[SR] วันหนึ่งเมื่อฉันถือกล้อง Lumix GH5 ลงน้ำ

กระทู้รีวิว
การเริ่มต้นถ่ายภาพของผมแตกต่างจากคนอื่นเล็กน้อย  เร่ิมจากการที่ผมไปเรียนดำน้ำลึกที่เรียกว่า Scuba ในปี  2003  หลังจากนั้นได้ไม่กี่เดือนผมก็เริ่มการถ่ายภาพใต้น้ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  และเป็นช่วงที่กล้องดิจิตอลกำลังเข้ามามีบทบาทในการถ่ายภาพ  จากคอมแพคฝากเพื่อนแอร์ไปซื้อให้ที่ญี่ปุ่นแต่วีดีโอคุณภาพก็ยังไม่ได้ดีหรอกครับ  ค่อยขยับขึ้นเป็น DSLR แบบตัวคูณและเป็น Fullframe ตอนนั้นเน้นการถ่ายภาพนิ่ง  หวังใจว่าวันนึงวีดีโอในกล้องจะดีขึ้น    ปัจจุปันกล้องถ่ายวีดีโอได้ดีมากเลยหันมาเน้นเรื่องวีดีโอเป็นส่วนใหญ่แทน

ครั้งแรกที่เอากล้อง Panasonic Lumix  GH5 ลงน้ำ  เอาลงสระก่อนเพื่อทดสอบปุ่มของเคสกันน้ำรวมถึงสร้างความคุ้นเคยเลยเอามาถ่ายการฝึกFree Diveในสระ ถ่ายตอนกลางวันในโหมด 4K Photo
Lumix GH5 + Panasonic Lumix G Fisheye 8mm f/3.5  เลือกจังหวะที่ชอบexport ในตัวกล้องได้เป็นภาพน่ิงขนาด 8  MP

การถ่ายภาพใต้น้ำเริ่มต้นง่ายๆด้วยอุปกรณ์สองอย่างแรกคือ  กล้อง และเคสกันน้ำหรือที่เรียกกันว่าHousing ซี่งเจ้า Housingนี่แหละที่จะกันไม่ให้น้ำเข้าไปผสมกับกล้องจนเป็นน้ำข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ555    จริงๆแล้วยังมีอุปกรณ์ต่างๆอีกมากมายที่ต้องนำมาใช้คู่กันเพื่อแก้ไขข้อจำกัดต่างๆในการถ่ายภาพใต้น้ำ

    แล้วประเภทของภาพถ่ายใต้น้ำแบ่งได้ออกเป็นกี่ประเภทบ้าง?    ทั่วๆไปคือ ภาพมุมกว้างภูมิทัศน์ หรือภาพถ่ายสัตว์ใต้น้ำขนาดใหญ่   ประเภทที่สองคือมาโครสำหรับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆใต้น้ำ   
ภาพลูกปลาวัววัยเด็กถ่ายด้วยเลนส์มาโคร Panasonic Leica DG Macro-Elmarit 45mm f/2.8

ข้อจำกัดของการถ่ายภาพใต้น้ำนั้นมีมากมาย   เช่น ในแต่ละครั้งที่ลงดำน้ำเรามีเวลาอยู่ใต้น้ำในนานประมาณ  45 นาที  เนื่องจากข้อจำกัดด้านถังอากาศ และเรื่องฟิสิกส์ของก๊าซที่เราหายใจซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกายเมื่ออยู่ใต้น้ำเป็นต้น   


ภาพถ่ายที่ความลึกราว 30 เมตรโดยใช้แสงธรรมชาติ  และการใช้ Manual White Balance ในการถ่ายภาพ  ซึ่งผมว่าตัวกล้อง WB ใต้น้ำได้ดี

    ข้อจำกัดของการถ่ายภาพใต้น้ำที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องสี และแสง  ที่ความลึกไม่เกินสามเมตรจากผิวน้ำสีแดงจะยังคงอยู่และค่อยๆหายไปเรื่อยๆ  สีถัดมาคือสีส้มไล่เรียงตามสเปคตรัมของแสง  ณ ความลึก 10 เมตรจะเห็นได้ว่าสีแดงหายไปทั้งหมด (ภาพประกอบspectrumใต้น้ำจากอินเตอร์เน็ต)  เราจึงต้องคืนสีให้กับภาพถ่ายใต้น้ำด้วยการนำเอาไฟวีดีโอ หรือไฟแฟลชใต้น้ำลงไป  วัตถุประสงค์หลักไม่ใช่แค่การให้ความสว่างกับภาพแต่อย่างเดียวแต่คือการคืนสีที่ถูกต้องให้กับวัตถุที่เราถ่ายด้วย  

ภาพนี้ใช้ไฟวีดีโอใต้น้ำสองดวงซ้าย และขวาเพื่อคืนสีให้กับปะการังอ่อนในด้านหน้า ในขณะที่ปะการังอ่อนระยะที่แสงไฟไปไม่ถึงจะโดนสีของสภาพน้ำสีฟ้ากลบสีที่แท้จริงไป  Panasonic Lumix G Fisheye 8mm f/3.5.       F6.3 1/60 ISO400  

ถึงแม้ว่าอากาศด้านบนจะขมุกขมัว  แต่ใต้น้ำก็ยังได้รับแสงมากพอที่จะถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องใช้ไฟวีดีโอ หรือแฟลช  วิธีการนี้เหมาะกับที่ๆมีแสงธรรมชาติบ้างโดยการใช้การตั้งค่า Manual White Balanceใต้น้ำที่ระดับความลึกนั้นๆ   ทำให้ฉากหน้าที่ได้มีสีสันสมจริงคือสีแดงใต้น้ำกลับมาในส่วนที่น้ำไม่ลึกจนสีแดงหายไปหมด  

ซากโครงกระดูกวาฬที่คาดว่าจะเป็นวาฬโอมูระ ที่ชาวประมงพบและลากมาจมลงบนพื้นทรายความลึก30 เมตรบริเวณเกาะห้า อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี   Panasonic Lumix G Fisheye 8mm f/3.5    1/60  ISO200
ส่วนตัวอยากได้อารมณ์ของแสงไฟเหมือนการสำรวจของของพวกสารคดีชีวิตสัตว์โลกเลยดำลงไปถ่ายตอนกลางคืน

มุมกว้างอีกภาพหนึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนบรรยากาศพาไปชมสีสันของตัวเล็กๆน้อยๆจากมุมมองมาโครกันบ้างครับ  เลนส์ ฟิชอาย 8 mm. F6.3 1/80 ISO200  ไฟแฟลชสองดวง   ภาพนี้ถ่ายที่โลซิน   เราอาจไม่คุ้นชื่อกับ เกาะโลซินเท่าไหร่นัก  โลซินจัดได้ว่าเป็นจุดดำน้ำที่เด็ดดวงอีกจุดหนึ่งทางใต้สุดของฝั่งอ่าวไทย  ทั่วๆไปโลซินไม่มีอะไรไปมากกว่าประภาคารกลางทะเลลึกแต่ทว่าใต้น้ำมีความใสพอๆกับทางฝั่งอันดามัน  และมีดงปะการังเขากวางที่กว้างใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเราเลยทีเดียว  

เข้าสู่โหมดมาโครแล้วนะครับ  ผมเหินฟ้ามายังประเทศอินโดนีเซียเพื่อมาดำน้ำดูสิ่งมีชีวิตตัวน้อยใต้น้ำโดยเดินทางไปประเทศสิงค์โปร์ก่อน  แล้วจึงต่อเครื่องของสายการบิน Silk Air มายังเกาะมานาโด  หลังจากรอตัวแทนของรีสอร์ทดำน้ำที่พาเรานั่งรถสองชั่วโมงกว่าๆเราก็มาถึงช่องแคบเลมเบห์อันมีชื่อเสียงของการดำน้ำแบบMuck Diveแปลเป็นไทยคือดำน้ำกับขยะนั่นเอง  อืม ฟังดูช่างไม่โสภาเท่าไหร่แต่ว่าจริงๆแล้วของเด็ดๆใต้น้ำที่นี่เพียบแน่นอน

ขอแนะนำตัวประหลาดสายพันธุ์แรกก่อนที่คุณจะสามารถใช้เวลาถ่ายรูปได้เป็นชั่วโมงอย่างเจ้าปลาหมึก  บอกได้เลยว่าเจอได้หลายชนิด  และแต่ละชนิดมีความพิเศษที่ไม่ซ้ำกัน  

เลนส์มาโคร  45 mm. F8 1/160 ISO200  ไฟแฟลชสองดวงเพื่อลบเงา และเปิดรายละเอียด  กล้องโฟกัสได้โอเคแม้ในกลางคืนส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราต้องมีไฟฉายช่วยในการดำน้ำกลางคืนอยู่แล้วแต่เอามาช่วยโฟกัสด้วยอีกที

นี่คือเจ้า Long Arm Octopus เป็นหมึกสายแขนยาว  ไม่ใช่สิ หมึกสายหนวดยาว  ยิ่งแปลยิ่งเพี้ยนชื่ออังกฤษก็บอกตรงตัวแบบนี้เลยล่ะครับดูแล้วหนวดหมึกยาวจริงๆ  ความสามารถไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากในใต้น้ำแต่ผมว่ามันดูเหมือนคนแก่ๆเครายาวๆเท่านั้นแหละ  อ้อ อาจจะมีวิธีหลบหนีศัตรูหรือซุ่มโจมตีเหยื่อโดยการมุดทรายดังภาพที่สอง
เลนส์มาโคร  45 mm. F8 1/200 ISO200  ไฟแฟลชสองดวง
ความชอบส่วนตัวที่เลือกมาดำน้ำที่นี่คือการได้เจอหมึกหลากหลายชนิดทั้งกลางวันหรือเวลากลางคืน หมึกที่เจอก็จะแตกต่างไม่เหมือนกัน  
หมึกกระดองขนาดประมาณหนึ่งข้อน้ิวก้อย เลนส์มาโคร  45 mm. f11 1/200 ISO200  ไฟแฟลชสองดวง

    Coconut Octopus ใช้กะลามะพร้าวหรือเอาเปลือกหอยมาบังปิดป้องกันตัว  เลนส์มาโคร  45 mm. f13 1/125 ISO200  หากไม่มีอะไรป้องกันก็จะแผ่กางหนวดทั้งหมดออกให้ดูตัวใหญ่เป็นที่เกรงขามของศัตรู    ในเวลาหากินหมึกก็จะแผ่หนวดเพื่อคลุมเหยื่อเช่นกัน
เลนส์มาโคร  45 mm. f16 1/125 ISO200

    หมึกนอกจากมีพฤติกรรมไม่เหมือนใครแล้วยังมีเทคนิคการเอาตัวรอดแบบน่าพิศวงด้วยก็น่าจะเป็นหมึกสาย Mimic Octopus  หรือหมึกจำแลง    มันจำแลงแปลงร่างได้หลายแบบเช่น ว่ายตัวลีบทำรูปร่างคล้ายปลาลิ้นหมา  หรือฝังๆตัวในทรายเหลือเพียงหนวดยื่นออกมาสองข้างลวดลายขาวสลับดำเป็นงูทะเลเป็นต้น บ้างก็ว่าว่ายน้ำเหมือนปลาสิงโตทะเล   ดีว่าได้เลนส์มาโคร 45 mm.(ระยะเทียบเท่า 90 mm.) มาใช้  จึงสามารถถ่ายภาพสัตว์น้ำได้ทั้งที่มีขนาดพอประมาณ หรือแม้กระทั่งเล็กๆได้  
โฉมหน้าหมึกจำแลงแปลงร่างด้านข้าง และด้านบน    เลนส์มาโคร  45 mm. f16 1/125 ISO200 นอกจากเปลี่ยนรูปแล้วยังเปลี่ยนสีด้วย
เลนส์มาโคร  45 mm. f16 1/125 ISO200      


                                    
      

ปลาการ์ตูนมีนิสัยดุ๊กดิ๊กไฮเปอร์ไม่อยู่น่ิงแต่การถ่ายภาพถ้าจะต้องไล่ตามหันกล้องซ้ายขวาทีก็จะทำให้พลาดจังหวะสำคัญ  เสียเวลาเพื่อโฟกัสตามให้ทันด้วย   ผมเลยปรับจากโหมดออโต้โฟกัสจากปุ่มด้านหลังตัวกล้องเลือกปุ่มใช้แมนนวลโฟกัส   หน้าจอlive view แสดงภาพขยายให้เห็นกอดอกไม้ทะเลมือหมุนปรับให้ชัดแล้วรอ พฤติกรรมของปลาการ์ตูนแม้ว่าจะอยู่ไม่สุกยังไงก็ต้องกลับมาที่ดอกไม้ทะเลเสมอ   ผมเลือกหน้ากล้อง f14 เพราะคิดว่าน่าจะครอบคลุมระยะชัดของปลาการ์ตูนได้แน่ๆ  เมื่อมีจังหวะปลาเข้าเฟรมที่ตั้งไว้ก็กดชัตเตอร์ได้อย่างทันท่วงทีโดยที่ไม่ต้องเสียจังหวะไปกับการให้กล้องโฟกัสภาพ
เลนส์มาโคร  45 mm. F16 1/100  ISO200

ถ้าถามว่าใต้น้ำใช้โหมดโฟกัสอะไรถ่ายมากที่สุดคงเป็น AF – Custom Multi เพราะว่าสามารถปรับขนาดของจุดโฟกัส และบริเวณที่จะโฟกัสได้  
เลือกโหมดออโต้โฟกัส แบบ Custom Multi บริเวณจุดตัดเก้าช่องมุมบนขวา เพื่อการโฟกัสลูกปลาวัวที่มีขนาดเล็กกว่าหนึ่งเซนติเมตรแถมว่ายไปมาตลอดเวลาให้อยู่ในโฟกัส  
เลนส์มาโคร  45 mm. F13 1/125  ISO200

ในสภาพแสงน้อยหลังจากตะวันลับฟ้าไปแล้วปราศจากแสงธรรมชาติใดๆใต้น้ำเป็นเวลาที่ปลาแมนดารินตัวผู้(ตัวใหญ่กว่า)จะจับคู่ผลมพันธุ์กับตัวเมียหลายๆตัว  ไกด์ใต้น้ำเพียงแสงไฟฉายเบาๆลอดนิ้วมือออกมาเพื่อให้การโฟกัสเป็นไปได้  กล้องก็ทำออกมาได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด    เลนส์มาโคร  45 mm. F20 1/160  ISO400  เพื่อชดเชยหน้ากล้องที่แคบลงจึงชดเชยแสงด้วยการเพิ่มISO และเพิ่มลดภาระของแฟลชในการชาร์จจะได้ยิงได้ไวขึ้น

ค้นพบว่าโหมดออโต้โฟกัส แบบ Pinpoint ผมว่ามันเหมาะมากสำหรับตัวที่เล็กจิ๋วมากๆ
ม้าน้ำแคระสายพันธุ์ Hippocampus bargibantiเป็นม้าน้ำขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมีความยาวไม่เกิน 2.4 cm.รวมหาง   ตัวที่ผมถ่ายคิดว่ามีขนาดเล็กมากคิดว่าส่วนหัวและตัวที่โผล่ออกมาจากกอกัลปังหาไม่น่าจะเกิน 1 เซนติเมตรผมจึงต้องใช้ Diopter ซึ่งเป็นเลนส์ขยายสำหรับถ่ายมาโครใส่ด้านหน้าพอร์ตอีกที   หลังจากที่ใช้กล้องถ่ายมาโครใต้น้ำมาสักพักผมคิดว่าการถ่ายมาโครด้วย AF Mode – Pinpoint ให้ผลดีมากและรวดเร็ว  สามารถเลือกโฟกัสให้ตาเป็นจุดโฟกัสได้ดีกว่าการใช้โหมดโฟกัสแบบอื่น     
หนึ่งในตัวประหลาดเพื่อทดสอบความสามารถในการโฟกัสตัวที่เล็กมากอย่าง Lembeh Sea Dragon ความยาวหัวถึงหางไม่เกิน 3 cm. และตัวบอบบางอย่าบอกใครเชียว

สรุปสั้นๆกล้องดีมากในแง่ของวีดีโอ 4K (กำลังจะนำเสนอในลำดับต่อไปครับ)  ภาพนิ่งให้คุณภาพดีเนื่องจากไม่มี low pass filter ภาพจึงคมและสามารถเอาไปพิมพ์งานได้อย่างสบาย   กล้อง+Housingมีขนาดเล็กลงจากที่ผมเคยใช้ทำให้สบายมือไม่มีปัญหาปวดมือเหมือนแต่ก่อน รวมถึงค่าน้ำหนักเวลาเดินทางด้วย 555  โอกาสหน้าจะนำเสนอภาพบนบกและวีดีโอ 4K ครับ    โปรดติดตามได้ในนี้หรือเพจ Noom Nautilus Photography สวัสดีครับ
ชื่อสินค้า:   Panasonic Lumix GH5
คะแนน:     

SR - Sponsored Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ SR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - ได้รับสินค้าหรือบริการมาใช้รีวิวฟรี โดยไม่ต้องคืนสินค้าหรือบริการนั้น
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่