มีวิธีปรับปรุงแก้ไข...ทำให้บ้านชั้นเดียวเย็นสบาย (ไม่ร้อนอบอ้าว) มั้ยครับ?

ปัญหา คือ บ้านชั้นเดียวร้อนอบอ้าวมาก นั่งเล่น/นอนเล่นที่ห้องโถงแทบจะไม่ได้ ร้อนอึดอัด ไม่สบายกาย...เปิดประตูหน้าต่างหลาย ๆ บาน หรือเปิดพัดลม ก็ไม่ช่วย กลายเป็นว่า ลมร้อนไอแดดพัดเข้ามา

อันที่จริง บ้านหลังนี้มีอาณาบริเวณพอสมควร (200 ตร.ว.) และอยู่รอบนอกตัวจังหวัดออกมา 8 - 9 กิโล (ไม่ใช่กลางใจเมืองที่พลุกพล่านแออัดนะครับ) ต้นไม้ก็มีพอสมควร รอบหมู่บ้าน ชุมชน ก็ยังมีต้นไม้เขียว ๆ ตามถนนหนทาง ตามที่ชาวบ้านปลูก ๆ กันไว้บริเวณบ้าน บ้านผมเองก็ปลูกต้นไม้ไว้รอบ ๆ บ้านหลายต้น แต่ก็เย็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เฉพาะบริเวณใต้ร่มไม้ ไม่แผ่ความเย็นเข้ามาในบ้านเลย

...ที่บอกว่า บ้านชั้นเดียวร้อนอบอ้าว เป็นปัญหา เพราะผมเปรียบเทียบกับทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ กันครับ (ทาวน์เฮาส์อยู่กลางใจเมือง กลางตัวจังหวัด ห่างจากบ้านชั้นเดียว 8 - 9 กิโล) เวลานั่งเล่น/นอนเล่นอยู่ที่ชั้นล่างของทาวน์เฮาส์จะรู้สึกเย็นสบาย (เย็นสบายกว่าตอนที่อยู่บ้านชั้นเดียว) เปิดพัดลมช่วยนิดหน่อยก็สามารถอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน

พอจะมีวิธีการทำให้บ้านชั้นเดียวเย็นสบายมั้ยครับ ?
(ห้ามบอกว่า..ให้เปิดแอร์ตลอดเวลา ให้นอนหมกอยู่ในห้องแอร์ตลอดวันตลอดคืนนะ 555)
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 8
การแก้หรือบรรเทาปัญหาความร้อนอบอ้าวในบ้านนั้น ส่วนใหญ่มาจากความร้อนที่ส่งผ่านมาจากด้านบนหลังคาและผนัง & ช่องเปิดด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นหลัก  ซึ่งก็จะมีวิธีการแก้/บรรเทาปัญหาได้ถึง 3-4 วิธี

   >>>  ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงากับผนังบ้าน โดยควรเลือกให้เหมาะกับที่ว่างข้างบ้าน แต่วิธีนี้ก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานเป็นปีๆ กว่าต้นไม้จะโตให้ร่มเงาได้เพียงพอ (ยกเว้นมีเงิน ลงต้นไม้ใหญ่เลย)
     รายละเอียด  >>>  https://home.kapook.com/view93150.html



   >>>  ในส่วนของด้านบนของห้อง (เพดาน) ก็สามารถทำได้ด้วย 2-3 วิธี คือ

     •  ติดตั้งแผ่นฉนวนบนฝ้าเพดาน เพิ่มเติม อาทิ แผ่นฉนวน Stay Cool ของ SCG หรือเปลี่ยนมาติดตั้งแผ่นฝ้าเพดานยิบซั่มที่มีฉนวนในตัวเลย อาทิ แผ่นยิบซั่ม Gyprox รุ่น ThermaLine สำหรับฝ้าฉาบเรียบ หรือรุ่น ThermaTile สำหรับฝ้าแขวนทีบาร์  
            
     แนะนำดูรายละเอียด  >>  http://www.gyproc.co.th/

     •  ทาสีกระเบื้องมุงหลังคา ด้วยสีที่มีประสิทธิภาพในการสะท้อนรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์
             

     •  เลือกใช้ฝ้าชายคานอกบ้าน เป็นแผ่นฝ้า Fiber Cement Board ที่มีรูหรือช่อง เพื่อให้สามารถระบายความร้อนใต้หลังคาได้
     


   >>>  ในส่วนของผนังบ้าน กรณีเป็นบ้านใหม่ก็เลือกใช้ผนังอิฐก่อที่มีประสิทธิภาพในด้านฉนวน เช่น อิฐมวลเบา หรือก่ออิฐมอญ 2 ชั้น (มีช่องว่างระหว่างชั้น)  ส่วนบ้านที่ก่อสร้างไปแล้ว โดยเฉพาะผนังที่ถูกแสงแดดสาดส่อง ก็มีวิธีป้องกันและบรรเเทาความร้อนที่จะส่งผ่านผนังเข้ามา 3-4 วิธีเช่นกัน

     •  ติดตั้งแผ่นไม้เทียมประดับภายนอกอีกชั้นให้ร่มเงากับผนัง หรือติดตั้งผนังภายในอีกชั้นด้วยแผ่นยิบซั่มที่มีฉนวนในตัว เช่น แผ่นยิบซั่ม Gyproc รุ่น Thermaline
     

     •  ติดตั้งแผงกันแดดให้ร่มเงากับช่องเปิดหน้าต่าง และติดตั้งฟิล์มกรองแสงบนแผ่นกระจกหน้าต่างร่วมด้วย
     

   •  ติดม่าน Black Out ป้องกันความร้อนจากแสงแดดและรังสียูวี และ/หรือติดตั้งม่านหมอก (ละอองน้ำ) โดยเฉพาะด้านช่องเปิดทิศตะวันตกและทิศใต้
          

     •  ทาสีภายนอกด้วยสีที่มีประสิทธิภาพในการสะท้อนรังสีความร้อนสูงๆ (มอก.2514-2553 : สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์) โดยหากใช้ร่วมกับสีรองพื้นที่มีประสิทธิภาพด้านฉนวนด้วย ก็จะได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
     โดยมีทั้ง Jotun, TOA, Captain, Nippon Paint & Beger ที่ทำการตลาดผลิตภัณฑ์ในด้านนี้ โดยหากต้องการประสิทธิภาพสูงๆ ก็ควรเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า 95%  (สีที่มีประสิทธิภาพในการสะท้อนรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์สูงที่สุดใกล้เคียงกัน ในตลาดสีทาอาคาร คือ 96.7%  และ 96.2%)  

     TOA Supershield  >>>  96.7%  และ  Captain Parashield CoolMax  >>>  96.2%
               

     ในระดับการสะท้อนรังสีความร้อน ≤ 95%
     
     ที่มา :  website ของผู้ผลิตจำหน่าย
หมายเหตุ :  หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีก ให้พิจารณาเลือกใช้สีรองพื้นปูนที่มีประสิทธิภาพในความเป็น "ฉนวน" ร่วมด้วย
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


     อนึ่งการจะให้ได้ผลดีนั้น ควรต้องใช้หลายๆวิธีร่วมกัน โดยเลือกใช้วิธีการไหน ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ (บางวิธีมีผลกับรูปแบบบ้านจากภายนอก)  ความสะดวก และงบประมาณที่มี

กรณีงบไม่มากพอ ก็ควรเลือกเริ่มที่งานหลังคาและฝ้าชายคาโดยรอบก่อน ขณะเดียวกันก็หาพันธุ์ไม้มาลงในจุดทิศที่จะให้ร่มเงาบ้านในระยะยาว  มีเวลาว่างพักร้อน 1-2 วันก็หาโอกาสมาทาสีภายนอกเป็นงานอดิเรก (ลดค่าจ้างช่างไปได้อีก)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่