GLOW ตาอิน กับตาอยู่ โดย อีหล่าน้อย เว็บ Share2Trade

http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=2968
    เอ่ยชื่อบบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน)หรือ GLOW นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากส่ายหน้า เพราะบริษัทผลิตไฟฟ้าแบบทันสมัยที่เรียกว่า โคเจเนอเรชั่น(ขายทั้งไฟฟ้าและไอร้อนป้อนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม)ถือเป็นบริษัทที่"รวยเงียบ"มานานกว่า 2 ทศวรรษ ไม่ค่อยมีเรื่องราวให้พูดถึงนัก ทั้งๆที่เป็นหุ้นพื้นฐานที่มีอัตราเติบโตและทำกำไรสวยหรูรายหนึ่ง
    มาเป็นข่าวใหญ่ล่าสุดเดือนนี้ ตอนที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จากฝรั่งเศส (แต่ตั้งสำนักงานใหญ่ในเนเธอร์แลนด์)ชื่อย่อว่า กลุ่ม เอ็นจี (Engie) ชื่อเต็มว่า ENGIE GLOBAL DEVELOPMENTS B.V. ซึ่งเป็นกลุ่มการเงินที่ดำเนินธุรกิจจัดหาเงินกู้ให้ธุรกิจพลังงานทั่วโลก กำลังคิดจะถอนตัวออกจากธุรกิจที่ลงทุนในไทยชนิด"ขายทิ้งทั้งหมด ไม่เหลือหรอทั้งหมด 69.11% ทั้งในนามบริษัทแม่และเครือข่าย รวมทั้งนอมินีทั้งหลาย

    ในมุมของนักการเงิน การลงทุนที่ยาวนานแล้วสามารถขายกิจการได้ในขณะที่มีช่วงเวลาสูงสุดของธุรกิจ นอกจากเป็นการทำกำไรดีเยี่ยมแล้ว ยังเป็น"กลยุทธ์ถอนตัว"หรือ Exit Strategy ที่สุดยอด

    Engie เข้ามาซื้อกิจการไฟฟ้าใน บริษัทเดิมชื่อว่า “บมจ. เดอะ โคเจเนอเรชั่น” (COCO) ต่อมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมบริษัท สุเอซ แทรกเตอเบล เอส.เอ. ในปลายปี 2547 นี้เอง หลังจากบริษัทนั้นได้เพิกถอนหุ้นของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วดำเนินการปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในกลุ่ม ก่อนกลับเข้าจดทะเบียนในชื่อใหม่ ในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน 2548 แล้วมีอัตรากำไรสุทะิดีเด่นมาตลอดไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 20%เศษทีเดียว

    สัญญาณที่สะท้อนว่า Engie ต้องการถอนตัวจาก GLOW มีมานานแล้ว เนื่องจาก 3-4 ปีที่ผ่านมา GLOW ไม่มีการลงทุนเพิ่มเลย มีแต่จ่ายปันผลงาม เพราะอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง Engie สูบเงินจ่ายปันผลแบบเต็มๆ

    ที่สำคัญอนาคตของ GLOW เริ่มมีคำถาม เพราะเหตุว่า การต่ออายุโรงไฟฟ้าที่กำลังจะหมดสัญญา(หรือหมดไปแล้ว?) ขายไฟให้กับ กฟผ. มีปัญหา ถูกบีบคั้นให้อาจต้องลดจำนวนเมกะวัตต์ลง เพราะพื้นที่ในนิคมสำคัญภาคตะวันออก กำลังจะมีกำลังผลิตของ Gulf กว่า 5,000 เมกะวัตต์ เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง

    ปรากฎข่าวลือว่า คนที่สนใจซื้อได้แก่บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท.นั่นเอง

    ตามหลักธุรกิจแล้ว การซื้อกิจการแบบฉันมิตร(หรือฉันอื่นๆ) ไม่ใช่เรื่องแปลก ยิ่งหากคนขายเต็มใจจะขายด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีปัญหา เจรจากันได้ แต่ต้องเงียบๆ เพราะหลักการ"Making a Deal"นั้นการรักษาความลับระหว่างการเจรจา มันมีโอกาสทำให้ดีลเจรจามีสิทธิ์ล้มเหลวสูงมาก

    แล้วก็เป็นอย่างว่า เมื่อมีข่าวลือ ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องก็ต้องวิ่งเพราะเก็งกันว่าราคาที่ดีลจะจบลงนั้นจะอยู่ที่ไหน

    ราคาที่จบดีลนั้นสำคัญตรงที่ว่า มันจะกลายเป็นราคาที่ทางฝ่ายผู้ซื้อจะต้องทำคำเสนอซื้อ หรือเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ตามกติกาทั่วไป

    ข่าวลือที่ออกมา และทำให้ราคาหุ้น GLOW กระโดดแรงในสองสัปดาห์นี้จากระดับ 83  บาท พุ่งไปที่ระดับ 91-92  บาท เพราะคาดว่าอัพไซด์จะค่อนข้างสูง

    นักวิเคราะห์ขาเชียร์บางสำนัก ระบุว่า ราคาอาจจะตกลงกันได้ที่ 104 บาท แต่ก็มีพวกคัดค้านบอกว่าแพงเกิน ราคาเหมาะสมควรจะไม่เกิน 80 บาท หากเทียบกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นล่าสุด 35.54 บาท

    ตัวเลขจินตนาการเหล่านี้ ล้วนเป็นการคาดเดาทั้งสิ้นของพวก"อวดรู้"นอกโต๊ะเจรจา โดยมีข้อสังเกตน่าสนใจว่าข่าวลือที่ออกมานี้ มีเจตนาอำพรางค่อนข้างชดเจนว่า ต้องการล้มดีล

    เบื้องหลังเบื้องลึกของคนที่อยากล้มดีล(ซึ่งหนีไม่พ้น คนที่ตั้งใจปล่อยข่าวรั่วออกมา นั่นเอง ซึ่งไม่รู้เป็นใคร และมีเป้าหมายอะไร)นั้น ถือเป็นความลับพอสมควร  (และไม่จำเป็นต้องสืบค้นหา เพราะเสียเวลาเปล่า) แต่เดาเจตนาไม่ยากว่า มีเป้าหมาย 2 ด้านพร้อมกันแบบ"ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว"คือ 1) กดราคารับซื้อให้ต่ำกว่าที่เสนอขาย 2) ล้มดีลครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดดีลใหม่กับรายอื่นในภายหน้า เพราะเสียราคาไปแล้ว หากจะขายครั้งต่อไป ต้องเงื่อนไขต่ำกว่าเดิม

    ที่น่าสนใจคือ แทนที่คู่เจรจาอย่าง Engie กับ GPSC จะปล่อยให้สถานการณ์อึมครึมต่อไป บริษัทแม่ของ GPSC กลับมีการออกโรงมาสยบข่าวลือในเวลาต่อมา..อย่างผิดมารยาทที่ต้องรักษาความลับจนกว่าจะรู้ผลก่อน

    วันที่ 18 มิถุนายน ฝ่ายบริหารของ ปตท. แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.61 มีมติสนับสนุน GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูก ในการเข้าทำธุรกรรมการได้มาซึ่งหุ้นใน GLOW ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวนทั้งสิ้น 1,010,976,033 หุ้น (คิดเป็นร้อยละประมาณ 69.11 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด) จากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ GLOW และธุรกรรมการทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ GLOW อีกจำนวนทั้งสิ้น 451,889,002 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 30.89 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด) รวมเรียกว่า "ธุรกรรมการได้มา"

    เนื่องจากดีลนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาสัญญาซื้อขายหุ้น ยังไม่มีข้อยุติ ปตท. ได้ขอให้ผู้ลงทุนใช้วิจารณญาณในการใช้ข้อมูลตามข่าวที่เผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ และแนะนำให้รอการเปิดเผยข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องภายหลังจากที่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนแล้ว

    การออกข่าวของ ปตท. เกิดขึ้นไล่เรี่ยกับข่าวและพาดหัวน่าตกใจ บนหน้าสื่อบางฉบับว่า "GLOW ขายไฟเถื่อน" ที่ทำให้ผู้บริหารของ GLOW นั่งไม่ติดเก้าอี้กันเลยทีเดียว ต้องออกมาชี้แจง

    GLOW ชี้แจงว่า ข่าวเรื่องขายไฟเถื่อนเป็น "การกล่าวหาและบิดเบือนข้อเท็จจริง'ทั้งที่ โดยบริษัทได้เปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ไว้ในเอกสาร 56-1 สำหรับปี 2560 และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวโยงใยเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าระยะที่ 2 โครงการ 1 ของบริษัท (โครงการ)

    กรณีที่เกิดขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าของ GLOW ตามสัญญาขายไฟระยะแรก ยังคงจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามข้อตกลง และแนวทางตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโครงการนี้เป็น 1 ใน 25 โครงการที่มีรายชื่ออยู่ในเอกสารนำเสนอและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เพียงแต่ "...กฟผ. และบริษัทมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องวันสิ้นสุดอายุสัญญาซึ้อขายไฟฟ้าของโครงการ ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และหากได้คำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการเป็นอย่างใด บริษัทพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดอย่างเคร่งครัด..."

    ชี้แจงออกมาแล้ว GLOW ยังทิ้งท้ายว่า "บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับสื่อ และ/หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบิดเบือนข้อมูลที่เผยแพร่ออกสื่อดังกล่าว" ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไร เพราะเป้าหมายหลักของกรณีนี้คือ การเจรจาขายกิจการ GLOW ในมือEngie ในราคาที่ต้องการมากกว่า

    กลุ่ม Engie ต้องการขายธุรกิจแน่ๆ เหลือแต่ราคาว่าจะได้ตามที่ GPSC จะต่อรอง เพราะทางผู้ซื้อก็คงอยากได้ที่ราคาและเงื่อนไขดีสุดเช่นกัน

    เหตุผลคือ ถ้าดีลนี้ถ้าจบที่ราคา 90 บาท/หุ้นขึ้นไป กลุ่ม Engie ของฝรั่งเศสก็หอบเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาทกลับไป น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ส่วน GPSC ก็จะโตก้าวกระโดดจากปริมาณผลผลิตไฟของ GLOW ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 3,188 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำทั้งสิ้น 1,206 ตันต่อชั่วโมง กำลังผลิตน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 5,482 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และ กำลังการผลิตน้ำเย็น 3,400 ตันความเย็น (ไม่นับที่อนาคตของ GPSC จะเป็นเครื่องมือของกลุ่ม ปตท. เพื่อให้มีการใช้ก๊าซที่กลุ่มขาย) ..ที่สำคัญ GLOW มีอัตรากำไรสุทธิสูงกว่าGPSC ค่อนข้างโดดเด่น สามารถเสริมแรงได้ดีในระยะยาว

    เพียงแต่งานนี้ GPSC คงต้องเตรียมใช้เงินไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านในการทำดีลให้ตลอดรอดฝั่ง

    แม้จะไม่มีปัญหาทางการเงินหรือสภาพคล่องมากนัก แต่ตามกติกาแล้ว การซื้อกิจการแบบ "ปลาเล็กกินปลาใหญ่"ของ GPSC อาจะทำให้โอกาสเพิ่มทุนสูงขึ้น

    ยกเว้น ในกรณีดีลล่ม

    คำถามของดีล GLOW - GPSC ยามนี้และจากนี้ไป จึงอยู่ที่ว่า ใครจะเป็นตาอินกับตานา และใครจะเป็นตาอยู่

///////////////////////////////
ขอบคุณบทความจาก www.facebook.com/Share2Trade/
http://www.share2trade.com

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่