สอบเรียนหมอที่อังกฤษ มันยากเอาเรื่อง Part 2

ต่อจาก Part 1 ( https://ppantip.com/topic/37562627/comment3-1)

ลูกสาวดิฉันเขียนใบสมัครเรียนแพทย์เลือกไปสี่มหาลัยคือ Exeter, Bristol,Cardiff และ Southampton แม้ในใจพ่อแม่เชียร์อยากให้ลูกเลือกเรียนในลอนดอน เพราะจะได้ไปเยี่ยมบ่อยๆ แต่เธอกลับไม่เลือกในเมืองหลวงเลย เนื่องจากคิดไปถึงความหนาแน่นของชุมชนและค่าครองชีพที่มันแพง  เอาเข้าจริงๆพ่อแม่ไม่เกี่ยงหรอกว่าลูกจะเลือกเรียนหมอที่ไหน เพราะคิดเหมือนอาจารย์หมอที่ Bristol พูดไว้ในงาน Open day ว่าเรียนหมอที่ไหน มันก็เหมือนกัน จะจบ Cambridge หรือ Bristol คุณก็คือหมอ เรียนต่างสไตล์ต่างสถาบัน แต่จุดหมายเดียวกันคือรักษาชีวิตคน

หลังจากที่ส่งใบสมัครไปเมื่อตุลาปีที่แล้ว คราวนี้ลูกก็ต้องมานั่งรอนั่งลุ้นว่าจะมีมหาลัยไหน เรียกไปสัมภาษณ์บ้าง
ต้นเดือนพฤศจิกายน รวดเร็วทันใจ มหาลัย Exeter ส่งอีเมล์บอกทันที   “ REJECT”
ปฏิเสธ โดยที่ไม่เรียกสัมภาษณ์
แสดงว่าใบสมัครยังไม่ถึงขั้น พยายามคิดไปว่า มหาลัยทุกแห่งตั้งกฎเกณฑ์การคัดเลือกแตกต่างกันไป เราคนนอกไม่รู้หรอกว่า ใบสมัครนี้ถูก reject เพราะอะไร แต่ที่รู้คือมาตรฐานคัดคนเข้าสัมภาษณ์มันสูง
ลูกสาวคิดน้อยใจไปสักพัก  ดันเลือกคณะยาก แต่ไม่เป็นไร พ่อแม่ว่ายังมีอีกสามมหาลัย ความหวังยังมี

ต้นเดือนธันวามหาลัย Cardiff ส่งอีเมล์เรียกไปสัมภาษณ์ ดีใจแทนลูกแต่ก็แอบกังวลเงียบๆ เพราะขั้นตอนนี้มันสำคัญนัก คนที่ได้เรียกสัมภาษณ์เท่านั้นถึงมีสิทธิ์ลุ้น ว่าจะได้เข้าเรียนหมอหรือไม่

การสัมภาษณ์นี้แต่ละมหาลัยใช้วิธีต่างกันไป บางที่ใช้แบบ tradition คือสัมภาษณ์ตัวต่อตัว โดยมีผู้สัมภาษณ์หนึ่งหรือสองคน ยิงคำถามโดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที การสัมภาษณ์ตรงนี้มีข้อเสียตรงที่ว่า ถ้าเด็กตอบคำถามผิดพลาด หรือแสดงบุคลิกภาพไม่น่าประทับใจ มันไม่มีโอกาสแก้ตัว ลองผู้สัมภาษณ์ไม่ชอบเสียแล้ว นั่นก็คือ เดี้ยง สถานเดียว

แต่มหาลัย Cardiff ใช้การสัมภาษณ์ที่เรียกว่า MMI (mini multiple interview) คือการสัมภาษณ์ที่แบ่งเป็นแปดสถานีย่อย แต่ละสถานีจะทดสอบผู้สมัครในเรื่องต่างๆกัน ตั้งแต่จริยธรรมของหมอ  หนังสือที่อ่านอยู่ ทำไมถึงอยากเป็นหมอ ทำไมถึงเลือกมหาลัยนี้ ไปจนถึงข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวงการแพทย์ในปัจจุบัน ผู้สัมภาษณ์แต่ละสถานีมีเวลาห้านาที ที่จะตัดสินว่าเด็กคนไหนเหมาะสมที่จะรับเข้าเรียน มันดีตรงที่ถ้าเด็กตอบพลาดสถานีหนึ่ง  เขายังมีโอกาสแก้ตัวได้อีกในสถานีต่อไป
แต่คิดไปคิดมา การตอบคำถามให้ตรงประเด็นด้วยบุคลิกภาพที่เชื่อมั่น ทั้งยังต้องรักษาพลังและระดับความกระตือรือร้นไว้ตลอดแปดสถานี มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

จำได้ดีวันที่ 14 ธันวา เธอไปสัมภาษณ์ที่ Cardiff  เดินออกมาหน้าบานด้วยความดีใจ เธอว่าเธอตอบคำถามได้ดีทั้งแปดสถานี ผู้สัมภาษณ์แต่ละคนดูเป็นมิตรและใจดี คำถามก็ไม่ยากเกินไป  พ่อแม่ฟังแล้วค่อนข้างมีความหวังขึ้นมา แต่ยังไงก็ไม่กล้าหวังมากเพราะกลัวจะกลายเป็นความหวังลมๆแล้งๆ  

เข้าปีใหม่ 2018 ไม่มีข่าวคราวจาก Bristol และ Southampton พ่อแม่พยายามหาแผนสำรองว่าถ้าลูกไม่ได้ Offer เลยจะทำอย่างไร ลูกจะลองอีกปีหน้าหรือเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่นแทน
ก่อนที่จะได้รับคำตอบจาก Cardiff ในช่วงกุมภาลูกสาวก็ได้รับอีเมล์จาก Southampton และ Bristol ในเวลาไล่เลี่ยกัน  
Southampton เรียกไปสัมภาษณ์ (จนได้)
แต่ Bristol ตอบ REJECT โดยไม่สัมภาษณ์  หลอกให้รอเก้อถึงห้าเดือนยังไม่พอ ยังมาตบหัวแล้วลูบหลังอีก  ไม่รับเข้าเรียนหมอแต่รับเข้าเรียนคณะ bio medical science แทน มันจะไปมีความหมายอะไร ในเมื่อเด็กเขาอยากเป็นหมอ อย่ามาชวนให้ไขว่เขว

สาธยายยาวเกินไปเดี๋ยวจะน่าเบื่อ เอาเป็นว่า มหาลัยที่เรียกไปสัมภาษณ์ทั้งสองแห่งคือ Cardiff และ Southampton ได้ตอบรับกลับมาด้วยคำว่า Offer with condition นั่นหมายถึงว่า ถ้าลูกสอบปลายภาคเดือนมิถุนานี้ได้ A 3 ตัว  ลูกก็สามารถเดินยืดอกอย่างภาคภูมิใจเข้าไปเรียนคณะแพทย์ได้เลย

ข้อมูลเพิ่มเติม

การเตรียมตัวสมัครสอบแพทย์ที่อังกฤษ จากที่เล่าไปใน part 1 ดิฉันข้ามไปไม่ได้อธิบายเรื่องเกรดให้ชัดเจน เพราะตอนที่ส่งใบสมัครนั้น เป็นช่วงที่เด็กยังเรียนไม่จบและเพิ่งจะขึ้นชั้นมอหกใหม่ๆ   การสมัครเข้ามหาลัยที่นี่ มันเป็นการสมัครก่อนสอบปลายภาค  ส่วนเกรดที่กรอกลงไปในใบสมัครนั้น เขาเรียกว่า predicted grade คือการเอาเกรดที่สอบปลายภาคช่วงมอห้า ไปคำนวนดูว่าเด็กคนนี้ การเรียนระดับนี้ สอบได้เกรดนี้ ถ้าสอบมอหกปลายภาคจริงๆ จะได้ตามนี้ไหม ครูแต่ละวิชาจะเป็นคนลง predicted grade ของวิชานั้นๆ พูดง่ายๆคือมันเป็นเกรดคาดคะเนในอนาคต ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเด็กสอบตอนมอห้าได้เกรดวิชาเคมีเป็น B ต้นๆขาดอีกสองคะแนนจะได้A  และมีแนวโน้มที่จะทำได้ดีกว่านี้ในอนาคต ครูอาจจะให้เกรดอนาคตวิชานี้เป็น A  (ตามสถิติของโรงเรียน ส่วนใหญ่ เกรดอนาคตที่คาดไว้มักจะตรงกับ เกรดที่สอบปลายภาคจริงๆ )
Predicted grade ที่เอาไปสมัครนั้นจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เวลาผ่านสัมภาษณ์ มหาลัยรับ เขาจะระบุมาเลยว่า ต้องทำเกรดปลายภาคจริงให้ได้ตามที่มหาลัยแต่ละที่กำหนด ซึ่งส่วนมากจะเป็น AAA           offer with condition
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่