การที่ไพร่ ทาส หรือคนธรรมดาเลื่อนขั้น หรือรับบรรดาศักดิ์ต้องทำอย่างไรในระบบขุนนางกรุงศรีอยุธยาครับ?

แล้วที่อื่นอย่าง ยุโรป ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ที่มีระบบฟิวดัล (Feudalism) หรือศักดินาอย่างไรเหมือนกันรึเปล่าครับ? เทียบกันแล้ว กรุงศรี ยุโรปยุคกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่นที่ไหนสามารถเลื่อนขั้น หรือยกระดับได้ง่ายที่สุดครับ? แล้วในแต่ละประเทศระดับศักดินา หรือบรรดาศักดิ์ที่จัดว่าต่ำที่สุดคืออะไร หรือไร่เท่าไหร่ครับ? รู้แต่ว่าอัศวินจัดว่าเป็นขุนนางที่ต่ำที่สุด(ถูกไหม?)
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 10
ธรรมเนียมการตั้งข้าราชการนี้มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาถูกอ้างถึงอยู่ในพระราชกำหนดเก่า พ.ศ.๒๒๘๓ รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยระบุว่าผู้ที่จะรับราชการเป็นข้าราชการนั้นต้องมีคุณสมบัติคือ คุณานุรูป วุฒิ ๔ อธิบดี ๔ ดังนี้

คุณานุรูป คือ เป็นผู้มีบุคลิกลักษณะดี เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และเป็นที่เคารพของไพร่ฟ้า

วุฒิ ๔ ได้แก่
-ชาติวุฒิ คือ เป็นเชื้อสายตระกูลอัครมหาเสนาบดีสืบต่อกันมา
-วัยวุฒิ คือ มีอายุ ๓๑ ปีขึ้นไป
-คุณวุฒิ คือ มีความรู้เชี่ยวชาญทั้งการทหารและพลเรือน
-ปัญญาวุฒิ คือ มีความฉลาดรอบรู้สามารถแก้ไขปัญหาและประยุกต์ใช้ในทางราชการ

อธิบดี ๔ ประยุกต์มาจากหลักอิทธิบาท ๔ ของพระพุทธศาสนาได้แก่
-ฉันทาธิบดี คือ ถวายสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินประสงค์
-วิริยาธิบดี คือ มีความเพียรในราชการ
-จิตตาธิบดี คือ มีกล้าหาญในศึกสงคราม
-วิมังสาธิบดี คือ ฉลาดการพิพากษาคดีความและอุบายในราชการต่างๆ

แต่ในทางปฏิบัตินั้นยากจะได้คนที่มีความสามารถตามที่ระบุไว้ทุกประการ ในพระราชกำหนดจึงมีการผ่อนผันว่า “แม้นแต่สองประการสามประการก็ภอจะเอาเปนที่พระหลวงขุนหมื่นตามสมควร”

ถ้าใครที่ไม่มีวุฒิ ๔ และอธิบดี ๔ เลยแม้แต่อย่างเดียวก็หมดสิทธิ
“ถึงคุณาสมควรก็ดี อย่าให้สมุหกลาโหมสมุหนายกจัตุสดมกราบทูลพระกรุณาแต่งตั้งผู้นั้นเปนพระหลวงขุนหมื่นเปนอันขาดทีเดียว”


ธรรมเนียมเหล่านี้ในทางปฏิบัติใช้ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง เพราะก็ยังปรากฏการใช้สินบนหรือเส้นสายความใกล้ชิดกับมูลนายเพื่อจะมีตำแหน่งทางราชการได้ บางคนทำการค้าเปิดซ่องโสเภณี นายซ่องก็นายได้ยศเป็นขุนนางได้โดยต้องจ่ายภาษีให้กับส่วนกลาง

คุณสมบัติที่น่าจะปฏิบัติใช้ได้จริงและชี้วัดได้ง่ายที่สุดคือ ‘ชาติวุฒิ’ เพราะผู้ที่ได้รับราชการหรือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด จะถูกผูกขาดโดยตระกูลขุนนางซึ่งได้สั่งสมอำนาจบารมีมาหลายชั่วคน ซึ่งปรากฏส่งเสริมให้เครือญาติได้มีอำนาจในการปกครองและได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป โดยมากจึงมักปรากฏว่าเครือญาติมักได้รับราชการอยู่ในกรมเดียวกัน โดยมักจะเริ่มจากการถวายบุตรหลายให้เป็นมหาดเล็กรับใช้เจ้านายก่อน

ตำแหน่งมหาดเล็กนั้นมีความสำคัญอยู่ในฐานที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน เป็นที่ไว้วางพระทัยต่างพระเนตรพระกรรณได้ และถ้าจะพ้นตำแหน่งมหาดเล็กไปก็มักโปรดไว้ให้รับราชการในตำแหน่งสำคัญเสมอ ซึ่งก็สมดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

"กรมมหาดเล็กนี้เปนกรมสำคัญยิ่งกว่ากรมอื่น ๆ ถึงตัวนายที่ได้รับสัญญาบัตรจะมีศักดินาน้อย ก็เปนที่ยำเกรงนับถือของคนทั้งปวงมาก กว่าขุนนางซึ่งมีศักดินาสูง ๆ กรมอื่น ๆ ด้วยเปนเหตุที่เปนบุตรขุนนางมีตระกูลประการหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะเปนอย่างไรต่อไปประการหนึ่ง เปนผู้ใกล้เคียงได้ฟังกระแสพระราชดำรัสแน่แท้ประการหนึ่ง เปนผู้เพดทูลได้ง่ายประการหนึ่ง จึงได้มีเกียรติยศเปนที่นับถือมาก"


ชาติวุฒิ ถือเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับชนชั้นปกครองอย่างไพร่และทาส ซึ่งถูกถือว่ามีชาติตระกูลต่ำหรือ ‘หินะชาติ’ ไม่มีความรู้ธรรมเนียมราชการ จึงถูกห้ามมาเป็นมหาดเล็กถวายงานใกล้ชิดอย่างเด็ดขาด ดังที่พระราชกำหนดระบุไว้ว่า

“อนึ่งถ้าผู้ใดหากระกูลมีได้  เปนหินะชาติเปนทาษผู้มีชื่อใช้สอยอยู่แล้ว  ครั้นเล่นเบี้ยได้ก็ดี  จะได้เงินแห่งใดมาเสียแก่เจ้าเงินมาเสียแก่เจ้าเงินแล้ว ๆ มาติดสอยบนบานฃอเปนมหาดเลกชาวที่นั้น  อย่าให้รับเอาบังคมทูลพระกรุณาถวายให้เปนอันขาดทีเดียว  เหดุว่ามิได้เคยสู่พระราชสถาน  ด้วยว่าพระราชสถานนั้นกอปรด้วยเครื่องประดับประดาอลังการทังปวงเปนที่ห้ามแหนบุคละจะได้เหนเปนอันยาก

อนึ่งพระสุระเสียงแลองคพระมหากระษัตรเจ้านั้นยากที่บุคลจะได้ยินเหน  ครั้นเปนคนหินะชาดิได้เหนพระราชสถานแลองค์สมเดจ์พระมหากระษัตรเจ้าและได้ฟังพระสุระเสียง  อันมิควรจะได้เหนได้ฟังนั้น  ก็มีใจกำเริบมัวเมาไป  ก็สำคัญว่าอาตมาจะได้เปนใหญ่  ครั้นออกจากพระราชสถานแล้ว  ก็จะนำเอาการในเปนการนอก แลทนงองอาจ์อวดอ้างว่าเฝ้าแหนพิดทูลได้  ก็ย่ำยีเบียดเบียนราษฎร ๆ จะได้ความแค้น”




แต่ไม่ใช่ว่าไพร่สามัญชนจะไม่มีโอกาสจะเป็นเป็นขุนนาง ปรากฏในพระไอยการอาชญาหลวงกล่าวถึง "ไพร่มาเปนหมื่นพันจ่าเสมียร" แปลว่า ไพร่มีโอกาสที่จะเริ่มต้นรับราชการในตำแหน่งระดับล่างได้ คือเป็น เสมียน จ่า พัน และอาจเป็นขุนได้ด้วย และก็อาจมีโอกาสไต่เต้าไปได้สูงขึ้นอีก


สำหรับช่องทางที่ไพร่จะเป็นขุนนางได้

- เป็นที่ไว้วางใจใกล้ชิดอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ หรือขุนนางผู้ใหญ่ ข้อนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เจริญก้าวหน้าในราชการได้มากที่สุด

- เลือกอยู่ถูกข้างในศึกชิงอำนาจ แม้เป็นไพร่ไร้บรรดาศักดิ์ถ้าได้ช่วยเหลือนายชิงอำนาจหรือเป็นข้าหลวงเดิมมาแต่ก่อนก็มีโอกาสได้เป็นใหญ่ เช่น เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๑ ทรงขึ้นครองราชย์ รายชื่อข้าราชการวังหลวงที่ตั้งใหม่จำนวนมากเป็นผู้ไม่มีบรรดาศักดิ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นถึง "พระยา" หรือในรัชกาลพระเพทราชา ทรงตั้งนายบุญมากข้าหลวงเดิมผู้มีความชอบให้เป็นเจ้าพระยาวิชิตภูบาล พระราชทานเครื่องสูงให้ครองวังหลัง

- มีความสามารถเฉพาะด้าน  เช่น มีวิชาการต่อสู้จนมูลนายเห็นฝีมือก็อาจถูกดึงตัวไปรับราชการในกรมกองที่เกี่ยวกับทหาร โดยอาจได้เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยเห็นหัวหมู่นายกอง รู้ภาษาต่างประเทศ(โอกาสน้อย)ก็อาจได้เป็นล่ามในกรมท่า  นักมวยที่มีฝีมืออาจจะได้รับราชการในกรมทนายเลือก ผู้เป็นควาญช้างหมอช้างอาจได้รับราชการในกรมพระคชบาล ช่างฝีมือแขนงต่างๆ อาจได้รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ แต่ความสามารถหลายอย่างมักสืบทอดความรู้กันในตระกูล คนนอกยากจะเรียนรู้ได้

- รู้หนังสืออ่านออกเขียนได้โดยเรียนจากวัด มีโอกาสเริ่มต้นรับราชการจากเป็นเสมียน

- บวชเป็นพระสงฆ์จนมีความรู้พระธรรมหรือรู้หนังสือมีโอกาสที่จะสึกออกมารับราชการใน กรมลูกขุน กรมอาลักษณ์ กรมธรรมการ กรมราชบัณฑิต กรมสังฆการี จนในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีเหตุว่าพระสงฆ์เที่ยวประจบเจ้าและขุนนางหวังจะให้ช่วยสึกมารับราชการในกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า จนรัชกาลที่ ๔ ต้องทรงมีประกาศห้ามเด็ดขาด ทรงกำหนดว่าชาววัดควรเป็นขุนนางได้แค่ ๕ กรมแรกที่กล่าวมาเท่านั้น

- ทำราชการสงครามมีความดีความชอบ ซึ่งต้องเป็นความชอบสำคัญจริงๆ เช่น ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าพลราบสามารถช่วยให้ชนช้างชนะข้าศึกได้ หรือสามารถตัดช่องโจมตีทัพทะลวงฟันข้าศึกจนแตกพ่าย หรือไปสู้ศึกตัวต่อตัวรอดมาได้พร้อมกับยึดอาวุธศัตรูมาด้วย จะได้เลื่อนเป็นขุน

- ทำความดีความชอบถวายของมงคลให้ราชสำนัก เช่น นายอานชุยคล้องช้างเผือกได้ส่งมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้เลื่อนเป็น "ขุนคเชนทรไอยราวิสุทธิราชกริณี" ได้รับพระราชทานเจียดเงินเหลี่ยมเกลี้ยงเครื่องทองสำรับหนึ่ง เงินตรา ๒ ชั่ง ผ้าลายสรรพางค์ไหมลายปูม และเสื้อแพรสำรับหนึ่ง ภรรยานายอานชุยได้รับพระราชทานครอบเงินกลีบบัวหนัก ๑๐ ตำลึง เครื่องเงินสำรับหนึ่ง และเงินตราชั่งหนึ่ง ผ้าท้องขาวเชิงชายเขียนสำรับหนึ่ง

- ทำธุรกิจที่ต้องแบ่งผลกำไรหรือหาผลประโยชน์เข้าหลวง เช่น ปรากฏในบันทึกของลาลูแบร์ว่า เจ้าของโรงโสเภณีในยุคนั้นได้มีบรรดาศักดิ์เป็น "ออกญามีน" หรืออาจเป็นนายบ้านหรือหัวหน้าชุมชนที่รับผิดชอบควบคุมส่งของป่าต่างๆ ก็อาจได้มีบรรดาศักดิ์

- ติดสินบนหรือวิ่งเต้นหาเส้นสายเพื่อดึงตนเองเข้าสู่ระบบ เช่น พระเจ้ากรุงธนบุรีในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับปลีกระบุว่า เดิมทรงเป็นเพียงพ่อค้าเกวียน แต่เข้าไปช่วยเหลือกรมการเมืองตากชำระถ้อยความราษฎรอยู่เนืองๆ จนเจ้าเมืองตากถึงแก่กรรมจึงลงมาอยุทธยาติดต่อกับคนรู้จักให้ช่วยเดินเรื่องจนได้เป็นเจ้าเมืองตากแทน


สำหรับทาส โอกาสน้อยกว่าไพร่เยอะมากครับ เพราะไม่มีอิสระเลยจึงยากจะมีโอกาสหาช่องทางรับราชการได้ นอกเสียจากว่านายเมตตามากจริงๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่