จูฬสัจจกสูตร ว่าด้วยสัจจกนิครนถ์ อัตตา อนัตตา เที่ยง ไม่เที่ยง และดับ

กระทู้สนทนา
ช่วงนี้มีกระทู้เกี่ยวกับ อัตตา และ อนัตตาที่เกี่ยวเนื่องด้วย " พระนิพพาน " พอดีมีโอกาสได้ติดตามอ่านมาหลายกระทู้ ช่วงที่อ่านทำให้นึกถึงเรื่องของ  สัจจกนิครนถ์กับพระพุทธเจ้าที่ได้ ถาม - ตอบ กันในเรื่อง อัตตา และอนัตตา ...ก็เลยอยากนำมาให้อ่านพิจารณากัน

แต่เรื่องนี้จะเกี่ยวอะไรกับ " พระนิพพานเป็นอัตตา  พระนิพพานเป็นอนัตตา   " ก็ขอให้พิจารณากันตามอัฒยาศัยครับ


เรื่องสัจจกนิครนถ์สนทนากับพระอัสสชิเถระ

             [๓๙๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี.
ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นนิคันถบุตร อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี เป็นนักโต้ตอบ พูดยก
ตนว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็นผู้มีความรู้ดี. เขากล่าววาจาในที่ประชุม
ชนในเมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์
แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา จะไม่
พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียว
เลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา
ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า.

             [๓๙๓] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิ นุ่งสบงแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาต
ในเมืองเวสาลี สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นนิคันถบุตร เดินเที่ยวยืดแข้งขาอยู่ในเมืองเวสาลี ได้เห็น
ท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ที่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ ได้ปราศรัย
กับท่าน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้วได้ถามท่านพระอัสสชิดังนี้ว่า ดูกรท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดม แนะนำพวก
สาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดม มีส่วนอย่างไร ที่เป็นไปมากในพวกสาวก.

             ท่านพระอัสสชิบอกว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำสาวกทั้งหลาย
อย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย
ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน
วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดูกร
อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มี
พระภาค มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย.


             สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า ดูกรท่านอัสสชิผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังว่า พระสมณโคดมมีวาทะ
อย่างนี้ เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้ฟังไม่ดีแล้ว ถ้ากระไร บางที ข้าพเจ้าจะพบกับพระสมณโคดม
ผู้เจริญนั้น จะได้สนทนากันบ้าง ถ้ากระไร ข้าพเจ้าจะพึงช่วยปลดเปลื้องพระสมณโคดม
เสียจากความเห็นที่เลวทรามนั้นได้.


สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาเจ้าลิจฉวี

[๓๙๔] สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ องค์ ประชุมกันอยู่ในอาคารเป็นที่
ประชุมด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ครั้นเข้า
ไปหาแล้วได้กล่าวกะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นดังนี้ว่า ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวี
ทั้งหลาย จงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักตั้ง
อยู่ตามคำที่ภิกษุชื่ออัสสชิ ซึ่งเป็นสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุด กระชาก
ลากถ้อยคำพระสมณโคดมมาด้วยคำข้าพเจ้า ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลังจับแกะอันมีขนยาวที่ขน
แล้วลากมาลากไป ฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนที่ทำการงานในโรงสุรา ซึ่งมีกำลัง วางเสื่อ
ลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึก แล้วจับที่มุมชักลากฟัดฟาดไปมา ฉะนั้น
ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดถ้อยคำพระสมณโคดมเสีย ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลัง ซึ่งเป็นนักเลง
สุราจับถ้วยที่หูแล้วสลัดไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนอย่างที่คนเขา
เล่นกีฬาชื่อสาณโธวิก (ซักป่าน) ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัยล่วงหกสิบปี จึงจะถอยกำลัง ลงสู่
สระโบกขรณีมีลำน้ำลึก แล้วเล่นกีฬาชนิดที่ชื่อว่าสาณโธวิก (ซักป่าน) ฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวี
ทั้งหลาย จงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับ
พระสมณโคดม.
             ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า เหตุอะไร พระสมณโคดม จักยก
ถ้อยคำของท่านสัจจกะได้ ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับยกถ้อยคำของพระสมณโคดมเสีย บางพวก
กล่าวว่า ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงจักยกถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาค
กลับจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะเสีย. ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ มีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐
ห้อมล้อมแล้ว เข้าไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน.

             [๓๙๕] สมัยนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง. ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์
เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้ว ถามว่า ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ พระสมณโคดมนั้นอยู่ที่ไหน พวก
ข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดมนั้น. ภิกษุทั้งหลายนั้นบอกว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มี
ภาคพระองค์นั้น เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน ประทับพักกลางวัน ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. ลำดับนั้น
สัจจกนิครนถ์พร้อมด้วยพวกเจ้าลิจฉวีมีจำนวนมาก เข้าไปสู่ป่ามหาวันจนถึงที่ที่พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แม้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายนั้น บางพวกถวายอภิวาท บางพวก
ทูลปราศรัย บางพวกประนมมือ บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน ในสำนักพระ
ผู้มีพระภาค บางพวกก็นิ่งอยู่ ครั้นแล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.


สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา

[๓๙๖] สัจจกนิครนถ์พอนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าพเจ้าขอถาม
พระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าพระโคดมจะทำโอกาสเพื่อแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า.
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด ก็ถามเถิด.
             ส. พระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระโคดมมีส่วนอย่างไร
ที่เป็นไปมากในพวกสาวก?


             พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรามี
ส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน
สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวง
ไม่ใช่ตน ดังนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรามีส่วน
อย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย.


             ส. ท่านพระโคดม ขออุปมาจงแจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า?
             พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด.

             ส. ท่านพระโคดม เหมือนพืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่ถึงความเจริญงอกงาม
ไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมด ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความ
เจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้ หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ต้องทำด้วยกำลัง อัน
บุคคลทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องตั้งอยู่บนแผ่นดิน
จึงทำกันได้ ฉันใด ปุริสบุคคลนี้ มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขาร
เป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้
ประสบผลบุญ ผลบาป ฉันนั้น.


             พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ข้อนั้นท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็น
ตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเรา
ดังนี้ มิใช่หรือ?


             ส. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนั้น.
             พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากนั้นจักทำอะไรแก่ท่าน ดูกรอัคคิเวสสนะ
เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด.

             ส. ท่านพระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ รูปเป็นตนของเรา เวทนา
เป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเรา
ดังนี้.



(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่