วิศวกรรมปิโตรเลียม กรอบความรู้ วิศวกรรมการขุดเจาะหลุม

วิศวกรรมปิโตรเลียม เป็นอีก 1 สาขาที่สภาวิศวกรฯกำลังเข้ามาจัดระเบียบ ระเบียบที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง ผมก็จำๆมาเล่าเท่าที่ทราบก็แล้วกันครับ ยังไม่ได้ชัดเจนนะ ข้อมูล วิธีการตัวเลข ระเบียบ ขั้นตอนอะไรต่างๆ ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเรื่องนี้ใหม่มาก เพิ่งตั้งไข่กัน เอาว่าเป็นข้อมูล ณ.ปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป

อย่างแรกเลย คือ ระดับความเป็นมืออาชีพ (professional level) จะมีสองระดับ คือ ระดับเบบี้ หรือ ที่เรียกว่า Entry level กับ ระดับมืออาชีพ (Professional)

ทำอย่างไรถึงจะขึ้นทะเบียนเป็นระดับ entry level ได้

ขั้นแรกเลย ต้องจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอะไรก็ได้ อายุเท่าไรก็ได้ แล้วลงทะเบียนเข้าไปสอบ ข้อสอบมี 4 ชุด ชุดรวมมิตรทั่วไป 1 ชุด เป็นภาคบังคับ และ วิศวกรรมการขุดเจาะหลุม (Drilling engineering) วิศวกรรมแหล่งผลิต (Reservoir engineering) และ วิศวกรรการผลิต (Production Engineering) อีก อย่างล่ะ 1 ชุด ให้เลือกเอา

เช่น ถ้าผมอยากจะขึ้นทะเบียนเป็นระดับเบบี้ในหมวดวิศวกรรมการขุดเจาะหลุม ผมจะต้องสอบ 2 ชุด คือ ชุดรวมมิตรทั่วไป และ วิศวกรรมการขุดเจาะหลุม (Drilling engineering)

พอทำงานไปทำงานไปๆ วิทยายุทธแก่กล้าตีนกาขึ้น ทำงานไปอย่างน้อย 3 ปี ก็ขยับขึ้นไปอีกขั้น ไม่รู้สภาฯจะตั้งชื่อว่าอะไร เอาว่าผมเรียกไปก่อนว่า ระดับมืออาชีพ (Professional) ก็แล้วกัน จะขึ้นทะเบียนขั้นนี้ได้ ณ.ตอนนี้ (อนาคตไม่ทราบ) สภาฯมีแนวคิดจะใช้ระบบ พิจารณาจากประวัติผลงาน (Portfolio) ซึ่งมีกติกาย่อยๆอย่างไร ไม่ทราบได้ ที่แน่ๆคือ ไม่ต้องสอบแบบขั้น entry level

ส่วนที่ว่า จะอะไรยังไงแน่นอนเมื่อไร ณ.ตอนนี้ ได้ยินมาเท่านี้ ขึ้นทะเบียนแล้วเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ก็ยังไม่แน่ชัดเท่าไร เอาไปฉีกๆต้มน้ำกินดับกระหาย หรือ ป่นๆบดเป็นยาสมานแผล หรือ เปล่านั้นก็ไม่ชัด 555 ยิ้ม

ทุกๆการวัดผล การจัดหมวดหมู่ ก็ย่อมมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันไป ใครพอใจ ใครชอบ ใครได้เปรียบ ก็ว่าดีแล้ว ใครไม่พอใจ เสียเปรียบ ไม่ชอบ ก็ว่า ไม่ยุติธรรม เป็นปกติครับ วิจารณ์ได้ ปรับแต่งได้ ไรได้ ไม่ว่ากัน ผมก็ฟังๆมา ได้ยินๆมา ก็จำขี้ปากผู้ใหญ่เอามาเล่าให้ฟังเท่านั้น

สำหรับผมแล้ว ในส่วนวิศวกรรมแหล่งผลิต กับ วิศวกรรมการผลิต ผมรู้แค่หางอึ่ง ที่พอจะเอามาแบ่งปันกันได้ ก็คือส่วนที่ผมพอรู้มากขึ้นมาอีกนิดคือ วิศวกกรมการขุดเจาะหลุม ซึ่งในหมวด วิศวกรรมการขุดเจาะหลุม (Drilling engineering) ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สภาฯต้องการให้ระดับ entry level ต้องรู้ และ วัดความรู้ โดย การสอบ

ส่วนปลีกย่อยที่ต้องสอบนั้น มี 9 ส่วน และ ในแต่ล่ะส่วนก็มี ปลีกย่อยลงไปอีกอย่างล่ะ 2 – 4 หัวข้อ ผมได้ทำเป็นตอนๆ ว่ามี 1)อะไรบ้างที่ต้องรู้ (ตามที่สภาวิศวกรฯต้องการ) 2) ที่ต้องรู้นั้นต้องรู้อะไร และ อะไรที่ผมเองก็เดาใจท่านสภาวิศวกรฯไม่ถูกเพราะท่านเขียนไว้ครอบจักวาล อย่างว่าแหละ ของใหม่ แนวทางใหม่ก็แบบนี้

เอาว่าผมทำไว้เป็นแนวๆ ร่างคร่าวๆ ไว้ให้พวกเราได้ใช้เตรียมตัวกัน (ถ้าคิดจะไปสอบขึ้นทะเบียนเป็นระดับเบบี้ Entry level)

วิศวกรรม การขุดเจาะหลุม (Drilling engineering)

1. ความรู้ในงานด้านการควบคุมหลุมเจาะ
2. ออกแบบ และเขียนแผนงานการลงท่อกรุในหลุมปิโตรเลียมอย่างเป็นระบบ
3. ออกแบบ แนวหลุมปิโตรเลียมทั้งประเภทที่เป็นหลุมเอียง และหลุมแนวนอน
4. เลือกแผนการใช้น้ำโคลนเพื่อการเจาะหลุมปิโตรเลียม
5. รักษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบการขุดเจาะอย่างเคร่งครัด
6. ออกแบบกระบวนการในการทำงานเพื่องานการวิเคราะห์ลำดับชั้นหินใต้ดิน
7. ออกแบบกระบวนการในการทำงานผ่านระบบไฮโดรลิก
8. ออกแบบ และดูแลการควบคุมเศษหินในชั้นหินใต้ดินที่ขึ้นมาระหว่างการเจาะ
9. ออกแบบโปรแกรมการใช้ซีเมนต์เพื่อการยึดผนังหลุมกับท่อกรุ

ผมขอไม่เอาลิงค์ทั้ง 9 ตอนมาแปะไว้ที่นี่นะครับ เกรงว่าจะผิดกฏ เอาเป็นว่า ใช้อากู๋เอาล่ะกันครับ --> "วิศวกรรมปิโตรเลียม กรอบความรู้ วิศวกรรมการขุดเจาะหลุม"

ส่วนสาขาย่อยอีก 2 สาขา (วิศวกรรมแหล่งผลิต และ วิศวกรรมการผลิต) มีรายละเอียดที่สภาวิศวกรฯต้องการให้ทราบ  แต่ผมไม่มีแนวทางคำตอบไว้นะครับ เพราะเกินความสามารถและสติปัญญาของผม (พูดง่ายๆมีแต่โจทย์น่ะครับ) อากู๋ตามนี้ครับ ---> "nongferndaddy.com/ความสามารถ"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่