สงสัยเหตุการณ์ในสมัยสงครามพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อยากทราบสาเหตุที่ทำให้ทัพหลวงหงสาวดีต้องยกทัพหนีกลับไปครับ.

คืออยากจะรู้จริงๆ เพราะมันมีหลายพงศาวดารมาก ทั้งปิ่นโต, วัน-วลิต, รวมทั้งพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ, และพงศาวดารพม่าร่วมสมัยเดียวกันนั้นเอง

โดยพงศาวดารดังกล่าว ได้ระบุถึงวีรกรรมของ "องค์อัครมเหสี" ใน "พระบาทสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช" (พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 16 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ แห่งกรุงศรีอยุธยา)

ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงพงศาวดารฉบับเดียวเท่านั้น ที่ได้ระบุไว้ ถึงพระนามขององค์อัครมเหสีนั้น ว่า สมเด็จพระศรีสุริโยไท

และผมเอง ก็สงสัยมาหลายรอบแล้วว่า

1. หลังจากที่พระเจ้าแปรได้ฟันพระแสงของ้าวเข้าที่สมเด็จพระสุริโยไท จนพระอังสะขาดสะพายแล่งถึงสิ้นพระชนม์บนคอช้างแล้วนั้น "พระเจ้าแปรและทัพหงสาวดีได้ทราบหรือไม่ว่าพระสุริโยทัยแท้จริงแล้วเป็นหญิงที่ปลอมตัวมาเป็นชาย?"

2. อีกประเด็นหนึ่งที่สงสัย ก็คือ แท้จริงนั้น "ที่พม่าต้องถอยร่นทับกับไปนั้นเล่า... เพราะสาเหตุสืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าแปรสังหารสมเด็จพระสุริโยไทหรือเปล่า? และทำไมถึงต้องหนีกลับในเมื่อการศึกสงครามก็ต้องมีสละชีพกันอยู่แล้ว?"

สุดท้ายเลยก็ คือสรุปคำถามของกระทู้...
ว่า....
"แท้ที่จริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้ทัพหงสาวดีต้องถอยร่นทัพกลับไปในสมัยสงครามพระเจ้าตะเบงชะเวตี้นั้น เป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่?

'ระหว่างสาเหตุที่ พระเจ้าแปรได้สังหารพระสุริโยไทจนทำให้ทัพพม่าอับอายขายขี้หน้าที่สังหารผู้หญิง?
หรือเป็นเพราะการขาดเสบียงกันแน่?'

เพราะในแต่ละพงศาวดารก็ตีความแตกต่างกันออกไป บางงานวิจัยยังมีข้อโต้แย้งว่า แท้ที่จริงแล้วพระสุริโยไทนั้น ไม่ได้ออกไปรบด้วย!
มีแต่พระบรมดิลกเท่านั้น ที่สิ้นพระชนม์ในศึกสงครามครั้งนั้น!

แต่สำหรับผม ผมเลือกที่จะเชื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่า สมเด็จพระศรีสุริโยไท มีตัวตน และพระนางได้สละชีวิตเพื่อแผ่นดินจริงๆ

ขอแสดงความนับถือ และขอบคุณท่านผู้มีคุณวุฒิ ที่ได้สละเวลาเข้ามาตอบคำถามของข้าพเจ้า.
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 5
1. พงศาวดารไทยไม่ได้ระบุว่ารู้หรือไม่รู้ครับ มีแต่กล่าวว่าพระราเมศวรกับพระมหินทราธิราช "กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึก รี้พลตายเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึงให้เชิญพระศพพระสุริโยทัยผู้เป็นพระอัครมเหษีมาไว้ตำบลสวนหลวง" ส่วนพงศาวดารพม่าไม่ได้กล่าวถึงพระสุริโยทัยเลย

พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงความตอนนี้ก็บันทึกแค่ว่า "เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรบศึกหงสานั้นสมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้นทัพหน้าแตกมารประทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าเศึกเถิงสิ้นชนม์กับคอช้างนั้น"

ส่วนเรื่องพระบรมดิลก เป็นเรื่องเล่าในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่า ที่เรียบเรียงจากปากคำของเชลยไทยที่ถูกจับไปพม่าช่วงสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ เนื้อหาเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากในเชิงมุขปาฐะมากกว่า หลายตอนมีความคลาดเคลื่อนกับหลักฐานอื่นๆ มาก ยากจะยึดถือเป็นข้อเท็จจริงได้ทั้งหมดครับ แต่เค้าใจว่ามีเค้าโครงมาจากพระราชบุตรีที่สิ้นพระชนม์ตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ระบุ


2. ไม่เกี่ยวเลยครับ สงครามเสียพระสุริโยทัยเป็นการรบแรกๆ สุดของสงครามครั้งนั้นเลย ยังมีการรบกันมาอีกหลายครั้งก่อนหงสาวดีจะถอยกลับไปครับ

พงศาวดารไทยระบุว่า

- วันถัดมาหลังจากการยุทธหัตถี พระมหาอุปราชา (บุเรงนอง) ยกทัพตีค่ายพระสุนทรสงครามจนพลบค่ำจึงตีค่ายแตก เสียค่ายและป้อมจำปาให้หงสาวดี ไพร่พลล้มตายจำนวนมาก

- วันถัดมา พระเจ้าหงสาวดียกทัพไปตีค่ายทุ่งลุมพลีของพระยาจักรีจนยึดค่ายได้ พระยาจักรีต้องหนีกลับเข้าพระนคร

- สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงคิดทำศึกระยะยาวเพื่อถ่วงเวลาให้ทัพเมืองพิษณุโลกของพระมหาธรรมราชายกทัพลงมาตีกระหนาบ และคิดจะใช้ปืนใหญ่ทำลายค่ายหงสาวดีให้อ่อนกำลังลง จึงโปรดให้เอาปืนนารายณ์สังหารลงเรือสำเภาแล่นไปทางบ้านป้อม และให้ยกทัพบกไปทางขนอนปากคูเพื่อป้องกันแล้วยิงค่ายหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีให้ถอนค่ายหลวงไปตั้งที่ทุ่งพุดทะเลาแทน

- หลังจากนั้น ๓ วัน พระเจ้าหงสาวดียกทัพไปประทับที่วัดสามพิหาร ให้พระมหาอุปราชายกทัพตีพระนคร แต่พระยารามเอาปืนนารายณ์สังหารลงสำเภาไปยิงค่ายหงสา ทางป้อมมหาชัยก็ยิงปืนเข้มแข็งยากจะหักเอาได้ พระเจ้าหงสาวดีก็ต้องถอบทัพกลับไปพลับพลา

- ฝ่ายพระมหาธรรมราชาได้ข่าวก็เกณฑ์พลหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาตั้งที่ชัยนาท แล้วแต่งกองร้อยลงไปสืบความที่สิงห์บุรี แต่ถูกทัพหงสาวดีที่ไปหาเสบียงจับตัวและส่งไปถวายพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีจึงรู้ว่าพระมหาธรรมราชาจะยกมาตีกระหนาบ แล้วก็ปล่อยเชลยไป พระมหาธรรมราชารู้จึงให้ให้พระยาสวรรคโลกกับพระยาสุโขทัยยกทัพหน้าไปตั้งอยู่ที่เมืองอินทบุรี

- พระเจ้าหงสาวดีให้พระมหาอุปราชายกทัพไปตีค่ายทุ่งหันตราของเจ้าพระยามหาเสนาเพื่อจะได้ประชิดถึงกำแพงกรุงจนค่ายแตก เจ้าพระมหาเสนาต้องยกพลหนีไปอยู่ที่วัดมเหยงคณ์

- ทัพหงสาวดีเกิดขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก "แต่งกองทัพออกลาดหาก็มิได้ ที่ได้บ้างซื้อขายแก่กันเป็นทะนานละเฟื้อง" อีกทั้งใกล้จะถึงฤดูฝน ทัพหงสาวดีจึงยกทัพถอยไปทางเมืองกำแพงเพชรเพื่อออกด่านแม่ละเมา เพื่อที่จะตีชิงเสบียงจากทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ตั้งอยู่ที่ชัยนาท โดยหงสาวดีเตรียมรับมีการตีกระหนาบจากทั้งด้านหน้าด้านหลัง ให้พระเจ้าแปรคุมทัพหน้าสำหรับตีทัพฝ่ายเหนือ ให้พระมหาอุปราชาอยู่รั้งท้ายคอบรับมือทัพอยุทธยา แล้วก็เลิกทัพไป

- สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้พระสุนทรสงครามยกทัพไปดักซุ่มทัพหงสาวดีทางเมืองสุพรรณบุรี และพระราเมศวร พระมหินทราธิราชยกทัพไปตามทางเหนือ

- ทัพของพระเจ้าแปรตีค่ายทัพหน้าของฝ่ายเหนือที่อินทบุรีแตก ฝ่ายพระมหาอุปราชารู้ว่าพระราเมศวร พระมหินทราธิราชตามมาก็ส่งทัพไปโจมตีจนแตกและจับพระราเมศวร พระมหินทราธิราชเป็นเชลยทั้งสององค์ แล้วจึงยกทัพไปเฝ้าพระเจ้าหงสาวดีที่ชัยนาทซึ่งขับไล่ทัพฝ่ายเหนือไปได้แล้ว (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ระบุว่าผู้ที่ถูกจับเป็นเชลยคือพระมหาธรรมราชากับพระราเมศวร)

- ฝ่ายพระมหาจักรพรรดิส่งทูตไปชัยนาทเพื่อขอสงบศึก พระเจ้าหงสาวดียอมถวายพระราเมศวร พระมหินทราธิราชคืนแลกกับช้างพลายมงคลทวีปและช้างพลายศรีมงคล (ฉบับหลวงประเสริฐฯ เรียกว่า พระยาปราบและช้างต้นพระยานุภาพ) แต่พงศาวดารสมัยหลังระบุว่าช้างเห็นหมอควาญผิดเสียงก็อาละวาดไล่แทงคนจนวุ่นวาย พระเจ้าหงสาวดีจึงถวายคืนมา แล้วก็ยกทัพกลับหงสาวดี


โดยสรุปแล้ว สาเหตุที่หงสาวดีถอยทัพนั้นไม่เกี่ยวกับพระสุริโยทัยเลย แต่มาจากการรบยืดเยื้อจนขาดเสบียงและใกล้ฤดูฝนครับ
ความคิดเห็นที่ 6
ส่วนพงศาวดารพม่าอ้างอิงตามฉบับ มหาราชวงศ์พงษาวดารพม่า ของนายต่อ มีเนื้อหารายละเอียดต่างจากพงศาวดารไทยบ้าง ตามนี้

- พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เตรียมบุกอยุทธยาโดยแบ่งทัพออกเป็น ๓ ทัพ คือทัพของพระองค์เองเป็นปีกขวา ทัพพระมหาอุปราชาบุเรงนองเป็นปีกซ้าย ทัพสะโตธรรมราชา พระเจ้าแปรเป็นกองกลางเป็นกองล่อ เมื่อทัพหน้าอยุทธยายกมาตี กองล่อก็ถอยหนีหลอกให้ทัพอยุทธยาตามไป จึงถูกทัพของบุเรงนอง ๕ ทัพที่ซุ่มอยู่ตีจนแตก ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งเสด็จยกทัพหลวงมาหนุนเห็นว่าทัพหน้าของพระองค์แตกจึงโปรดให้ถอยกลับเข้ากรุงและตั้งมั่นไว้

การรบครั้งนี้คือการรบที่พระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ตามพงศาวดารไทย เนื้อหาใกล้เคียงกับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่ระบุว่า "เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรบศึกหงสานั้นสมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้นทัพหน้าแตกมารประทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าเศึกเถิงสิ้นชนม์กับคอช้างนั้นและเศิกหงสา" และใกล้เคียงกับพงศาวดไทยสมัยหลังที่ระบุว่ามีพระเจ้าแปรเป็นแม่ทัพ แต่พงศาวดารพม่าไม่ได้กล่าวถึงพระสุริโยทัยกับพระราชบุตรี

- หลังจากนั้นพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงนำทัพทั้ง ๓ บุกถึงกำแพงกรุง และให้พลทหารบุกปีนกำแพง แต่อยุทธยาป้องกันเข้มแข็ง คูเมืองก็ลึกกว้างกำแพงก็สูง ทัพหงสาวดีจึงได้แค่ล้อมไว้มาประมาณเดือนหนึ่งก็ยังตีไม่ได้ สุดท้ายจีงทรงประชุมบรรดาแม่ทัพนายกองตัดสินใจถอยทัพกลับไปทางเหนือเพื่อไล่ตีหัวเมืองรายทาง ก่อนจะกลับมาตีอยุทธยาในภายหลัง ทัพหงสาวดีจึงถอยกลับไปทางเมืองกำแพงเพชร

- ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบ จึงให้ ออกญาพิษณุโลก (พระมหาธรรมราชา?) ออกญาพระจักร์ (ออกญาจักรี?) ยกทัพไปตามตีกองทัพหงสาทางหนึ่ง ให้ ออกญาลครอินท์ซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยกับออกญารัง (ออกญาราม?) ยกไปอีกทางหนึ่ง

- พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกไปเกือบถึงเมืองกำแพงเพชรได้ข่าวว่าทัพอยุทธยายกมา จึงโปรดให้บุเรงนองเป็นกองกลางยกทัพไปตีอยุทธยา ให้อีกทัพหนึ่งเป็นปีกขวา พระองค์เองยกทัพเป็นปีกซ้าย และให้ม้าเร็วไปสั่งบุเรงนองว่าอย่าเพิ่งรบ ให้รอทัพของพระองค์ไปถึงก่อน

- บุเรงนองนำกองทัพของตนเองไปตั้งอยู่ที่บึงใหญ่ พอได้ข่าวอยุทธยายกมาจึงแบ่งทหาร ๓๐๐ ออกไปล่อทัพอยุทธยาเข้ามา ทัพปีกซ้ายขวาของหงสาวดีจึงบุกไปอ้อมไว้ บุเรงนองเห็นว่าหากตนไม่รบก็จะไม่มีความชอบ จึงขัดพระราชโองการออกไปตีทัพอยุทธยาด้วย ทัพหน้าของออกญาลครอินท์ก็เสียทีล่าถอยไป มีการชนช้างระหว่างแม่ทัพนายกองทั้งสองฝ่ายหลายช้าง ทัพอยุทธยาแพ้ถูกจับเป็นเชลยหลายคนรวมถึงออกญาลครอินท์ราชบุตรเขยและพระอนุชาของพระมหาจักรพรรดิไว้ได้ด้วย

- ฝ่ายบุเรงนองมีความชอบทำศึกได้รับชัยชนะ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงทรงยกโทษที่ขัดรับสั่งให้ นอกจากนี้ยังทรงยกย่องไชยสีหะบุตรชายของบุเรงนองมาก

- หลังจากไล่ตีทัพอยุทธยาแตกแล้ว ขุนนางหลายคนจึงเสนอให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกทัพกลับไปตีกรุงศรีอยุทธยา แต่สะโตธรรมราชาพระเจ้าแปรคัดค้านว่า

"กรุงศรีอยุทธยานั้นหาเหมือนกับกรุงทั้งหลายไม่ เพราะกำแพงเมืองแลค่ายคูประตูหอรบทั้งปวงก็แน่นหนามั่นคง ปืนใหญ่สาตราอาวุธทั้งปวงแลพลช้างม้าก็มาก แลทางน้ำเล่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ได้ทรงจัดให้พลทหารลงเรือรบถือสาตราอาวุธคอยรักษาอยู่มิได้ประมาท แล้วมีน้ำรอบกรุงศรีอยุทธยาคูเมืองนั้นน้ำก็ฤก พลทหารฝ่ายพม่าก็จะเข้าตีลำบาก อิกประการหนึ่งถ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาพระองค์ตั้งมั่นรักษาเมืองไว้มิได้ออกรบแล้ว ฝ่ายพลทหารพม่าก็จะเข้าทำอะไรไม่ได้เปนแน่ เมื่อเปนเช่นนั้นข้างพวกข้าพระพุทธเจ้าก็จะต้องทำค่ายดินขึ้นเปนงานปี แล้วต้องออกหาเสบียงอาหารไว้เปนงานปี เมื่อพลทหารพม่าออกหาเสบียงอาหารนั้น ฝ่ายอยุทธยารู้ก็จะออกสกัดตีเปนแน่ เมือออกสกัดตีเช่นนั้นแล้วพวกทหารพม่าก็จะได้รับความลำยากอดอยากล้มตายกันเปนอันมาก แล้วสงครามก็จะช้าเปนแรมปี เพราะฉนั้นขอพระองค์ทรงเสด็จกลับยังมหานครก่อน เมืองถึงมหานครแล้วขอพระองค์จัดให้พลทหารเที่ยวตีในอาณาเขตร์พม่า อาณาเขตร์มอญ อาญาเขตร์เงี้ยว ที่ยังมิได้ขึ้นแก่พระองค์นั้นให้ได้เสียก่อนแล้วจึงยกพยุหโยธาทัพใหญ่กลับมาตีกรุงศรีอยุทธยาๆ ก็จะไม่พ้นพระหัตถ์ของพระองค์เปนแน่"

ฝ่ายนันทสังจรัน ขุนนางอีกคนก็เห็นชอบ ทูลว่าไม่ควรยกไปตีกรุงศรีอยุทธยาอีก นอกจากนี้ตอนนี้หงสาวดีจับทั้งราชบุตรเขยและพระอนุชาของพระมหาจักรพรรดิไว้ได้ อีกไม่นานพระมหาจักรพรรดิก็จะยอมอ่อนน้อมเพื่อขอเชลยคืน และเสนอให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือคือกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลกไว้ในอำนาจ เพื่อใช้เป็นฐานตีกรุงศรีอยุทธยาต่อไป ฝ่ายบุเรงนองก็เห็นชอบกับแผนการของนันทสังจรัน พระเจ้าจตะเบ็งชเวตี้จึงยกทัพไปตีเมืองกำแพงเพชร ผู้รักษาเมืองก็ทิ้งเมืองหนีเข้าป่าไปไม่สู้รบ


- พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังไม่ทันยกไปตีเมืองอื่น พระมหาจักรพรรดิก็ส่งทูตมายอมอ่อนน้อมขอพระราชบุตรเขย พระอนุชา พระราชบุตรคืน โดยแลกกับการยอมสวามิภักดิ์ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แล้วจะถวายช้างศึก ๓๐ ช้าง เงิน ๓๐๐ ชั่ง กับภาษีอากรที่เก็บได้จากท่าเรือเมืองตะนาวศรีทุกปี โดยในเวลานี้ขอถวายช้างสีประหลาดถวายก่อน นอกจากนี้ยังให้ขุนนางนำเครื่องบรรณาการมาถวายพร้อมกันอีกจำนวนมาก พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงยกเลิกการตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และให้ขุนนางอยุทธยากลับไปเพื่อให้นำของกำนัลมาถวาย

พระมหาจักรพรรดิจึงตรัสให้เอาช้างต้นประหลาดน้อยใหญ่แต่งเครื่องอานลายทอง กับช้างที่มีลักษณะงามอีก ๒ ช้าง เป็น ๔ ช้าง กับเครื่องบรรณาการ มอบให้กับออกญาพิษณุโลกและออกญาสวรรคโลกที่เป็นพระอนุชานำขึ้นไปถวายและให้ถือน่ำพระพิพัฒน์สัตยาแทนพระองค์ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็ให้ปล่อยเชลยที่ทรงจับไว้ได้คือ พระราชบุตร พระราชบุตรเชย พระอนุชา และออกจากพันธนาการ รวมถึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้จำนวนมาก (ในพงศาวดารพม่าเขียนรายการไว้ยาวเหยียด) รวมถึงให้แก่ออกญาพิษณุโลกและออกญาสวรรคด้วย แล้วให้ปล่อยกลับกรุงศรีอยุทธยาทุกคน หลังจากนั้น ๒ วัน พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็ถอยกลับหงสาวดี


จะเห็นว่าเหตุผลในการถอยทัพของพงศาวดารพม่าโดยหลักคือ ชัยภูมิของอยุทธยายากต่อการเข้าตีได้ และยากต่อการทำศึกยือเยื้อซึ่งจะทำให้หาเสบียงได้ลำบาก จึงควรถอยกลับไปตั้งมั่นที่หงสาวดีก่อน หรือไม่ก็ยกไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือเพื่อใช้เป็นฐานเสบียงต่อไป ใกล้เคียงกับพงศาวดารไทยที่ระบุว่าหงสาวดีถอยไปทางเหนือเพื่อหวังแย่งชิงเสบียงจากทัพฝ่ายเหนือด้วย

จะมีจุดที่ต่างกันคือ พงศาวดารพม่าให้ภาพว่าทัพหงสาวดีไม่ได้รีบจะถอยทัพกลับไปยังหงสาวดีในทันที แต่เป็นการถอยเพียงชั่วคราวเพื่อหาที่ตั้งมั่นก่อนจะยกลงมาใหม่ คือตัดสินใจยกไปไล่ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือให้ราบคาบเพื่อใช้เป็นฐานเตรียมเสบียงและกะเกณฑ์ไพร่พลก่อน แต่เพราะอยุทธยายอมเจรจาอ่อนน้อม หงสาวดีจึงเลิกทำสงครามแล้วถอนทหารกลับไปครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่