ครูผู้ช่วยติดเครื่องราชฯได้ละหรอ

ครูผู้ช่วยอายุงานเท่าไหร่ ถึงมีสิทธิ์ขอพระราชทานและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ เห็นบางคนประดับที่ชุดปกติขาว แต่อินทรนูเป็นครูผู้ช่วยอยู่เลย
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
ข้าราชการที่บรรจุใหม่ด้วยวุฒิ ป.ตรี เช่น ข้าราชการระดับปฏิบัติการ, ข้าราชการครู
หรือ ข้าราชการที่บรรจุสตาร์ทในตำแหน่งที่เทียบเท่ากับการบรรจุด้วยวุฒิ ป.ตรี
เช่น ข้าราชการทหารตำรวจยศเทียบเท่าร้อยตรี ที่บรรจุใหม่ในฐานะบุคคลภายนอก
ยังไง ๆ เครื่องราชชิ้นแรกที่จะขอพระราชทานได้ ก็ต้องมีอายุราชการครบ 5 ปี ก่อน 60 วัน ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง

ส่วนพวกทหารตำรวจ ที่มาจากนักเรียนทหารตำรวจ จะได้นับอายุราชการมาตั้งแต่เป็นนักเรียน จึงจะเห็นนายร้อยจบใหม่เอี่ยม ๆ ติด บ.ม. เสมอ
ที่เห็นติดกันผิดมาก ๆ สำหรับ ทหารตำรวจ คือ การติดโดยตัวเองยังไม่ได้รับพระราชทาน ของพวกที่สอบได้จากบุคคลภายนอก
เพราะของทหาร จะมีตารางตัวอย่างการติดเครื่องราชให้ดูเลย ว่า ยศนั้น ๆ จะได้เครื่องราชอะไรบ้าง
ทำให้คนที่ไม่รู้ระเบียบ เข้าใจผิด ว่าพอตัวเองได้ยศนั้น ๆ แล้ว ก็ติดเครื่องราชได้เลย

มาว่ากันที่ครูผู้ช่วย
ถามว่าครูผู้ช่วยติดเครื่องราชได้ไหม ก็ตอบว่าได้ ถ้าครูผู้ช่วยนั้นได้รับพระราชทานมาแล้ว
ผมยกตัวอย่าง เช่น นาย A เป็นข้าราชการประเภทอื่นมาแล้ว 6 ปี มีวุฒิ ป.โท ทำให้ขึ้นชำนาญการได้ในปีที่ 4
และได้รับพระราชทานเครื่องราชชั้น ท.ม. มาแล้ว ในปีที่ 5
เกิดครื้มใจ มาสอบใหม่เป็นครูผู้ช่วย นาย A ก็มีสิทธินำ ท.ม. มาติดได้ ถึงแม้จะเพิ่งบรรจุเป็นครูผู้ช่วยก็ตาม
(ทั้งนี้ อายุราชการในกรณีที่ลาออกมาแล้วไปบรรจุใหม่ จะไม่นำมานับต่อเนื่องในการขอเครื่องราช)

ไม่แน่ใจว่า จขกท. พอจะแยกออกระหว่าง เครื่องราชฯ กับ เหรียญเหรียญที่ระลึก หรือเปล่า
แพรแถบ ที่ติดอกซ้ายของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น
จะมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. แพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญบำเหน็จ
2. แพรแถบเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก

อธิบายง่ายๆ แถบสีต่าง ๆ ที่ติดอกซ้ายของเครื่องแบบ ข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, เจ้าหน้าที่รัฐ นั้น จะแยกเป็น 2 แบบ ข้างต้น
สำหรับ แพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญบำเหน็จ จะต้องได้รับพระราชทาน จึงจะมีสิทธิประดับ
เครื่องราชที่ข้าราชการ จะได้รับพระราชทาน มีหลัก ๆ 2 ตระกูล (มีโอกาสได้รับทุกคน) คือ
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย



ในส่วน แพรแถบเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก (ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9)
มีทั้งสิ้น 20 แพรแถบเหรียญ คือ
1. เหรียญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9
2. เหรียญงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
3. เหรียญที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป
4. เหรียญรัชดาภิเษก  
5. เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
6. เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
7. เหรียญที่ระลึกสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
8. เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
9. เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
10. เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมายุ ๖๐ พรรษา
11. เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
12. เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ
13. เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหามงคลสมัยพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
14. เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
15. เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
16. เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
17. เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
18. เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕
19. เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘
20. เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙


ประชาชนทุกคนแม้จะไม่ได้รับราชการ ก็มีสิทธิประดับได้เลย ทั้งแบบเต็มและแบบย่อ โดยไม่ต้องคำนึงถึง พ.ศ. เกิด (เว้นอยู่ 2 เหรียญแรก)
หลาย ๆ คน ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงนี้ ต่างคิดไปเองว่าต้องเกิดก่อน พ.ศ. ที่จัดสร้างเหรียญเท่านั้น จึงจะมีสิทธิประดับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เลย
สำหรับแพรแถบเหรียญที่เว้นอยู่ 2 แพรแถบเหรียญ คือ
1. แพรแถบเหรียญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.9
    - บุคคลต้องได้รับพระราชทาน จึงมีสิทธิประดับ
2. แพรแถบเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
    - ตาม พ.ร.บ. เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499
     มาตรา 4 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งมีชีวิตอยู่ในวันฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ให้มีสิทธิประดับเหรียญนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป

ส่วนแพรแถบเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก อื่น ๆ (ลำดับที่ 3 - 20) นั้น
กฎหมายบัญญัติไว้เพียงว่า "บุคคลมีสิทธิประดับเหรียญนี้ได้"
หรือ "บุคคลมีสิทธิประดับเหรียญนี้ได้ตั้งแต่วัน..... เป็นต้นไป" เท่านั้น
ซึ่งไม่ได้มีการกำหนด พ.ศ. เกิดของบุคคลที่มีสิทธิประดับแต่อย่างใด

สรุป
แพรแถบในรัชสมัยรัชการที่ 9 คนไทยติดได้ทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องรับราชการ
แต่ติดได้เลยเฉพาะแพรแถบเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก (ยกเว้น 2 เหรียญข้างต้น)
ส่วนแพรแถบเครื่องราชหรือเหรียญราช ต้องได้รับพระราชทานก่อน จึงมีสิทธิประดับ

ทั้งนี้ยังมีเครื่องราชตระกูลอื่นอีกที่ไม่ต้องรับราชการก็สามารถได้รับพระราชทานได้
เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
ถ้าครูผู้ช่วยนั้น ได้รับพระราชทานมาแล้ว ก็สามารถประดับได้

หรือ เหรียญกาชาด เป็นต้น

ถ้าไม่ชัวร์ ก็เอารูปมาถามก็ได้ครับ ว่าเป็นเครื่องราชอะไร หรือเป็นแค่เหรียญที่ระลึกธรรมดาซึ่งมีสิทธิประดับได้ทุกคนอยู่แล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่