ทิพจักขุญาณ (ตาทิพย์) (The Divine Eye)

ทิพจักขุญาณ (ตาทิพย์) (The Divine Eye)


    ตาทิพย์ คือ ตาที่เห็นภายในจิตของเรา ตาที่รู้ภายในจิตของเรา สิ่งที่ทำให้เรารู้ได้ ที่เรามองเห็นสิ่งอื่นๆ เป็นไปตามมารยาแห่งธรรม ต้องเห็นข้างในตนเองเป็นไปตามภาวะแห่งธรรม สิ่งที่เห็นข้างในคือ เห็นตามพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง ทุกขัง ภาวะที่ไม่สามารถคงทนอยู่สภาพนั้นได้ อนัตตา มีตัวตน แต่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้


    ตัวสติสัมปชัญญะที่จะทำให้เรารู้ มี ๓ ระดับขั้นตอน ดังนี้


    ๑. จิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเห็นถึงอารมณ์ เห็นถึงการทำงานของภาวะจิตเรา


    ๒. จิตของเราทำงานด้วยแบบไหน คือ เมื่อรับอารมณ์เข้ามาแล้ว เราจะนำอารมณ์ไปผสมกับอะไร


        ๒.๑ อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตยึดเหนี่ยว เครื่องยึดเหนี่ยวของจิต ต้นตอของการรับสิ่งปรุงแต่ง มีทั้งอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี อารมณ์ที่ชอบใจ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ


        ๒.๒ คติ คือ ความคิด จะคิดถูกหรือคิดผิด เป็นสัมมาหรือมิจฉา สุดแล้วแต่


    อคติ คือ ความคิดที่ตนเองชอบ ต้องทำเหมือนกับตน ใครไม่ทำตามถือว่าผิด เกิดจิตใจคับแคบ จึงเกิดให้มีความลำเอียง ประกอบด้วย


            ๑) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
            ๒) โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
            ๓) โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง
            ๔) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว


        ๒.๓ สิ่งแวดล้อมจูงใจ คือ เหตุการณ์ทำให้เราเข้าใจไปเช่นนั้น เป็นไปตามเหตุการณ์นั้นๆ อันเนื่องจากเราไม่ได้คิดวิเคราะห์พิจารณาใช้โยนิโสมนสิการ จึงถูกสิ่งแวดล้อมหรือเหตุการณ์นั้นๆ ชักจูงนำพาเราไปตามภาวะแวดล้อม และบางครั้งสิ่งแวดล้อมดีก็จูงจิตให้เราไปในทางดี


    ๓. ส่งกลับด้วยอะไร คือ เมื่อเรารับข้อมูล จัดการกับข้อมูลที่เราได้รับแล้ว เราปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราจะส่งกลับด้วยปัญญาหรือว่าโทสะ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้หลักการ ๓ ข้อ สติสัมปชัญญะ สัมมาทิฏฐิ และอริยสัจ ๔ มาจัดการกับอารมณ์ อคติ และสิ่งแวดล้อมยังไง ถ้าเราเกิดคิดผิด ก็จะส่งสัญญาณกลับไปทางลบ ทางที่ไม่ดี ทางโทสะ แต่ถ้าเราคิดถูกต้องตามธรรม เราก็จะส่งสัญญาณกลับไปในทางดี ทางปัญญา เราเรียกว่า รับด้วยปัญญา ส่งด้วยปัญญา


    บางครั้งเราก็ประสบ อารมณ์ อคติ สิ่งแวดล้อม จูงไปทั้ง ๓ ข้อ แต่บางครั้งอาจเกิดแค่ ๒ ข้อ คือ อารมณ์ กับสิ่งแวดล้อม บางครั้งก็มี อย่างใดอย่างหนึ่ง


    ฉะนั้น เรารับข้อมูลสิ่งใดมา ต้องรับด้วยปัญญา อย่ารับด้วยอารมณ์แห่งโทสะ เพราะจะเกิดปัญหาตามมา


    สติสัมปชัญญะจะมารับรู้อารมณ์ ถ้าเราใส่อคติในทางลบ ผสมกับสิ่งแวดล้อมลงไปก็จะเกิดส่งผลให้สิ่งนั้นแรงขึ้นมากๆ ก็จะเกิดความไม่พอใจ


    บางครั้งเขาส่งอารมณ์แห่งโทสะมา แต่ถ้าเรารับด้วยปัญญา เราก็จะส่งข้อมูลกลับไปด้วยปัญญา จึงจะสันติสุข ทั้งสองฝ่าย


อ.พรหมสิทธิ์  ทิพย์ธาดาวงศ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  มหาสติปัฏฐาน 4 ศาสนา วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่