On The Main Stand The Class of ‘18 : เจาะเบื้องหลังการสร้าง "ฉลามเลือดใหม่"

จริงๆแล้วบทความนี้เพิ่งเผยแพร่ออกมาแค่ไม่กี่วัน ผ่านทางเฟสบุ๊ค ของทางเพจชลบุรี เอฟซีครับ
อย่างที่แฟนไทยลีกอย่างเรารู้ๆกันแล้วว่า ชลบุรีคือทีมที่เคยคว้าแชมป์ไทยลีกได้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 11 ปีที่แล้ว
แต่อนิจจา อดีตมันก็คืออดีต ชลบุรีก็ไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ความสำเร็จแบบนั้นอีกเลย
พวกเขากลายเป็นทีมกลางตารางอย่างสมบูรณ์
พวกเขาไม่ใช่ทีมยักษ์ใหญ่ในไทยลีกอีกต่อไป
พวกเขาไม่ใช่ทีมที่มีเงินถุงเงินถังมากพอ ที่จะไปเทียบกับทีมใหญ่ๆอย่าง บุรีรัมย์ เมืองทอง แบงค็อก ท่าเรือ หรือเชียงราย
แต่อะไร ที่แฟนชลบุรียังคงศรัทธาต่อทีม ยังพอมองเห็นความหวังในอนาคตของทีม
ว่าจะกลับทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง แบบเดียวที่พวกเขาเคยสร้างปรากฎการณ์ ให้แฟนบอลไทยได้ตื่นตะลึงมาครั้งหนึ่งแล้ว
บทความนี้จาก Main Stand น่าจะพอบอกเราได้บ้างครับ



ท่ามกลางเกลียวคลื่นยักษ์การตกชั้น 5 สโมสรในฤดูกาลนี้… ชลบุรี เอฟซี กลับหาญกล้าที่จะส่ง “ฉลามสายเลือดใหม่” ออกจากฝั่งไปท้าชนทุกทีม เด็กสร้างรุ่นแรกของสโมสรเหล่านี้มีดีอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่


“For Wenger. If you’re good, you’re old enough”  เอคตอร์ เบเยริน แบ็กซ้ายของอาร์เซนอล กล่าวประโยคนี้ที่สะท้อนถึงแนวทางการทำทีมของบรมกุนซือ อาร์แซน เวงเกอร์  

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้ เวงเกอร์ จะไม่สามารถนำถ้วยรางวัลความสำเร็จ มาประดับสโมสร อาร์เซนอล ได้มากมายเฉกเช่นอดีต แต่หากดูไทม์ไลน์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ความพยายามในใช้งานผู้เล่นเยาวชนนั้น มีค่านับอนันต์ต่อ บรรดาลูกศิษย์ ในเวลาต่อมา
ผู้เล่นหลายคนมีอาชีพการค้าแข้งที่ดี ก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นระดับโลก บางคนเปลี่ยนชีวิตจากนักฟุตบอลธรรมดา กลายเป็น นักเตะที่มีชื่อเสียง จากโอกาสที่ได้รับจาก เวงเกอร์…

ถ้าคุณมีเงิน คุณสามารถทุ่มเงินสร้างศูนย์ฝึกอคาเดมีใหญ่โตได้, ถ้าคุณมีเงิน คุณสามารถใช้เงินซื้อผู้เล่นดาวรุ่งฝีเท้าดีจากสโมสรอื่นได้

แต่ต่อให้คุณมีเงิน คุณก็ไม่สามารถใช้เงินซื้อ “ประสบการณ์” ให้กับเด็กดาวรุ่งได้ หากปราศจากความเชื่อใจ ดังนั้นเมื่อมองในแง่การพัฒนาบุคลากร สิ่งที่ เวงเกอร์ ทำมีค่ามากกว่าเงินทอง หรือโทรฟี่แชมป์เสียอีก

“ฉลามชล” ชลบุรี เอฟซี อดีตแชมป์ไทยลีกเมื่อทศวรรษที่แล้ว อาจไม่เหลือร่องรอยของ มหาอำนาจลูกหนังเมืองไทย ในปัจจุบันมากนัก




พวกเขาร้างจากความสำเร็จมานานหลายปี ด้วยขีดกำจัดในเรื่องงบประมาณการทำทีม จึงปรับเปลี่ยนแนวทางมาเน้นสร้างฟุตบอลด้วยความยั่งยืน ใช้จ่ายตามกำลังที่หามาได้  นั่นจึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ระหว่าง ฉลามชล กับบรรดาทีมยักษ์ใหญ่เงินทุนสูง

แต่ในแง่ของความเป็น “สโมสรฟุตบอล” พวกเขาไม่เคยหยุดที่จะทำหน้าที่นั้น โดยเฉพาะการสร้างคน

ชลบุรี เอฟซี เริ่มทำอคาเดมีสโมสรของตัวเอง ในช่วงเวลาที่ไม่มีใครมองเห็นความสำคัญของการผลิตนักเตะตัวน้อย ขึ้นมาเป็นผู้เล่นอาชีพ ผ่านเสียงวิจารณ์ คำดูถูก และมองว่าเป็นความฝันอันเลื่อนลอยของชายแก่อย่าง วิทยา เลาหกุล ที่คิดจะใช้เด็กๆ เหล่านี้มาเป็น ตัวหลักของสโมสรในอนาคต



กระทั่งฤดูกาล 2018 ผลจากความอดทนในการเจียระไนเพชรอย่างปราณีต ของสโมสรชลบุรี เอฟซี ก็เริ่มผลิดอกออกผล ผู้เล่นดาวรุ่ง 4-5 รายในอคาเดมีสโมสรรุ่นแรก สามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นตัวหลัก ลงสนามช่วยทีมลงแข่งขันในโตโยต้า ไทยลีก ซีซั่นหฤโหด ที่จะมี 5 สโมสรตกชั้น และเพิ่งเอาชนะ เมืองทองฯ ในฟุตบอลถ้วยมาหมาดๆ

Main Stand จะมาเจาะเบื้องหลังการสร้าง The Class of ‘08 ของ ชลบุรี เอฟซี...ตั้งแต่จุดเริ่มต้นแรก จนถึงขวบปีแห่งการเปลี่ยนในซีซั่นนี้


บ้านบึงแหล่งเจียระไนเพชร
“จุดเริ่มต้น มันเกิดขึ้นหลังจากที่ผมโดนรถชน” วิทยา เลาหกุล ประธานพัฒนาเทคนิค ชลบุรี เอฟซี กล่าวเริ่มกับ Main Stand



“ความจริงผมก็คุ้นเคยกับ ชลบุรี มานาน ถ้ามีเวลาว่างก็จะมาสอนฟุตบอลให้พวกเด็กๆ หรือสอนความรู้ให้โค้ชตลอด ตั้งแต่สมัยพวก เจ้าเหมี่ยว (ณัฐพงษ์ สมณะ) คาร์ (เกียรติประวุฒิ สายแวว) บัว (เจษฏากร เหมแดง) ยังเรียนอยู่ อัสสัมชัญศรีราชา, จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ฯ อยู่เลย แต่ตอนนั้นผมอยู่ที่ ญี่ปุ่น ก็จะมีเวลามาสอนแค่ปีละ 1 เดือน บางทีกลับมาอีกครั้ง เด็กขาดความต่อเนื่อง เพราะเราไม่ได้เห็นพัฒนาการทุกวัน”

“แต่พอผมมาคุมทีมชุดใหญ่ ชลบุรี เอฟซี ผมก็รู้ทันทีว่าการที่ ชลบุรี เป็นได้แค่ รองแชมป์ เพราะผู้เล่นเรามีคุณภาพในทีมไม่เพียงพอ ไม่ได้เล่นตามแนวทางสโมสร ทำให้ผมตัดสินใจบอก ณพ (อรรณพ สิงห์โตทอง) ว่า ถ้าอยากให้ผมอยู่ ชลบุรี ต่อ ต้องสร้างอคาเดมีของตัวเองขึ้นมา”



แล้วผมจะทุ่มเวลาทั้งหมดสอน ไปเด็กๆพวกนี้เอง ณพ เขาก็เห็นดีด้วยนะ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมไม่ไปไหนทั้งนั้น แม้จะมีทีมอื่น หรือในญี่ปุ่น ติตต่อมา เพราะผมจะรอวันที่ได้เห็น เด็กพวกนี้เล่นไทยลีก”

ชลบุรี เอฟซี มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ ในเรื่องการกล้าใช้งานผู้เล่นเยาวชน มาอย่างช้านาน ผู้เล่นกว่า 80 เปอร์เซนต์ ทีมชุดแชมป์ไทยลีก 2007 คือเด็กปั้นของพวกเขา เพียงแต่ในอดีตรูปแบบเด็กฝึกหัด ฉลามชล ยังใช้โมเดลคล้ายๆกับทีมทั่วไป ที่นำเยาวชน ไปฝากเลี้ยงกับโรงเรียนต่างๆ ภายในจังหวัด

ก่อนที่ ฉลามชล จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเยาวชนครั้งใหญ่ ด้วยการตัดสินใจสร้างอคาเดมีฟุตบอลของสโมสรอย่างแท้จริง ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปี 2009 ถึง 2010

โดยใช้พื้นที่ในอำเภอบ้านบึง ที่อยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัด ซึ่งเคยปล่อยให้ JMG Academy เช่าใช้งานมาดัดแปลง ต่อเติม และพัฒนาให้กลายเป็น “บ้าน” และที่ฝึกฟุตบอลของเด็กๆ

จากนั้น ชลบุรี เอฟซี ก็เริ่มตามหาช้างเผือกตัวจิ๋วเข้ามาขัดเกลาฝีเท้า ทั้งการสเกาท์ดูฟอร์มแข้งอายุน้อยจากทัวร์นาเมนต์ รวมถึงการเปิดโอกาสในนักเตะที่สนใจ มาทดสอบฝีเท้ากับอคาเดมีได้ โดยมี วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ เป็นหนึ่งในดาวเด่นรุ่นแรกของอคาเดมีฉลามชล ที่แฟนบอลรู้จักกันมานาน

อคาเดมีของชลบุรีฯ กลายเป็นรู้จักของผู้คนแวดวงฟุตบอลทั่วไป ทั้งในไทย รวมถึงต่างแดน ซึ่งสโมสรได้วางโปรแกรมการฝึก แบ่งตามช่วงอายุ และตำแหน่ง เป็นแผนรายปี ภายใต้ปรัชญาต้องเล่นฟุตบอลที่รวดเร็ว และดุดัน นอกจากนี้ยังผลักดันทีมไปแข่งขันตามต่างประเทศเสมอ “หากนับเฉพาะเจ้ายิม เชื่อไหมว่า เขาผ่านเกมระดับนานาชาติมาแล้ว 120 นัด” เฮงซัง กล่าว



กว่าจะเป็นเพชร
มูลค่านักฟุตบอลในปัจจุบัน อาจเปรียบได้ดั่งเพชร ยิ่งนักฟุตบอลที่มีพรสรรค์ ก็ไม่ต่างอะไรกับ เพชรน้ำหนึ่ง ที่หลายๆสโมสรย่อมหมายปอง และต้องจ่ายในราคาแพงหากอยากได้มาครอบครอง

การซื้อ “เพชร” มาประดับทีมนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินกำลังความสามารถด้านการเงิน ของเหล่าทีมฟุตบอลที่มีงบประมาณสูง แต่การเจียระไน เพชร สักเม็ดหนึ่งขึ้นมานั้น ต้องใช้ทั้งความเพียร พยายาม และบางทีอาจสูญเปล่าเป็นได้แค่ หินก้อนหนึ่ง ที่หมดราคาไป

“เรารับเด็กเข้าอคาเดมี ตั้งแต่อายุ 10 ขึ้นไป รู้ไหมว่า ช่วงวัยที่ยากสุดในการทำอคาเดมี คือตอนเด็กอายุ 13-15 ปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กกำลังเติบโต กระดูกยืด ถ้าได้รับการฝึกผิดวิธี หรือการดูแลเอาใจใส่ไม่ดี เด็กคนนั้นอาจเสียของไปเลย” เฮงซัง กล่าวเริ่ม

“นั้นคือปัญหาของเด็กยุคก่อน แต่สมัยนี้มันไม่ได้มีแค่เรื่องกระดูกยืดอย่างเดียว มันยังมีเรื่องการหนีเที่ยว, บุหรี่, ผู้หญิง, การเล่นโซเซียล ที่ทำให้เด็กเสียคนมาเยอะแล้ว ถ้าเราไม่สนใจ ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษา หรือเข้าไปพูดคุยกับเขาได้ เขาก็อาจจะหลงทางไป”

วิทยา เลาหกุล ที่เด็กๆเรียกว่า “อาจารย์” จึงเปรียบเสมือนพ่อที่ต้องปกครอง ดูแล และฝึกสอนเด็กกว่า 100 ชีวิตในทุกๆวัน

ผู้เล่นดาวรุ่งชุดใหญ่ ที่มาจากอคาเดมีชลบุรี เอฟซี รุ่นเกิด พ.ศ. 2540-2542  อาทิ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, กฤษดา กาแมน, สหรัฐ สนธิสวัสดิ์, ณัฐวุฒิ ชูติวัตร, สิทธิโชค ภาโส, เสฏฐ์วุฒิ วงศ์สาย, ภานุเดช ใหม่วงค์ ล้วนแต่ผ่านมาเขี่ยวกรำอย่างหนักหน่วงจาก อาจารย์ท่านนี้ มาตั้งแต่วัยเยาว์



แม้ระหว่างทางพวกเขาอาจต้องเสียเพื่อนร่วมรุ่น ที่เห็นหน้ากันทุกวัน และเตะฟุตบอลมาด้วยกัน จากปัญหาด้านวินัย ความประพฤติ หรือศักยภาพที่ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ อคาเดมีฟุตบอล ไม่อาจเลี่ยงได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่การลงทุนกับนักฟุตบอลเยาวชนบางส่วนจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย

“ผมว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับอคาเดมี่ทั่วโลกแหละ ที่ต้องยอมรับว่า เมื่อถึงปลายทางตอนอายุ 18 ปี นักฟุตบอลที่ฝึกมา จะหายไปไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซนต์ กว่านักฟุตบอลเยาวชนจะผ่านแต่ละปีได้ จนขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่สมบูรณ์แบบในทีมชุดใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้ความอดทนสูงมาก”

“ซึ่งเรามีกฏ กติกา ภายในอคาเดมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องสอนให้เขารู้จักคิดว่าอะไรผิด อะไรถูก เน้นย้ำเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงของพวกเขาอยู่ไหน อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพไหม? แล้วต้องทำอย่างไรให้ไปถึงตรงนั้น? เพราะถ้าชีวิตไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแรงจูงใจ บอกตรงๆนะครับ เสียเวลา ฉะนั้นเราจะสอนฟุตบอลให้เขาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสอนใช้การใช้ชีวิตพวกเขาด้วย มีตัวอย่างเยอะแยะที่เราหยิบมาสอนได้” วิทยา เลาหกุล เผยให้เห็นว่าการปั้นนักเตะสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย


เย็นให้พอ รอให้ได้

หลังจบซีซั่น 2014 ด้วยตำแหน่งรองแชมป์ โตโยต้า ไทยลีก ควบ รองแชมป์ถ้วย เอฟเอ คัพ และอันดับ 4 ไทยลีก ในฤดูกาล 2015 ชลบุรี เอฟซี ก็เริ่มเดินหน้าเข้าสู่ความท้าทายครั้งใหญ่ ในการผลัดใบขุมกำลังสู่ยุคต่อไป ที่มีนักเตะจากอคาเดมีรุ่นแรกเป็นความหวังใหม่

ผู้เล่นซีเนียร์อย่าง สินทวีชัย หทัยรัตนกุล, อดุล หละโสะ, นูรูล ศรียานเก็ม, ติอาโก คุนญา, แอนเดอร์สัน ดอส ซานโตส รวมถึง ปกเกล้า อนันต์ ที่ย้ายมาจากเพื่อนตำรวจ ถูกขายออกจากทีมไป ท่ามกลางคำถามมากมายถึงแนวทางที่เปลี่ยนไปของ สโมสรฟุตบอลเมืองน้ำเค็ม

แต่พวกเขาใจเย็นมากพอ ที่จะอดทนรอเวลาบ่มเพาะให้ เด็กกลุ่มนี้ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ ด้วยการใส่ชื่ออยู่ในทีมชุดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2016 แม้เกือบทั้งหมด จะไม่มีใครยึดตัวหลักได้เลย แต่หากไล่เรียงดูจาก คอนเซปท์สโมสร ตลอด 3 ฤดูกาลหลังสุด ก็จะพบว่าเป้าหมายพวกเขาชัดเจนมาตั้งแต่ต้น

Reboot ในปี 2016 ที่หมายถึง การยกเครื่องใหม่ของสโมสร ด้วยการนำผู้เล่นจากอคาเดมีรุ่นแรก ขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่จำนวนหนึ่ง, The Next! ในฤดูกาล 2017 ที่เปรียบเสมือน การโปรโมตเจเนอเรชั่นใหม่อย่างเต็มตัว โดยในซีซั่นดังกล่าว ถือเป็นปีแรกด้วยที่มีการส่ง ทีม B เข้าร่วมการแข่งขันไทยลีก 4 ทำให้ ชลบุรีฯ ลงทะเบียนนักเตะดาวรุ่งจากอคาเดมี รุ่นอายุ 16-18 ปี กว่า 20 ชีวิต  
ภายใต้การคุมทีมของ เทิดศักดิ์ ใจมั่น อดีตผู้เล่นระดับตำนานของไทย ที่ใช้ประสบการณ์นำมาถ่ายทอด ให้เด็กๆ ได้ซึบซับเรียนรู้การเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ดี ในช่วงเวลา 2 ฤดูกาลแรก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่