหมายทำนองว่า "ชีวิตคนเรามีภูเขาอุปสรรคสามลูก มีเขาลูกที่หนึ่ง มีเขาลูกที่สอง แล้วก็มีเขาลูกถัดไป" (Masaka หมายถึง "อะไรวะ ยังมีอีกเหรอ") เป็นการบ่งบอกว่าชีวิตคือการก้าวข้ามความยากลำบากทั้งหลายไม่สิ้นสุดนั่นเอง แต่คำแปลในหนังก็ดันข้ามจุดนี้ไปซะงั้น...
.
.

📖 ความพิเศษ 📖

ข้อความสำคัญที่หนังตั้งใจจะเล่าจริงๆ ก็คือ "การใช้ชีวิตคู่" ที่มีความพิเศษและความยากลำบากในแบบของมันเอง และเมื่อความรักในชีวิตแต่งงานล่วงเข้าไปหลายปีเข้า ความซู่ซ่าแปลกใหม่ก็เริ่มจางหายไป คนทั้งสองเริ่มสื่อสารกันน้อยลง จนทำให้เรื่องเล็กๆ ก็อาจสะสมจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตได้

ซึ่งผู้เขียนคิดว่าแทบทุกคนก็คงเคยประสบกับเหตุการณ์ทำนองนี้กันและสามารถเชื่อมโยงกับประเด็นของหนังได้ไม่ยาก การที่หนังมอบ sample คู่รักของรุ่นน้องที่ทำงานของพระเอกเข้ามาก็ถือว่าเป็นการนำเสนอีกรสชาติหนึ่งให้คนดูเอามาเปรียบเทียบกับความรักสุดพิสดารของคู่พระ-นางได้ดี

ขอแถมอีกเรื่องที่อยากชื่นชม คือหนังเรื่องนี้เล่นเฉดสีได้สวยสบายตามากกกกก ในแต่ละฉากจะดูออกเลยว่าเขาวางแผนเรื่องการเซ็ตสีมาอย่างดี

ยกตัวอย่างเช่นฉากร้านซักรีด นางเอกจะใส่กางเกงสีฟ้าไปร้านซักรีดเสมอ และหน้าร้านเองก็มีถังสีฟ้าวางอยู่ชัดเจน รวมไปถึงการตกแต่งภายในร้านก็ขับเน้นโทนสีฟ้าเบาๆ ออกมา ถือว่าเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าประทับใจครับ
.
.

อาจจะไม่พีคสุดเหมือนที่คาดไว้ แต่ When I Get Home My Wife Always Pretends to Be Dead (ชื่อยาวแท้) ก็เป็นหนังที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีพล็อตที่โดดเด่นจนยากจะมองข้ามได้ ถ้าระหว่างสัปดาห์นี้ยังไม่มีอะไรดูก็ถือว่าเป็นตัวเลือกหนังฆ่าเวลาที่ไม่เลวเหมือนกันครับ

#ตั๋วหนังมันแพง

ถูกใจรีวิวก็สามารถมาแสดงความคิดเห็นและกดไลค์ + แชร์ เพื่อสนับสนุนเพจได้ครับ: https://www.facebook.com/expensivemovie/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่