รถไฟความเร็วสูงขยับ เปิดขายซองทีโออาร์วันแรก เอกชนยักษ์ใหญ่ไทย-เทศขานรับคึกคัก

เริ่มมีความคืบหน้าก้าวแรกกันแล้ว กับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ที่เปิดขายซองเอกสารประกวดราคา หรือ ทีโออาร์ เป็นวันแรกเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย. 2561) โดยตลอดทั้งวันมีเอกชนรายใหญ่ ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศกระตือรือร้น มาซื้อซองเอกสารไปศึกษารายละเอียดกันทั้งหมด 7 ราย ได้แก่


1.    บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ประกอบธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ คาดว่า BTS พร้อมจะยื่นซองประมูลร่วมกับพันธมิตรในนามกลุ่ม BSR ที่ประกอบด้วย BTS, บมจ.ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง
2.    บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือCP ซึ่งเป็นที่คาดกันว่า CP พร้อมจะร่วมลงทุนในโครงการนี้ร่วมกับพันธมิตรจากทั้งไทย จีน และญี่ปุ่น
3.    บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างครบวงจร ที่มีความชำนาญในงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ หรือใช้เทคนิคขั้นสูง รับงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศมากมาย เช่น ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงต่อขยาย
4.    บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจก่อสร้างที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านงานก่อสร้างสะพาน ทางยกระดับ และอุโมงค์ทางลอด รวมทั้งงานด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันมีงานก่อสร้างอยู่กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สัญญาที่ 4 งานโยธายกระดับ ช่วงสถานีบ้านม้า-สถานีสุวินทวงศ์ และสัญญาที่ 6 งานระบบราง
5.    บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นฝ่ายละ 50%
6.    บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทการค้าชั้นนำระดับโลกในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว มีบริษัทในเครือกว่า 130 แห่งใน 65 ประเทศทั่วโลก ดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ เช่น สิ่งทอ เครื่องจักร โลหะเกลือแร่ พลังงาน เคมีภัณฑ์ อาหาร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย บริการโลจิสติกส์ การก่อสร้างและการเงิน ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก
7.    บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน ทำธุรกิจด้านการก่อสร้าง ออกแบบสำรวจ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ เช่น พลังงาน คมนาคม โยธา เหมืองแร่ และอสังหาริมทรัพย์ เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งมีโครงการในพม่า ลาว และไทย ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการของการไฟฟ้านครหลวง ในการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าในอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน

เมื่อดูทรงแล้ว คาดว่างานนี้ยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างน้อย 2 รายที่จะยื่นซองประกวดราคาแน่ ๆ คือฟากฝั่ง BTS ซึ่งก่อนหน้านี้ออกตัวพันธมิตรจากในประเทศทั้งหมด และอีกฝั่งจาก CP ซึ่งจะเป็นลูกผสมทั้งไทย จีน และญี่ปุ่น ส่วนปตท.นั้นเข้าใจว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเข้าไปร่วมกับผู้ลงทุนหลักรายอื่น โดยทั้ง BTS และ CP ต่างยินดีอ้าแขนรับ

ไม่ว่าเอกชนยักษ์ใหญ่รายใดจะเข้ามาจับมือเป็นพันธมิตรกันเพื่อดำเนินโครงการนี้ ก็มั่นใจได้ว่าต่างฝ่ายต่างต้องหาขุมกำลังที่แข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมเดินทัพไปด้วยกันแน่ มาดูจุดอ่อนจุดแข็งของยักษ์ใหญ่ทั้งสองฝ่ายกันแบบเผิน ๆ ก่อน (อันนี้ไม่ได้วิเคราะห์เอง เจอมาจากกลุ่มการเมืองในเฟซบุ๊ก)


อย่างที่รู้กันว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และใช้เวลาในการคืนทุนยาวนาน ดังนั้น สถาบันการเงินในประเทศก็ต้องคิดหนักในการให้กู้ จึงอาจจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหรือทุนจากต่างประเทศ

ส่วนทางด้านการก่อสร้าง ก็ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ซึ่งบริษัทในเมืองไทยที่จะเข้ามาลงทุน ต่างไม่มีประสบการณ์ตรงด้านนี้ทั้งสิ้น แม้กระทั่ง BTS เองก็ยังไม่มีประสบการณ์ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงโดยตรง เพราะที่ทำอยู่เป็นเพียงรถไฟฟ้าความเร็วปกติ เมื่อดู ๆ จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศ

แต่จะให้ดีหากบริษัทไทยหรือยักษ์ใหญ่ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้ก็จะสวยเลยทีเดียว รอลุ้นกันเดือนพฤศจิกายนว่าใครจะจับมือกับใครเข้าประมูล

ไทม์ไลน์การประมูล

-    ขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ 18 มิ.ย. – 9 ก.ค. 2561 เวลา 9:00 – 12:00 น. และเวลา 13:00 – 15:00 น. (เอกสารขายชุดละ 1 ล้านบาท)
-    23 ก.ค. ประชุมชี้แจงครั้งที่ 1  
-    24 ก.ย.ประชุมชี้แจงครั้งที่ 2
-    24 ก.ค. พาลงพื้นที่  

-    10 ก.ค. – 9 ต.ค. เปิดรับคำถามจากเอกขน
-    กำหนดให้ยื่นซองประกวดราคา 12 พ.ย. เวลา 09:00 – 15:00 น.    
(ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับการซื้อซองเอกสารข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท และต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่ ร.ฟ.ท.เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท)

-    13 พ.ย. กำหนดเปิดซองผู้ยื่นข้อเสนอ
(มีทั้งหมด 4 ซอง คือ 1. ซองคุณสมบัติทั่วไป 2. ซองเทคนิค 3. ซองเสนอราคา และ 4. ซองข้อเสนอพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการทั้งหมด)
-    ใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน
(หลักการคัดเลือก คือ ข้อเสนอที่จะให้รัฐร่วมลงทุน ซึ่งกรอบไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาทนั้น หากรายใดเสนอต่ำสุดจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือก)
-    ประกาศผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุด หรือให้รัฐลงทุนน้อยสุดเป็นผู้ชนะประมูลในเดือนธ.ค.
-    เมื่อสรุปผลประกวดราคาจะเสนอครม.อนุมัติ และลงนามสัญญาได้ในต้นปีหน้า


---------------------------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่