อัศจรรย์ "หาดห้าสี"อายุ 500 ล้านปี หมู่เกาะเภตรา

เปิดภาพความสวยงามของหินสีอายุ 500 ล้านปี "หาดห้าสี" บนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ความสวยงามที่ธรรมชาติบรรจงสร้างอย่างน่าอัศจรรย์ วอนนักท่องเที่ยวอย่าเก็บหินออกไป เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ


วันนี้ (26 พ.ค.2561) ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ภาพความสวยงามของหินหลากสีสัน ของหาดห้าสี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ความสวยงามที่ธรรมชาติบรรจงสร้างอย่างน่าอัศจรรย์

หาดห้าสี อยู่ใกล้ด่านตรวจเขาโต๊ะหงาย พื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล เป็นหาดทรายเล็กๆ ที่มีหินก้อนกลมมนอยู่ปะปนกันบนชายหาด ในช่วงที่น้ำลงหินสีเหล่านี้จึงจะโผล่ขึ้นมาจนเกือบเต็มทั้งชายหาด 


หินที่มีสีสันเหล่านี้ประกอบด้วย

-สีแดงเป็นหินทรายในช่วงยุคแคมเบรียน(อายุ 500 ล้านปี) สีแดงหรือชมพูมาจากธาตุเหล็กที่มีมากหรือน้อย

- สีเทาหรือสีฟ้ามาจากหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อาย 470 ล้านปี)ถ้าสีเทาเข้มจนเกือบดำ เกิดจากการมีแร่มลทินมาก ถ้าเทาอ่อนหรือเกือบฟ้า เป็นองค์ประกอบหินที่บริสุทธิ์ มีแร่มลทินปนอยู่น้อย

-สีเหลืองหรือน้ำตาล เป็นหินทรายผุ

-สีขาว คือแร่ควอตซ์ ที่มักพบเห็นตามหาดหินทั่วไป


หินเหล่านี้เกิดจากการผุพังแล้วถูกคลื่นซัดพัดพาขัดสีกันในเวลานานจนมีลักษณะกลมมน เมื่อมาอยู่รวมในสถานที่เดียวกัน จึงเกิดเป็นความมหัศจรรย์เกิดขึ้น ช่วงเวลาเย็นและน้ำลง จะเป็นช่วงที่หาดห้าสีสวยงามที่สุด 

และจุดท่องเที่ยวนี้อยู่บริเวณ "เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย" ซึ่งขณะนี้ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนครอบคลุมพื้นที่เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย ดังนั้นมีคำแนะนำว่า ใครได้ไปชมความสวยงามของธรรมชาติแห่งนี้แล้ว ขอความร่วมมืออย่านำหินติดตัวกลับออกไปด้วย เพื่ออนุรักษ์และให้ธรรมชาติยังคงความน่าอัศจรรย์และความสวยงามต่อไป 


http://news.thaipbs.or.th/content/272439
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่