บทความวันจันทร์ (16 ก.ค. 61) : เวลาที่น่าหวงแหน (2)

บทความวันจันทร์ (16 กรกฎาคม 2561)
เวลาที่น่าหวงแหน (ตอนที่ 2)
โดย วรา  วราภรณ์

    “โครงการอบรมหลักสูตรพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข (7 คืน 8 วัน ของคุณแม่ ดร.สิริ  กรินชัย) 24 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2561 ณ บ้านชนบทธรรมภูมิ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว”

    นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความบนป้ายอิงค์เจ็ทซึ่งไม่ได้มีสีสันหรือลวดลายใดที่สะดุดตาเป็นพิเศษ แต่เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ เพราะข้อความนี้เองที่สามารถจูงใจให้คนสองคนซึ่งกำลังทำมาค้าขาย ได้ตัดสินใจปิดกิจการร้านอาหารของพวกเธอชั่วคราว แล้วก็เข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยความตั้งใจเป็นครั้งแรก

    สำหรับข้าพเจ้าและคนอื่นๆ ที่ได้อ่านข้อความนี้ ย่อมคิดตรงกันว่า คำสำคัญของชื่อโครงการซึ่งชวนให้ค้นหาความหมายต่อไปก็คือ “คุณแม่ ดร.สิริ  กรินชัย” (ท่านเป็นใคร ?) รองลงมาก็คือชื่อของหลักสูตร “พัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข” (หมายถึงอะไร ?)

    ข้าพเจ้าเคยเห็นชื่อ “คุณแม่ ดร.สิริ  กรินชัย” ครั้งแรกช่วงปี 2531-2533 ซึ่งยังเป็นนักศึกษาอยู่ในสถาบันแห่งหนึ่งที่นครปฐม ชื่อของท่านอยู่ในโปสเตอร์เชิญชวนจากใครสักคนที่ไปแปะเอาไว้หน้าหอสมุด  แหล่งอ่านทบทวนและค้นคว้าตำรับตำรา และแหล่งสิงสถิตของบรรดาหนอนหนังสือ ส่วนข้อความที่เชิญชวนก็ประมาณนี้ และข้าพเจ้าค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นชื่อหลักสูตรเดียวกันนี้

    ตอนนั้น ข้าพเจ้าอ่านข้อความเชิญชวนด้วยความรู้สึกสนใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากไปกว่ากิจกรรมที่ตัวเองสนใจเป็นพิเศษ คือละครเวทีของกลุ่มละครอิสระที่มักมีพี่ๆ ที่รักการละครมาชวนน้องๆ ที่สนใจเข้าไปร่วมเป็นทีมผลิตในช่วงปิดภาคเรียน ดังนั้น เมื่อต้องตัดสินใจเลือก ข้าพเจ้าจึงได้เลือกกิจกรรมของกลุ่มละครที่ว่า และคิดในใจว่ากิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่างการอบรมเรื่องพัฒนาจิตนั้น “ค่อยเอาไว้วันหลัง”

    แล้วก็ช่างเป็นโชคดีของข้าพเจ้า ที่ยังคงมีชีวิตมาจนถึงวันนี้ในวัยที่เตรียมตัวขึ้นเลข 5 ทั้งยังได้มีโอกาสเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปร่วมอบรมหลักสูตรนี้พร้อมกับที่ได้รับรู้เรื่องราวของคุณแม่ ดร.สิริ  กรินชัย ไปพร้อมๆ กัน (ต่อไปขออนุญาตเรียกท่านสั้นลงว่า คุณแม่สิรินะคะ)

    ทั้งๆ ที่เป็นชาวนครราชสีมา แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าตนเองมีภูมิลำเนาเดียวกับคุณแม่สิริ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2460 เป็นลูกคนโตในครอบครัวของผู้มีอันจะกิน บิดาคือ คุณหลวงโยธา (สังวาลย์  พจนสิทธิ์) และมารดาชื่อ นางสาคร

         คุณแม่สิริเป็นคนที่มีความตั้งใจและปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างดีมาตั้งแต่เล็กๆ เรียกว่าเรียนก็เก่ง ทำอะไรก็เก่ง ทั้งถ่ายรูป ปักจักร นวดหน้า แต่งหน้า ทำผม ตัดเสื้อ เมื่อท่านเปิดร้านเสริมสวยก็มีลูกค้ามากมายและได้ชื่อว่ามีชื่อเสียงที่สุดในเมืองโคราช ครั้นได้เข้ามาศึกษาธรรมก็เรียนรู้และเข้าใจได้เร็ว โดยเฉพาะการเข้าอบรมวิปัสสนากรรมฐานอย่างเคร่งครัด 7 วันในปี พ.ศ. 2504 ซึ่งครั้งนั้นมีพระเทพสิทธิมุนี (โชดก  ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ กรุงเทพฯ เป็นวิปัสสนาจารย์ให้ และยังได้เอ่ยชมว่า

          “มาโคราชเที่ยวนี้ไม่เสียเที่ยว ได้คนดีไว้คนหนึ่งคือคุณสิริ ต่อไปคนนี้จะสอนคนและทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก”

         นั่นก็คือที่มาของ การอบรมหลักสูตรพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุข หรือการอบรมวิปัสสนากรรมฐานของคุณแม่สิริในเวลาต่อมา โดยที่ท่านได้เปิดบ้านของตนเองเป็นสถานที่อบรมชนิดที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายจากผู้เข้าร่วมอบรมทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ และทุกศาสนา แต่อาศัยทุนส่วนตัวและการสนับสนุนจากญาติ กัลยาณมิตร และลูกศิษย์ของท่าน สลับกับเดินทางไปสอนในที่ต่างๆ รวมทั้งต่างแดน ยังประโยชน์ทั้งกายใจให้แก่ผู้ที่ได้ปฏิบัติและได้เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นอย่างยิ่ง อันทำให้ค่อยๆ แพร่ขยายไปสู่สาธารณชนเป็นวงกว้าง และเพิ่มจำนวนผู้ที่มีความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้นโดยลำดับ และคุณแม่สิริก็ได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานจนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงพยาบาลชลบุรี รวมอายุ 94 ปี 3 เดือน 9 วัน  

          ชีวิตส่วนตัวของคุณแม่สิริเป็นชีวิตของปุถุชนคนหนึ่งที่มีครอบครัว หน้าที่ การงานเช่นบุคคลทั่วไป ท่านสมรสกับคุณพ่อไชย  กรินชัย อดีตนายกเทศมนตรีและประธานสภาเทศบาลเมืองนครราชสีมา มีบุตรและธิดา 4 คน และแม้ท่านจะต้องออกงานสังคมด้วยตามกาลโอกาส แต่ท่านก็ยังยึดครองศีลได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่ายุ่งยากลำบากใจ

           “เวลาเขาชูแก้วเพื่อให้ดื่มฉลองกัน แม่ก็ชูกับเขานะ ชูแก้วน้ำเป-ล่าไงล่ะคะ” คุณแม่สิริเล่าพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดี    

          ส่วนภารกิจด้านการเป็นวิปัสสนาจารย์ และธรรมาจารย์แห่งยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ของคุณแม่สิรินั้น ต้องถือว่าท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการพัฒนาหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐานสำหรับประเทศไทย โดยได้รับการเชิดชูเกียรติจากองค์กรต่างๆ มากมาย อาทิ ได้รับพระราชทานรางวัลบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ปี 2528), รางวัล OUTSTANDING WOMAN IN BUDDHISM (สตรีผู้โดดเด่นแห่งพุทธศาสนาโลก), จากองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ปี 2545) และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นจตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.) (ปี 2538)

          จากการฟังเสียง และการรับชมภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของคุณแม่สิริในวิดีโอเทปการบรรยายธรรมของท่านระหว่างเข้ารับการอบรมทั้งเจ็ดคืนแปดวัน สิ่งที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้ตลอดเวลาก็คือ ความมีเมตตาของท่าน แม้เพียงเสียงอย่างเดียวก็ชวนให้ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ด้วยว่าเป็นน้ำเสียงดุจเดียวกับที่แม่พูดกับลูก ยิ่งมีภาพประกอบด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดว่าความเมตตาของท่านนั้นฉายออกมาทางแววตาที่อบอุ่น และสีหน้าที่ยิ้มละไมตลอดเวลา

          สำหรับคนที่ห่างไกลวัด และไม่ได้เติบโตมากับร่มเงาพระพุทธศาสนา เพราะว่าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกมาตั้งแต่อายุเจ็ดขวบจนจบชั้นมัธยมปลายอย่างข้าพเจ้า ยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เปล่งเสียงสวดมนต์ ยกมือขึ้นพนม และก้มลงกราบพระด้วยศรัทธาที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจ

          ขอกราบขอบพระคุณ คุณแม่ ดร.สิริ  กรินชัย ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ  


                                              .................................................................

(แหล่งข้อมูล)
1-เว็บไซต์ศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน คุณแม่ ดร.สิริ  กรินชัย จังหวัดสุรินทร์ (www.junromsurin.org)
2-วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  



นามคุณแม่สิริ  กรินชัยใจมุ่งมั่น     ผู้สร้างสรรทางเอกมาเสกสอน
ในเจ็ดวันพ้นทุกข์สุขแน่นอน          จิตหายร้อนจากร้ายกลายเป็นดี
                        (จากบทกลอน สดุดีวีรธรรม โดย คุณเกษม  ศรสงคราม)



คุณแม่สิริในโอกาสที่ได้รับรางวัล Outstanding Woman in Buddhism จากองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก


60 ปีแห่งการเพียรบำเพ็ญเพื่อพุทธศาสนิกชนที่ได้ชื่อว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานอย่างแท้จริง

(ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่