ล้วงลึก!!! เบื้องหลังพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว



สวัสดีครับเพื่อนๆ ช่วงกลางปีนี้หลายๆ ห้างสรรพสินค้าก็ได้จัดงาน Mid-year Sales กันอยู่จนอาจทำให้หลายๆ ท่านมือไม้คงอยู่ไม่เป็นสุขกันเลยทีเดียวเพราะอยากที่จะช็อปปิ้งในช่วง Sales กระหน่ำให้เต็มที่กันไปเลย แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหน เราคงต้องเบรกการใช้จ่ายกันไว้ก่อนที่เงินจะบินหนีไปนะครับ ดังนั้น วันนี้ K-Expert จะมาแนะนำวิธีป้องกันพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวกันครับ

ทำไมถึงเกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว ???

1. ใช้จ่ายตามอารมณ์ เคยไหมครับที่อารมณ์เข้าครอบงำอย่างเฉียบพลัน รู้ตัวอีกทีเงินแสนรักของเราก็ลอยจากไปเรียบร้อยแล้ว เช่น การที่จ่ายค่าเลี้ยงฉลองปาร์ตี้แสนสนุกกับเพื่อนๆ มากเกินไป หรือ ก่อหนี้บัตรเครดิตจากการซื้อของหรู ๆ ฟุ่มเฟือยเพราะเห็นเจ้านายใช้ก็เลยอยากจะมีบ้าง ดังนั้น การตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เหนือเหตุผล หากเทียบกลับมาแล้วการใช้จ่ายแบบนี้อาจไม่คุ้มกัน เพราะดอกเบี้ยบัตรได้กลับกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายในอนาคตไปแล้ว

2. ของแพงมักได้รับความนิยมมากกว่าแม้คุณภาพเท่ากัน แปลกไหมครับของก็อันเดียวกัน คุณภาพก็เหมือนกันอีก แต่ เรามักมองว่าของแพงกว่าน่าจะดีมีคุณภาพมากกว่าแน่ ๆ เลย อันนี้มีเหตุผลรองรับอยู่นั้นคือเมื่อสินค้าราคายิ่งแพง สมองเราในส่วนที่มีการใช้เหตุและผล จะถูกบิดเบือนความเป็นจริงไป ทำให้การตัดสินใจมักจะเอนเอียงไปทางสินค้าที่แพงกว่าเพราะคิดว่าต้องดีกว่าแน่ๆ จึงเห็นได้ชัดเลยว่า ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้บวกกับการที่ต้องรีบตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็วแล้ว สุดท้ายอาจจะทำให้ได้หิ้วของแพงเต็มมือกลับมาครับ

3. ป้ายลดราคา ถึงแม้ไม่ได้ลดมาก ก็กระตุ้นการใช้จ่ายได้ โดย“ป้ายลดราคา” ชนิดต่างๆ เหล่านี้เองครับ ที่กระตุ้นเราให้จับจ่ายมากเกินตัว เนื่องมาจากว่า ป้ายสวยงามเหล่านี้ ช่วยให้สมองเราคลายความวิตกกังวลเรื่องราคา โดยจะหลอกเราว่า “สินค้าเหล่านี้ราคาถูก ไม่ต้องกังวลนะ” เราจึงตัดสินใจซื้อมากขึ้นอีก เท่านั้นยังไม่พอ ป้ายเหล่านี้ยังช่วย ”กดความรู้สึกไม่พอใจในคุณภาพสินค้า” อีกด้วย ทำให้เราสบายใจมากขึ้นที่จะซื้อ


***วิธีแก้แบบง่ายๆ คือ สร้างรูปแบบใหม่ในการใช้จ่ายเงิน โดยวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันเงินไหลออกไปนั้นคือ เพื่อนๆ ต้องกำหนดการใช้จ่ายของตัวเองครับ โดยวิธีง่ายๆ ที่สามารถเป็นตัวช่วยได้มีดังต่อไปนี้***

อมยิ้ม03อมยิ้ม03อมยิ้ม03


1. แยกแยะสิ่งที่ “จำเป็น” และ สิ่งที่เป็น “ความต้องการ”
ทุกครั้งที่จับจ่ายใช้สอยอาจต้องพยายามจำแนกให้ได้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ ”จำเป็น” หรือ เป็นสิ่งที่เกิดจาก “ความต้องการ” ออกจากกัน โดยของที่มีความจำเป็น ก็คือ สิ่งที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันครับ เช่น อาหาร ยารักษาโรค ค่าเดินทาง เป็นต้น ส่วนสิ่งของที่เกิดจาก ”ความต้องการ” ก็คือ สิ่งที่เราต้องการเพราะความชื่นชอบ ความปรารถนา ความพึงพอใจของตัวเอง เช่น อยากได้กระเป๋าหรูๆ แพงๆ มากกว่ากระเป๋าที่ราคาสมเหตุสมผล ดังนั้น ถ้าสามารถแยกสองสิ่งนี้ได้ก็จะช่วยให้ง่ายขึ้นในการตัดสินใจว่าควรจะซื้อหรือไม่ซื้อดีครับ

2. เบรก!!! ชะลอความต้องการด้วยการจัดอันดับความสำคัญ
อยากได้ทุกอย่างพร้อมๆ กันภายในทีเดียวย่อมเกิดขึ้นได้ แต่การซื้อพร้อมกันก็อาจจะทำให้ เงินแสนรักของเราลอยบินไปหมดได้เช่นกัน ดังนั้น K-Expert แนะนำให้ “เบรก” ทุกครั้งก่อนซื้อ หากยังไม่ได้เรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งการเขียนเรียงลำดับความสำคัญจาก “มากไปน้อย” จะทำให้เราเห็นว่าของบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้  สุขสบายใจ ไม่เป็นหนี้ และยังมีสภาพคล่องคงเหลือเก็บไว้ด้วยครับ  

3. เขียนบันทึกการใช้จ่ายแบบใหม่
แนะนำให้จดบันทึกว่าหลังจากที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายใหม่แล้ว ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร  เพื่อให้เราเห็นว่าทางเลือกใหม่อันแสนฉลาดเฉลียวของเราสามารถประหยัดเงินไปได้เท่าไหร่ และรู้สึกอย่างไรในทุกๆ ครั้งที่ทำ ทำให้เราสามารถเกาะติดแผนการลดค่าใช้จ่ายนี้ได้ง่ายขึ้น และสนุกไปกับการควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยครับ



อย่าลืมนะครับว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” โดย K-Expert หวังว่าการเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นก่อนการจับจ่ายใช้สอย จะช่วยให้มีเงินเก็บมากขึ้นและยังสามารถเอาไปลงทุนเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย ยังไงก็ตาม หากเพื่อนๆ มีวิธีใหม่ๆ ในการป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว สามารถแบ่งปันกันได้เลยนะครับ
เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่