ฝังชิปในมนุษย์

ดิจิเทรนด์ ฟอร์เวิร์ด : ฝังชิปในมนุษย์ โดยนายมะดัน

วันที่ 30 มิถุนายน 2561 - 08:22 น.


ฝังชิปในมนุษย์

ขณะที่บ้านเรากำลังเร่งเครื่องเต็มสูบเพื่อให้สอดรับกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยการนำร่องยกเลิกใช้ระบบถ่ายเอกสารบัตรประชาชน เพื่อใช้ชิปสมาร์ทการ์ดเต็มรูปแบบ แต่ที่ “สวีเดน 4.0” ในห้วงเวลาเดียวกัน ของเขาคือการเลิกพกบัตรประชาชน ใช้เทคโนโลยี ไมโครชิป แทน!!

ผ่านมาแล้ว 3 ปี ที่คนสวีดิชกว่า 3,000 คน ใช้ไมโครชิปด้วยวิธีการ “ฝัง” ลงในผิวหนัง หลังจากชิปมีขนาดเล็กลง เทียบเท่ากับเมล็ดข้าวสาร ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2015 อย่างไรก็ตาม การฝังไมโครชิปนั้น จะฝังลงบนมือ บริเวณเนื้อระหว่างกระดูกนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ โดยจะให้ความรู้สึกเจ็บเล็กน้อย เหมือนการเจาะหู หรือเจาะสะดือ อีกทั้งขั้นตอนทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยผู้เชี่ยวชาญ

การฝังไมโครชิปในคน ถูกยกระดับให้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะเข้ามาพลิกโฉมโลกแห่งอนาคตร่วมกับเทคโนโลยีสุดล้ำอื่นๆ ถึงกับคาดการณ์กันว่า ไม่แน่สุดท้ายแล้ว มนุษย์อาจต้องถูกควบคุมผ่านชิปเล็กๆ ที่ฝังไว้ตามร่างกาย ซึ่งเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบติดตามตัวอัจฉริยะ GPS การชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) การรับรู้ผ่านทางม่านตา เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีนำร่อง และปูทางไว้ให้กับเทคโนโลยีแห่งอนาคต คือ “ไมโครชิป” ที่ฝังอยู่ในร่างกายมนุษย์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

หน้าที่ของไมโครชิปเสมือน แท็ก (TAG) ที่สามารถบ่งบอกคุณลักษณะของวัตถุสิ่งของต่างๆ ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ถ้าไมโครชิปฝังอยู่ในตัวคน แท็กจะระบุได้ว่า เราเป็นใครจากการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ เหมือนกับเทคโนโลยีที่ใช้ในชิปการ์ดต่างๆ คล้ายกับชิปที่ถูกฝังในสัตว์เลี้ยงเพื่อระบุลักษณะ และติดตามการสูญหายได้

ดังนั้น ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องพกบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม บัตรประชาชนอีกต่อไป เมื่อทำธุรกรรมแค่ใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่ฝังไมโครชิปไว้เข้าใกล้เครื่องอ่านข้อมูล จะด้วยวิธีสัมผัส แตะ เดินผ่าน หรือแค่โบกมือเบาๆ ระบบจะเรียนรู้ทันทีว่าคุณคือใคร และอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล หรือปลดล็อกทำธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายดาย ทดแทน กุญแจ และบัตรประจำตัว ที่ผู้ใช้จะไม่มีทางหลงลืมแน่นอน

นายมะดัน
เครดิตมติชนออนไลน์




















     
  









  



.















































































































































































แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่