JJNY : รู้จัก 'ไพรมารีโหวต' ที่ร่างมาแต่อาจไม่ได้ใช้ หลังผุด 4 แนวทาง

กระทู้คำถาม
ทำความเข้าใจระบบไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมือง หลายพรรคกังวลว่าจะดำเนินการไม่ทันเพราะ คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ตอนนี้มี 4 ทางให้เลือก โหวตระดับจังหวัด โหวตระดับภาค ยกเลิกการโหวตในครั้งนี้ หรือหาวิธีการอื่นมาใช้แทน

กลับมาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอีกครั้งสำหรับเรื่องการทำไพรมารีโหวต (Primary Vote) ซึ่งหมายถึง การดำเนินการให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองลงคะแนนเสียง เพื่อเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หลังจากที่มีข่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยกร่าง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 53/2560 ขณะเดียวกันมีรายงานว่า คสช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ก็ได้ยกร่างแก้ไขคำสั่งดังกล่าว แล้วส่งมาให้ กกต. พิจารณาเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปลดล็อกพรรคการเมือง และการจัดทำไพรมารีโหวต

ร่างทั้งสองฉบับมีเนื้อหาที่เป็นไปในทางเดียวกันคือ ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมพรรคการเมืองได้ มีการแก้ไขข้อบังคับในเรื่องการหาสมาชิก ให้ความเห็นกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ และสามารถจัดทำไพรมารีโหวตได้ โดยให้กับ กกต. ก่อนดำเนินการ นอกจากนี้ยังให้อำนาจกับบ กกต. ดำเนินการออกหลักเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (กฎหมายผ่านการพิจารณาแล้ว รอลงพระประมาภิไธยและประกาศลงราชกิจจานุเบกษา)

แต่ประเด็นเรื่องการทำไพรมารีโหวตนั้น ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเวลานี้มีทั้งหมด 4 แนวทางคือ
1. ยืนยันการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมเป็นรายจังหวัด
2. เปลี่ยนเป็นการทำไพรมารีโหวตรายภาค 4 ภาค
3. ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้
และ 4. หาแนวทางอื่นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ทั้งหมดนี่คือการสรุปข้อเรียกร้องจากประชุมเพื่อหารือระหว่าง 74 พรรคการเมือง กับรัฐบาล คสช. โดยผู้ที่เป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางใดคือ กกต.

รู้จักกระบวนการทำไพรมารีโหวต ตามกฎหมายพรรคการเมือง

ภายใต้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีการทำ ‘ไพรมารีโหวต’ โดยกฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติให้มีจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน มาจากระบบแบ่งเขตทั้งหมด 350 ที่นั่ง และระบบบัญชีรายชื่อ 150 ที่นั่ง และการจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตหนึ่งๆ พรรคการเมืองจะต้องมีสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น

หากพรรคจะส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตต้องทำอย่างไร

มาตรา 47 กำหนดว่า การที่พรรคการเมืองจะส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในในระบบแบ่งเขตได้ จะต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ และผู้ที่จะลงรับสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัดนั้นๆ

      สำหรับสาขาพรรคการเมือง ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ ภายในหนึ่งปีหลังจากที่กลุ่มผู้ประสงค์ตั้งพรรคการเมืองได้รับการจดทะเบียน และมีสถานะเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายแล้ว จะตั้งดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง อย่างน้อยภาคละ 1 สาขา โดยในแต่ละสาขาจะต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในในเขตพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งหมดต้องมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป ขณะที่การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นจะต้องมีสมาชิกในจังหวัดนั้นๆ 100 คนขึ้นไป


สำหรับวิธีการสรรหานั้นได้กำหนดไว้ในมาตรา 50 โดย ให้คณะกรรมการสรรหาผู้รับสมัครเลือกตั้ง (ซึ่งจะได้มาจากการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง โดยการเลือกตั้ง ตามมาตรา 38) ของแต่ละพรรคการเมืองกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกของพรรคทราบ

เมื่อกำหนดเวลารับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละเขต แล้วส่งรายชื่อผู้สมัคร ให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น

เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัคร ให้จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งมา

การประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยในการลงคะแนนให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้หนึ่งคน และเมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วให้นับคะแนนและประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกให้คณะกรรมการสรรหาฯ

จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบ ให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบกับรายชื่อทั้งหมด ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสรรหาฯ ประชุมร่วมกัน หากที่ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบกับผู้สมัครรายใด ให้เสนอชื่อผู้สมัครรายนั้น

หากพรรคจะส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องทำอย่างไร

มาตรา 48 กำหนดให้การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง โดย กกต. จะเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนระหว่างชายและหญิง ซึ่งจะมีการหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ก่อน

สำหรับการสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อกำหนดไว้ในมาตรา 51  ให้คณะกรรมการสรรหาผู้รับสมัครเลือกตั้ง กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบ

เมื่อกำหนดเวลาเสนอรายชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 คน โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปยังสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

จากนั้นให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จัดประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 15 คน โดยการประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเร็ว

คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเรียงลำดับตามผลรวมของคะแนนที่ได้รับจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวเทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่เห็นชอบให้ดำเนินการใหม่จนกว่าจะได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เงื่อนไข ข้อจำกัด และปัญหา

สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า เคยให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิกา เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2560 ว่า ระบบไพรมารีโหวตนี้ “ยากต่อการปฏิบัติ” และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคปั่นป่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใดก็ตาม

“พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครได้จะมีน้อยมาก เพราะต้องเป็นพรรคที่มีความพร้อมที่จะจัดไพรมารีโหวต เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้หมายความว่า พรรคที่มีความพร้อมแบบนี้จะไม่เจอกับปัญหา” สติธร กล่าว

สติธร ยกตัวอย่างปัญหาทางเทคนิคที่พรรคการเมืองจะต้องเผชิญ เช่น พรรคเพื่อไทย อาจจะเจอกับปัญหาเรื่อง สาขาพรรค เพราะที่ผ่านมาใช้ระบบศูนย์ประสานงานของพรรค มากกว่าการตั้งสาขาพรรค ก็อาจจะต้องแก้ด้วยการปรับศูนย์ประสานงานให้เป็นสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดก็สามารถทำได้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีสาขาพรรคมาก แต่ก็จะเจอกับปัญหาอื่นแทน เช่นเดียวกับพรรคขนาดกลางและเล็ก ก็จะพบกับปัญหาเช่นกัน จนคาดว่าจะมีพรรคที่มีความพร้อมที่จะจัดเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวตไม่เกิน 5 พรรคการเมืองเท่านั้น

ขณะที่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองที่จดทะเบียนอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง หลังจากที่มีการดำเนินการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองลดลงมากกว่าร้อยละ 90 พรรคประชาธิปัตย์ มีจำนวนสมาชิกพรรคเดิมทั้งสิ้น 2,896,109 คน แต่รับการยืนยันกลับมาเพียง 1.3 แสนคน พรรคเพื่อไทย มีสมาชิกพรรคเดิม 134,896 คน แต่สมาชิกพรรคยืนยันประมาณ 1 หมื่นคน พรรคชาติไทยพัฒนาเดิมมีสมาชิก 26,050 คนเหลือ 2,500 คน พรรคภูมิใจไทยเดิมมีสมาชิก 153,095 คน เหลือ 1,800 คน และบางพรรคการเมืองยังมีสมาชิกพรรคไม่เกิน 100 คนในบางจังหวัด

นอกจากนี้พรรคการเมืองทั้งใหม่เก่าต่างมีความกังวลในเรื่องระยะเวลาว่าอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน และกังวลกับระบบไพรมารีโหวตซึ่งมีเงือนไข ข้อจำกัดมาก จนอาจทำให้พรรคไม่สามารถส่งผู้รับสมัครเลือกตั้งได้ ประกอบกับการยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และยังไม่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งที่ชัดเจน

ขณะที่ ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์กับข่าวสด เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ว่า ระบบไพรมารีโหวตที่มีการกำหนดไว้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับพรรคการเมือง แต่ยิ่งจะเป็นประโยชน์เพราะจะทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันมากขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือการไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้

เรียงเรียบจาก: iLaw , มติชนออนไลน์ , ประชาชาติธุรกิจ , ไทยพับลิกา , ข่าวสดออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่