ฝรั่งบันทึก ตัดเศียร ‘พระปีย์’ ผูกเชือกห้อยคอ ‘ฟอลคอน’ จนเน่าเฟะ ‘แม่มะลิ’ ถูกลดฐานะเป็นทาส

https://www.facebook.com/NipatpornP/posts/1408695285942625
จดหมายเหตุฝรั่ง: ตัดหัวพระปีย์ห้อยคอฟอลคอน
เรื่อง นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

โศกรันทดกับฉากออกญาวิชาเยนทร์ ร่ำลาแม่มะลิ ท้าวทองกีบม้าในละครบุพเพสันนิวาสกันไปเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา ดิฉันดูแล้วหวนรำลึกถึงเรื่องสยองยิ่งกว่าสยอง ในจดหมายเหตุฝรั่ง ที่บันทึกเรื่องราวของฟอลคอนเอาไว้อย่างโหดสุด จำได้ว่าเคยค้นคว้าตรวจสอบเรื่องของฟอลคอนไว้เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน ความที่เก็บข้อมูลเป็นระบบ กลับไปเปิดอ่านจึงค้นเจอหลากหลายเรื่อง แม้จะมีหนังสือเก่า พงศาวดารหลายเล่มถูกปลวกกินยับเยินไปมาก แต่ที่เหลือค้างคาอยู่ ก็ยังพอเอามาเล่าสู่กันฟังให้ขนหัวลุกชันกันโดยถ้วนทั่วได้

ไอ้น่าเวทนาชนิดที่ก่อนถูกประหาร ฟอลคอนไปลาท้าวทองกีบม้า แล้วโดนเมียขากเสมหะ ถ่มน้ำลายรดหน้า และไม่ยอมให้ผัวจูบลาลูกนั้น บอกได้ว่า “เด็กๆ” ไปเลยล่ะน้องหนูเอ๋ย

การมะรุมมะตุ้มจบชีวิตฟอลคอนบุคคลซึ่งเป็นที่เกลียดชังอย่างที่สุดของขุนนางไทย ชาวบ้านไทย และชนต่างชาติอีกมากกลุ่มยุคแผ่นดินพระนารายณ์ มีบันทึกไว้หลากหลายสภาพ ดิฉันจะทยอยเอามาเล่าให้ฟัง เรื่องแรกนี้ มีหลักฐานปรากฏอยู่ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๑ จดหมายเหตุเรื่องการจลาจลเมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลวงจินดาสหกิจ (ละม้าย ธนะศิริ ) แปลไว้ ซึ่งกล่าวไว้ดังนี้

ออกพระเพทราชาก็ให้เบิกตัวมองซิเออร์คอนสตันซ์ออกมาหา และกล่าวบริภาษด้วยถ้อยคำอันหยาบช้าสามานย์ว่า มองซิเออร์คอนสตันซ์เป็นผู้คิดทรยศกบฏต่อพระมหากษัตริย์และรัฐบาลสยาม แล้วก็สั่งให้ทำทารุณกรรมด้วยประการต่าง ๆ ตามวิธีเคยทำกันมา และซ้ำยังแสนสาหัสกว่านั้นด้วย เพื่อเป็นการขู่บังคับให้คอนสตันซ์ยอมระบุชื่อผู้ที่สมรู้เป็นใจ ช่วยเหลือดำเนินอุบายอันทุจริต คิดจะให้พระมหากษัตริย์นิยมนับถือศาสนาคริสตัง และจะให้กรุงสยามตกอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส แต่เมื่อได้เพียรทรมานอยู่หลายชั่วนาฬิกาแล้ว จึงให้นำตัวพระราชบุตรบุญธรรม (พระปีย์-ผู้เขียน) ออกมาตัดพระเศียร แล้วก็เอาเชือกร้อยพระเศียรผูกห้อยคอมองซิเออร์คอนสตันซ์ไว้ ราวกับผูกผ้าพันคอแบบยุโรป

ออกพระเพทราชาเริ่มทำทารุณกรรมแก่มองซิเออร์คอนสตันซ์มาตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม รุ่งขึ้นวันที่ 29 และ 30 คอนสตันซ์ยังต้องถูกทรมานเช่นนั้นอีก นับว่าเป็นการทรมานอย่างทารุณร้ายกาจซึ่งสุดแล้วแต่จะนึกทำเอา ส่วนพระเศียรพระราชบุตรบุญธรรม (หัวพระปีย์-ผู้เขียน) ก็ยังคงให้ผูกแขวนคออยู่ตลอดวันตลอดคืน มองซิเออร์คอนสตันซ์ต้องถูกทรมานอย่างแสนสาหัสอยู่ด้วยอาการเช่นเดียวกันจนวันที่ 4 มิถุนายน จึงถึงแก่ความตายด้วยความทุกข์ทรมานนั้น


ทรัพย์สมบัติและสัมภาระต่าง ๆ ตลอดจนครอบครัวของคอนสตันซ์ต้องถูกจับยึด และให้ส่งครอบครัวไปกักขังไว้ในคุก ส่วนตัวนางผู้เป็นภรรยานั้นให้เบิกตัวมาพิสูจน์สอบสวนหลายอย่างหลายประการโดยปราศจากความปรานี ทั้งไม่แจ้งเหตุผลต้นปลายให้ทราบด้วยว่า มีความประสงค์อย่างไรจึงทำเช่นนั้น แล้วในที่สุดก็ให้ทรมานด้วยประการต่าง ๆ อยู่หลายวัน จึงส่งตัวไปคุมขังไว้ในคุก และจำจองด้วยโซ่ตรวนเครื่องพันธนาการทั้งมือและเท้าอยู่เป็นเวลารวม 3 เดือน เมื่อพ้น 3 เดือนแล้ว จึงให้ลดฐานะภรรยาและครอบครัวของคอนสตันซ์ทั้งหมดลงมาเป็นทาส และเพราะทาสก็เป็นชาติสกุนอันต่ำช้าน่าบัดสีอยู่เพียงพอแล้ว ออกพระเพทราชาจึงผ่อนผันให้ถอดโซ่ตรวนและปลดปล่อยออกจากคุกไป

นี้เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่ดิฉันค้นพบในการทรมานฟอลคอนอย่างวิตถารที่สุด คือตัดหัวพระปีย์มาผูกห้อยคอฟอลคอนไว้ เหมือนกะดึงร้อยคอวัวควาย หรือกระพรวนห้อยคอแมวหมา แขวนต่องแต่ง เลือดหนองไหลโชกเน่าคาคอฟอนคอนตลอดเวลาทุกข์ทรมานจนจบชีวิต จะจริงแค่ไหน อย่างไร ดิฉันไม่ทราบ แต่ทัศนะหนึ่งที่แฝงอยู่ในจดหมายเหตุฝรั่งชุดนี้ก็คือ ฝรั่งตะวันตกมองคนตะวันออก มองคนสยามเมื่อ 300 กว่าปีก่อน มีจิตใจอำมหิต โหดเหี้ยมราวกับไม่ใช่มนุษย์

จดหมายเหตุเรื่องการจลาจลเมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่กล่าวถึงการตัดหัวพระปีย์มาห้อยคอฟอนคอนไว้ข้างต้นนี้ รวบรวมมาจากบรรดาจดหมายต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2231 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2232 ซึ่งส่งไปจากประเทศสยามและจากฝั่งคอร์มันเดล ( Cormandel ) สันนิษฐานว่า ฉบับเดิมคงเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ปรากฏนามผู้เขียน

ต่อมาได้มีผู้แปล เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ปรากฏนามผู้แปลเช่นกัน Randal Taylor ได้จัดพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2233) ให้ชื่อว่า “ A European Version of the revolution in Siam at the end of the reign of King Phra Narayana, 1688 A.D.” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีรับสั่งให้บริษัทกอตเต้ ( Gotte & Co. ) ตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2448



จากนั้นหลวงจินดาสหกิจ ก็ได้แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวารสารศิลปากร ปี พ.ศ. 2496 ปีที่ 7 เล่ม 9, 10, 11, และเล่ม 12 แล้วมาตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว. ทองเถา ทองแถม พ.ศ. 2510 หลังจากนั้นจะพิมพ์อีกบ้างหรือเปล่า ดิฉันไม่ได้ไปติดตามอีกแล้ว เพราะที่อ่านไปขนหัวลุกไป ก็สยดสยองมากสุดๆแล้ว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่