JJNY : เสดตะกิดดี๊ดี...ซี้จุกสูญ ลูกหนี้แบงก์รัฐผิดนัดชำระพุ่ง ธอส.ไม่ห่วงตั้งทีมติดตาม-เร่งประนอมหนี้

กระทู้คำถาม
เปิดตัวเลขหนี้ผิดนัดชำระกลุ่ม SM กลุ่มแบงก์รัฐ 6 แห่ง ไตรมาสแรกปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางเอ็นพีแอลที่ลดลง ธอส. เผยลูกหนี้กลุ่ม SM ขยับขึ้น เร่งส่งทีมประกบลูกหนี้ติดตามใกล้ชิด รับมีบ้างขาดส่งข้ามเดือน ลุยประนอมหนี้ มั่นใจเอาอยู่ไม่ตกชั้นเอ็นพีแอล “ฉัตรชัย” ปักธงสิ้นปีเอ็นพีแอลต่ำ 4% ดีกว่าเป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยรายงาน “SFIs Monthly Report” ฉบับล่าสุด เดือน มี.ค. 2561 ระบุว่า ตัวเลขหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน (SM) ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) มีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้น

โดยตัวเลข SM ณ ก.ย. 2559 อยู่ที่ 157,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 164,015 ล้านบาท
ในเดือน ธ.ค. 2559 จากนั้น ณ เดือน มี.ค. 2560 เพิ่มเป็น 165,107 ล้านบาท
ถัดมา ณ เดือน ก.ย. 2560 อยู่ที่ 171,892 ล้านบาท
ส่วนเดือน ธ.ค. 2560 อยู่ที่ 234,432 ล้านบาท
และตัวเลขล่าสุด เดือน มี.ค. 2561 อยู่ที่ 229,468 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.07% ของสินเชื่อรวมที่อยู่ที่ 4,635,789 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2561 ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีตัวเลข SM อยู่ที่ 2.99% หรือ 169,021 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า สถิติการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ สวนทางกับตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ลดลง จากเดือน ม.ค. 2561 อยู่ที่ 243,830 ล้านบาท หรือ 4.31% ลดเหลือ 242,091 ล้านบาท หรือ 4.26% ในเดือน ก.พ. 2561 และลดลงเหลือ 231,919 ล้านบาท หรือ 4.11% ในเดือน มี.ค. 2561

ส่วนสินเชื่อคงค้างในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเดือน ม.ค. 2561 อยู่ที่ 4,526,875 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นมาเป็น 4,550,465 ล้านบาท ในเดือน ก.พ.
และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,635,789 ล้านบาท ในเดือน มี.ค. 2561 ตามลำดับ

แหล่งข่าวจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตัวเลขหนี้ SM ของธนาคารมีเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้สูงจนเกินเกณฑ์ที่น่ากังวล เพราะธนาคารมีกลุ่มงานเฉพาะสำหรับดูแลลูกค้ากลุ่ม SM นี้อย่างใกล้ชิด เพราะในบางครั้งก็จะมีลูกหนี้ที่ชำระข้ามเดือนบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามที่จะไม่ให้เกิดปัญหากลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ที่จะกระทบต่อภาพรวม NPL ของธนาคารในปัจจุบัน

“วิธีการของเราจะมีทั้งกลุ่มงานที่เข้าไปติดตามลูกหนี้ให้ทำการผ่อนชำระ หรือรายลูกหนี้ที่มีปัญหาก็จะเข้าไปประนอมหนี้ ที่ผ่านมาก็มีบ้างที่ยึดทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพยายามดูแลลูกหนี้อย่างเต็มที่ ส่วนแผนการขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เมื่อช่วงต้นปีนี้ได้ขายไปแล้ว 1,700 ล้านบาท ปีนี้ทั้งปีธนาคารตั้งเป้าขาย 3,900 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เป็น SM ของธนาคารก็อาจมีบ้างบางส่วนที่ตกชั้น เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งถ้าดูเอ็นพีแอลที่มาจากสินเชื่อใหม่ พบว่ายังไม่ได้สูงกว่าตลาด โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.3% ของสินเชื่อรวม แต่อย่างไรก็ตามถือว่าอยู่ในระดับที่ธนาคารสามารถจัดการได้ตามแผนบริหารหนี้เสียโดยรวม เพราะในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ธนาคารมีแผนจะขายเอ็นพีแอลออกมาอีกราว 2 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้เอ็นพีแอลลดลงอีก 0.1% หรือเอ็นพีแอลจะลดลงมาเหลือต่ำกว่าระดับ 4% ได้ภายในสิ้นปีนี้

“ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ธนาคารมีเอ็นพีแอลต่ำกว่า 4% ได้ ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ด้วย เพราะปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายเอ็นพีแอลไว้ที่ 4.06% ของสินเชื่อรวม ซึ่งสินเชื่อรวมในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่ 1.89 แสนล้านบาท แต่ครึ่งปีแรกธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 1 แสนล้านบาท ถือว่าทำเข้าเป้าหมายเป็นปีแรกเลย” นายฉัตรชัยกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่