รถไฟความเร็วสูง โปรเจกท์วัดใจมหาเศรษฐีไทย

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เดินหน้าอย่างรวดเร็วจนใกล้จะถึงจุด Climax ของการประมูลแล้ว โดยได้ปิดขายซองประมูลไปแล้วเมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) ซึ่งมีบริษัททั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ในโซนเอเชียและยุโรป ที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองถึง 31 ราย


รายชื่อ 31 บริษัท
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


กิจกรรมหลังปิดซองถึงวันประมูล
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ในขณะที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทั้งโครงการอยู่ภายใต้กรอบเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.5 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าเป็นโครงการขนาดมหึมา ซึ่งต้องอาศัยเม็ดเงินมหาศาล จึงจำเป็นต้องระดมทุนทั้งจากนักลงทุนในประเทศ ซึ่งต้องดำเนินตามหลักการรัฐร่วมเอกชนหรือ PPP นอกจากนี้ ความสำเร็จของโครงการยังต้องอาศัยความสามารถในการระดมทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลพยายามทำงานอย่างขะมักเขม้น เช่น เดินสายโรดโชว์ไปสร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามา ซึ่งก็ได้ผลดีทีเดียว เพราะมีนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขานรับเข้ามาลงทุนในโครงการอีอีซีจำนวนมาก และมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกวัน

นอกจากนี้ยังต้องอาศัยสายสัมพันธ์หรือ Connection ที่ดีจากองค์กรธุรกิจเอกชนในประเทศ ที่จะช่วยดึงพันธมิตรจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมทุน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ๆ ก็จากการเข้ามาซื้อซองประมูลในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของวิสาหกิจและเอกชนจากหลาย ๆ ประเทศ


ในส่วนของนักลงทุนไทย แม้จะแสดงความสนใจเข้าซื้อซองในครั้งนี้หลายราย แต่ก็ถือว่าผู้เล่นหลัก ๆ ที่เป็นเอกชนรายใหญ่ยังน้อย คงจะดีมากกว่านี้ หากเจ้าสัวต่าง ๆ ที่ติดอันดับ Top 5 หรือ Top 10 ของประเทศกระโดดเข้ามาในสนามลงทุนเองในโครงการนี้ หรือช่วยดึงพันธมิตรจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนกันเยอะ ๆ ในโครงการอีอีซี ก็จะเป็นภาพที่สวยงามของการรวมพลังมหาเศรษฐีไทยช่วยชาติ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

โครงการรถไฟความเร็วสูงถือเป็นงานชิ้นแรกของอีอีซี ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำอย่างอื่นตามมา เพราะฉะนั้น นัยของรถไฟความเร็วสูง จึงไม่ใช่มีแค่งานโครงสร้างหรืองานก่อสร้างราง, งานรถไฟ หรืองานสถานี แต่จะมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ประชาชนจะได้อะไร จะมีกิจกรรมหรือสร้างประโยชน์อะไรให้ประชาชน หรือคนในพื้นที่มีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง เป็นต้นว่า สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฯลฯ  


ถ้าเปรียบไปแล้วรถไฟขบวนนี้จะต้องลากจูงประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่มาให้ประชาชน ชุมชนคนในพื้นที่ ณ จุดนี้ผมรู้สึกดี ที่บีทีเอสกับซีพี ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรไทยที่ใหญ่และมีศักยภาพ แสดงตัวชัดเจนว่าต้องการเข้ามาทำโครงการนี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของประเทศ ที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าทำยาก ใช้เงินลงทุนสูง และโอกาสคืนทุนยาวนาน แต่ก็กล้าหาญที่จะเข้ามาแบกภาระเพื่อชาติ


โดยเฉพาะกับซีพีที่มีมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจระดับโลก มีประสบการณ์การธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานเกือบ 100 ปี ทางด้านการเกษตร อาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ความจำเป็นแห่งชีวิต หากได้โครงการรถไฟไปทำได้จริง แล้วสามารถต่อยอดด้วยการขนทักษะ องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่มี เช่น เกษตร ปศุสัตว์ อาหาร ความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ฯลฯ มาแปลงเป็นประโยชน์หรือมาสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ช่วยเหลือประชาชน ก็จะเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างสง่างาม ที่สำคัญถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณแผ่นดิน ตามที่คุณธนินท์เคยลั่นวาจาไว้ ซึ่งผมและ(เชื่อว่า)คนไทยทั้งชาติจะปรบมือคารวะด้วยความเต็มใจในฐานะคนจริง ไม่ใช่แค่มาทำธุรกิจให้รวยแล้วเลิก หรือรวยแล้วขนเงินออกไปต่างประเทศ หรือรวยแล้วไม่สนใจประชาชนที่เป็นลูกค้าของธุรกิจคุณ กล้าที่จะนิ่งดูดายหรือมัวแต่คำนวณว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย ต้องมองเห็นทางได้มากกว่าก่อน จึงยอมเข้ามาลงทุน!!!

----------------------------------------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่