อาจารย์ในต่างประเทศ ต่างจากประเทศไทยมั้ย ?

เงื่อนไข สมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
ของต่างประเทศ แตกต่างจากประเทศไทยมั้ยครับ

เพราะประเทศไทย
อาจารย์จำนวนมากไม่มีประสปการณ์ทำงาน
เรียนจบ ป.โท-เอก ก็สมัครเป็นอาจารย์ได้เลย

บางคนหางานทำไม่ได้ ก็เรียนต่อเพื่อฆ่าเวลา
เรียนจนถึง ป.เอก พออายุเกิน แต่ประสปการณ์ทำงานไม่มี
ก็กลายเป็นหางานเอกชนไม่ได้เลย
จึงไปสมัครเป็นอาจารย์เพราะไม่กำหนดอายุ ก็มีทำกัน

สอน ป.ตรี ได้เพราะเด็กระดับนี้ไม่เคยทำงาน
ถ้าอาจารย์สอนมั่ว เด็กก็ไม่รู้เรื่อง


หมายเหตุ**
ทั้งหมดที่ผมเล่า
ไม่เกี่ยวกับครูประถม-มัธยม
เพราะสอนให้ไปเรียนต่อ
ไม่ได้สอนวิชาชีพ ให้ไปทำงานจริง
แบบในมหาวิทยาลัย
แก้ไขข้อความเมื่อ

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 5
คำถาม จขกท น่าสนใจดีนะครับ  ผมเข้าใจว่าที่คุณหมายถึงคือการเป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย   เพราะครูที่สอนในระดับสามัญศึกษานั้นจะแยกเส้นทางเดินของอาชีพไปแล้วต่างหาก   อย่างที่ คห 1-2  บอกนั่นคือ   คนที่เรียนมาเป็นครูสอนในแต่ละระดับประถม  มัธยมต้นและมัธยมปลาย  จะแยกกันไปเลย   นั่นหมายถึงว่า  จำนวนปีที่เรียนมาแตกต่างกัน   เนื้อหาหลักในการเรียนก็ต่างกัน   และครูแต่ละระดับจะเข้ามาสอนปนกันไม่ได้   มีกรณีที่ทำได้คือ  ครูมัธยมปลายสามารถเข้าสอนแทนในมัธยมต้นได้    ในกรณีนอกเหนือกว่านี้แล้วทำไม่ได้

นี่ผมหมายถึงระบบของอาชีพครูในเยอรมนีครับ   ส่วนการเป็นอาจารย์สอนในมหาลัยนั้นยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายสิบเท่าตัว   ขั้นตอนของการเป็นอาจารย์ระดับมหาลัยในเยอรมนีจะยากกว่าระบบการเป็นอาจารย์และตำแหน่ง Professor  ในระบบของอเมริกา   อังกฤษ   ฝรั่งเศส   และ ประเทศกลุ่มสแกนดินาเวีย  ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นข้อสรุปตายตัวว่า   ระบบการเป็นอาจารย์ของเยอรมนียากกว่าจะดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น   มีข้อเสียอยู่เหมือนกันซึ่งเป็นข้อเสียเกี่ยวกับระบบชั้นการปกครองและระบบบริหาร    ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการเป็นผู้สอนที่ดีหรือไม่

เนื่องจากการคัดเลือกคุณสมบัติการเป็นอาจารย์ในระดับมหาลัยเยอรมันนั้น    "อย่างน้อย"  ทุกคนจะต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาเอก  ที่บอกว่าอย่างน้อยเนื่องจากว่ายังมีสูงขึ้นไปอีกระดับคือ Habilitation หรือ ที่เรียกว่า postdoctoral qualification อีกซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการจะได้รับตำแหน่งเรียก Professor  มียกเวันอีกในกรณีของการศึกษาเฉพาะสาขา ได้แก่   ทางด้านสถาปัตยกรรม  การออกแบบ   ศิลป  และ  การดนตรี     สาขาเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับจำนวนปีประสบการณ์ของอาจารย์มากกว่าวุฒิปริญญาเอก

เนื่องจากระบบมหาวิทยาลัยของการศึกษาเยอรมันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ  ระดับ Universität และ Fachhochschule (FH)  เนื้อหาการเรียนจะเน้นแตกต่างชัดเจนคือ  ระดับ Universität เน้นทฤษฏีที่ปูพื้นฐานเพื่อการทำงานด้านศึกษาค้นคว้า  วิจัย   ในขณะที่ FH เน้นทางด้านปฏิบัติเหมาะสำหรับผู้ที่พร้อมจะออกไปทำงานในตลาดงานทันที

ฉะนั้นคุณสมบัติของการเป็นอาจารย์ของ 2 ระดับอุดมศึกษาจึงเข้มข้นต่างกันไปด้วย    ข้อกำหนดของผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ FH นอกจากจบปริญญาเอกแล้วยังต้องมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี   และอย่างน้อย 3 ปี จะต้องเป็นประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ  ไม่ใช่ประสบการณ์การทำงานในมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา  นี่คือปัจจุบันถ้าเป็นสมัยก่อนการเป็นอาจารย์ FH  จะไม่เรียกว่า Professor จะเรียกว่า Dozent และไม่จำเป็นต้องมีวุฒิปริญญาเอกก็ได้  ซึ่งก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่ในปัจจุบันหากอาจารย์ผู้นั้นมีชื่อเสียงยอมรับในความสำเร็จด้านการทำงานเป็นหลักฐานให้ปรากฏ

สำหรับการเป็นอาจารย์ระดับ Universität  ยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่า  ซึ่งทั้งต้องมีประสบการณ์และผลงานทางด้านค้นคว้าวิจัย  ต้องมี Habilitation  ต้องมีประสบการณ์สอนเป็นผู้ช่วย Professor ไปด้วย   ซึ่งจริงๆ แล้วทำงานมากกว่า Professor ตัวจริงเสียอีก   และต้องอาศัยเวลาอันยาวนานมากกว่าจะได้ตำแหน่ง Professor  ทำให้อายุเฉลี่ยการเป็น Professor ในมหาลัยเยอรมันจะเริ่มต้นที่อายุ 40 ปี  

ปัจจุบันกำลังหาทางแก้ไขที่จะลดเงื่อนไขการทำงานเพื่อจะลดระยะเวลากว่าจะเป็น Professor ลงให้เหลือ 35 ปี  

คร่าวๆ จะเป็นแบบนี้   ถ้าจะลงรายละเอียดมากกว่านี้ก็จะเกินความต้องการของ จขกท

สรุปได้ชัดเจน คือ  

1)   การเป็นอาจารย์ในมหาลัยเยอรมันนั้น   สำหรับผู้ที่เรียนจบมาใหม่ๆ ไม่ว่าจะจบระดับไหนมาก็ตาม  หากไม่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ  และ อุตสาหกรรม   ไม่สามารถเป็นอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาได้

2)   การที่จะทำการศึกษาต่อปริญญาเอกได้จะต้องเป็นผู้ที่มีผลการศึกษาปริญญาโทระดับเกรด 1.xx เท่านั้น (เท่ากับ 4 ของไทย)     ไม่ใช่ว่าใครๆ จะทำปริญญาเอกได้   คนที่ผลการเรียนต่ำกว่านี้ไม่มีใครไปขอทำปริญญาเอกเพราะรู้ว่าคุณสมบัติไม่ผ่าน

ป.ล.  เคยมีนักศึกษาไทยเรียนจบโทวิศวกรรมไฟฟ้าในเยอรมนีด้วยคะแนน 1.9  และขอทำปริญญาเอกในเยอรมนีไม่ได้   ต้องออกไปทำที่สวีเดนและเมื่อจบแล้วก็หวนกลับมาขอทำ Habilitation ที่มหาลัยเยอรมันอีก   สุดท้ายก็ไม่จบและไปทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่อังกฤษ    วันดีคืนดีก็ยังสมัครตำแหน่งอาจารย์มหาลัยในเยอรมนีอีกและได้รับการเชิญมาสัมภาษณ์ด้วย   แต่ก็ไม่ผ่านจนแล้วจนรอด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่