รอ (องค์กรแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, 4 min, 2018)

!SPOILER ALERT!
.
.
.
.
.

นี่ก็เป็นอีกคลิปหนึ่งที่ตอกย้ำภาพจำของแพทย์ที่เป็นลูกหลานชนชั้นกลางมีฐานะ หน้าตาดี ผิวขาว เสียสละเพื่อส่วนรวมมากกว่าความสุขของตนเอง เอาจริงๆ หลายสิ่งหลายอย่างถูกนำเสนอเกินจริงเสียด้วยซ้ำ เพราะแพทย์ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยทีเดียวที่วัดความดันเองในห้องตรวจผู้ป่วยนอก กดหน้าออกผู้ป่วยเพื่อกู้ชีพ เพราะในความเป็นจริงความดันก็จะมีพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล หรือแม้แต่อาสาสมัครวัดให้ และการกดหน้าอกก็มักจะมีพนักงานเวรเปล หรือพยาบาลออกตัวทำก่อน ส่วนแพทย์โดนส่วนมากจะยืนออกคำสั่งการรักษา คลำชีพจร อ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และดูภาพรวมของการกู้ชีพทั้งหมด

หรือแม้แต่ฉากที่หมอนั่งดูผลสแกนสมองแล้วจดก็ดูเหมือนจะเป็นงานของรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า เพราะในโรงพยาบาลใหญ่ขนาดนั้น งานการแปลผลก็มักจะเป็นงานของผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ทั่วไปอาจเพียงดูคร่าวๆ ประกอบกับอ่านผลที่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายมาให้แล้ว ภาพของหมอในคลิปจึงประดุจว่าแพทย์คนนั้นต้องต่อสู่เพียงลำพัง อุทิศตน มีหลายหน้าที่ต้องรับผิดชอบ คล้ายกับภาพของหมอในรุ่นก่อนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีผู้ช่วยเหลือดูแลมากนัก

แต่ก็น่าแปลกอยู่เหมือนกันเพราะแพทย์คนนี้เองก็เริ่มไปตรวจผู้ป่วยในตึกผู้ป่วยในตอนแปดโมงเช้า ซึ่งถือว่าค่อนข้างสาย เพราะในโรงพยาบาลที่เราเคยไปฝึกงานเกือบทั้งหมดจะเริ่มที่เจ็ดโมง อย่างมากคือเจ็ดโมงครึ่งในบางสาขาวิชา มีเพื่อนๆ ของเราจากโรงพยาบาลที่จังหวัดอุบลฯ เคยบอกกับเราว่าเขาเริ่มราวตั้งแต่หกโมงเช้าก็ยังมี ดังนั้นกว่าที่แพทย์จะตรวจคนไข้บนวอร์ดเสร็จ และ้วได้มาตรวจผู้ป่วยนอกก็ปาไปเกือบสิบโมง ในขณะที่คนไข้เดินทางมาพบแพทย์หยิบบัตรคิวกับผู้ป่วยคนอื่นอย่างแบดเสียดตั้งแต่ตีสี่

ส่วนภาพของผู้ป่วยก็ยังถูกหยิบจับมาแสดงในรูปแบบของคนชนชั้นล่าง แรงงาน พนักงานบริษัท ระดับการศึกษาต่ำกว่า ขี้บ่น หงุดหงิด โวยวาย อารมณ์ร้อน ไม่มีทางเลือก และไม่เข้าใจแพทย์เอาเสียเลย เช่นเดียวกับคลิปวิดิโอก่อนหน้านี้ ที่ถูกสร้างขึ้นมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากผู้ใช้บริการ แต่จุดที่แตกต่างอย่างหน้าสนใจคือ ในคลิปก่อนหน้านี้พูดในบริบทของห้องฉุกเฉิน การจัดการหลายสิ่งหลายอย่างจึงอาจคาดการไม่ได้ ปัญหาที่เราเห็นในคลิปหลักๆ จะเป็นเรื่องของ communication ที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพ

ในคลิปนี้ความคิดแย้งคือผู้ป่วยได้รับการบริการที่ล่าช้า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแพทย์ที่มาทำงานค่อนข้างสาย (หากเทียบจากที่เราเคยเห็น) และตัวระบบของโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์ให้บริการทางการแพทย์น่าจะระดับตติยภูมิ แต่คนไข้ก็ยังมาก อันแสดงถึงความล้มเหลวในการสร้างรากฐานของระบบสวัสดิการ และการบริการสาธารณสุขมูลฐาน

ถ้อยคำที่แสดงถึงความเดือดเนื้อร้อนใจต่อระบบการจัดการของโรงพยาบาล เหล่านี้แม้ว่าอาจจะผ่านการแสดง (หรือเปล่า) แต่สำหรับเรานั่นจริงอย่างมาก คำพูดของพวกเขาสะท้อนผลจากการทำลายรัฐสวัสดิการด้วยการเพิ่มรัฐข้าราชการได้อย่างดี ผิดกับในส่วนของคลิปที่ฉายชีวิตแพทย์คนหนึ่ง มันเป็นเป็นภาพละเมอเพ้อพกของเกินจริงในปัจจุบัน มิหนำซ้ำนี่เองยังถือเป็นการพยายามสืบทอดวิญญาณของแนวคิดแพทย์รุ่นโบราณเอาไว้ ว่าแพทย์เป็นผู้เสียสละเสมือนหนึ่งเทพมาโปรดมนุษย์ อันขัดแย้งกับบริบทของแพทย์และผู้ป่วยในโลกปัจจุบันที่กลายเป็นผู้ให้บริการกับผู้รับบริการไปเสียส่วนมากแล้ว

สำหรับแล้วคลิปนี้จึงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากการพยายามเรียกร้องความเห็นใจจากประชาชนผู้ใช้บริการและจบลงแค่นั้น ราวกับว่าไม่แพทย์ก็ประชาชนคงต้องมีใครสักคนทนไม่ไหวกับระบบนี้จนต้องหาทางออกไปก่อน มันมีท่าทีที่เหมือนเปี่ยมล้มด้วยแรงบันดาลใจ แต่แท้จริงกลับสิ้นหวัง เพราะแพทย์ก็ต้องทนทุกข์กับระบบฟอนเฟะนี้ต่อไปเช่นเดียวกับประชาชน แต่พอมาคิดดูอีกทีแพทย์กลับเป็นผู้ที่มีทางเลือกมากกว่า เพราะเอาจริงๆ เขาสามารถจะลาออกจากระบบนี้ด้วยการจ่ายเงินจำนวนหนึ่งที่หากลับมาชดใช้ได้ในเวลารวดเร็วด้วยการไปรับจ๊อบคลินิกความงาม หรือเขาอาจจสู้ความหนักหน่วงของภาระงานไม่ไหวด้วยการไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน หรือแม้แต่เปิดคลินิกส่วนตัว

ส่วนประชาชนหรือ พวกเขายังอยู่ที่เดิม ดิ้นไปไหนไม่ได้ ยังคงต้องรับเคราะห์กรรมของสาธารณสุขที่สร้างมาเพื่อดูแลข้าราชการ มองประชาชนเป็นภาระ นับตั้งแต่ความหวังของรัฐสวัสดิการภายใต้การปกครองของจอมพล ป. ที่หันไปสนับสนุนฝ่ายซ้าย แต่ไม่ทันไรก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ล้มความคิดนี้ นำประเทสสู่ยุคเผาแม่มดอีกหลายปี เอาเป็นว่าเราเลิกพูดรัฐสวัสดิการไปเลยในช่วงนั้น เพราะจอมพลสฤษดิ์สร้างฐานอำนาจด้วยการในสวัสดิการกับข้าราชการเป็นหลัก เผด็จการไม่ต้องการการสนับสนุนจากประชาชน

หลังจากพลเอกเปรมลงจากอำนาจ ประชาทิปไตยก็เริ่มเบ่งบาน รัฐสวัสดิการถูกนำมาเป็นประเด็นอีกครั้ง และที่สำคัญอย่างมากคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ทำให้การรักษาเข้าถึงประชาชนทุกระดับ อย่างไรก็ตามระบบประกันสุขภาพปัจจุบันก็ยังถือว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่ไม่น้อย มันถูกแบ่งออกเป็นชนชั้นด้วย 3 ระบบของข้าราชการ ประกันสังคม และ 30 บาท

ประเด็นนคลิปที่น่าสนใจแต่ไม่ถูกหยิบยกมาเล่าอย่างเป็นจริงเป็นจัง นอกเสียจากการพรีเซนต์ความดีงามของวิชาชีพแพทย์คือผู้สูงอายุที่ต้องมาโรงพยาบาล ในปัจจุบันและอีกไม่นานสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูอายุจำนวนมาก กลุ่มคนที่มีชีวิตบั้นปลายสุขสบายส่วนมากเลยคือข้าราชการเกษียณ ท่ามกลางระบบที่ทิ้งประชาชนส่วนมากของประเทศไว้เบื้องหลัง

ผลจากการที่รัฐและโครงสร้างคร่ำครึสนับสนุนพวกพ้องข้าราชการ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่พวกเขาจะได้กระทำการที่เอื้อต่อผลประโยชน์ได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังเกิดชุดความคิดที่ฝังแน่นว่าลูกหลานพวกเขาต้องได้เป็นข้าราชการเพื่อจะได้กินดีอยู่ดี ไม่อดยาก ข้าราชการจึงเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่มั่นคง (secure) หลายคนเลือกจะสร้างฐานะด้วยการเป็นข้าราชการเสียด้วยซ้ำ

และแน่นอนว่าอาชีพอื่นก็ดำเนินอยู่อย่างน่าหวาดเสียว หลายอาชีพไม่ถูกสนับสนุนอย่างเช่นศิลปิน ผู้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งกระจกสะท้อนสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่าอาชีพนี้อันตราย เพราะหน้าที่พวกเขาคือการตรวจสอบอำนาจรัฐ (ที่เปราะบางต่อการวิพากย์วิจารณ์)

ในขณะเดียวกันถ้ากลับมาพูดถึงเจตนารมณ์ของคลิปนี้ ก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าสังคมที่แพทย์หมกมุ่นสนใจแต่เรื่องความลำบากของตัวเอง ประเทศชาติในอนาคตจะเป็นเช่นไร

Ref.
- ธร ปิติดล, นิมิตร์ เทียนอุดม, 4 ปีรัฐประหาร: สวัสดิการสังคม สุขภาพ และชีวิตคนจน: ปัญหา ข้อท้าทาย และทางออก, https://prachatai.com/journal/2018/05/77105
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่