บ้านห้วยห้อม ปลูกกาแฟ ทอผ้าขนแกะ วงในที่ไม่ค่อยมีใครรู้

เดือนสิงหาคม ปี 2017 มีโอกาสไปบ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน กับนักข่าวเอพี (The Associated Press) รุ่นใหญ่ เดนิส เกรย์ (Denis Gray)



ต้องเล่าก่อนว่าบ้านห้วยห้อมเป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอญอ อยู่ห่างจากอ.แม่สะเรียง ประมาณ 1 ช.ม. โดยรถยนต์ เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านปัจจุบันปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าและเลี้ยงแกะยังชีพด้วยการทอผ้าขนแกะขาย เรื่องราวย้อนไปสมัยก่อนที่มีกลุ่มมิชชันนารี (พ.ศ. 2500) มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์และนำแกะมาให้ชาวบ้าน และอีกสิบกว่าปีต่อมา (= 40 กว่าปีก่อน) มีชาวต่างชาตินำโดยชาวอเมริกันชื่อ ริชาร์ด แมนน์ (Richard Mann) มาสอนเรื่องการปลูกกาแฟเพื่อให้ชาวเขาเว้นจากการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่าง ฝิ่น (ที่เมื่อก่อนปลูกกันมากในบริเวณนั้น) และการค้ามนุษย์


ริชาร์ด แมนน์ (ปัจจุบันอยู่ในวัย 80 ยังมีชีวิตอยู่) เคยทำงานกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และไปกับท่านเมื่อครั้งที่ท่านเสด็จไปบ้านห้วยห้อม จนต่อมาที่แถวนั้นได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยหลังจากที่รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จครั้งแรก จากนั้นพระองค์ได้ทรงประทานแกะให้ชาวบ้านอีก 70 ตัว (ปัจจุบันเหลือประมาณ 30 ตัว) วิถีชีวิตของชาวบ้านห้วยห้อมดีขึ้นเพราะปลูกกาแฟส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ทำกาแฟเองครบวงจรตั้งแต่ปลูกจนคั่วบด และยังทอผ้าขนแกะกันเองในบ้าน กลายเป็นสินค้าโอท็อปให้คนมาเลือกซื้อ




เรื่องของเรื่องคือว่า คุณเดนิสเป็นแขกมาพักที่ริเวอร์เฮ้าส์โฮเท็ล (บ้านไม้) และต้องการเดินทางไปสัมภาษณ์ชาวบ้านห้วยห้อมเกี่ยวกับสิ่งที่รัชกาลที่ 9 ทรงเคยสร้างไว้ (The King’s legacy) ด้วยความที่ตัวเราเองเคยทำงานสายข่าว จึงเริ่มชวนคุยกันถูกคอกับคุณเดนิส เราจบลงด้วยการไปบ้านห้วยห้อมด้วยกัน พร้อมภรรยาคุณเดนิส พี่ชายเรา และสามีเรา และคนที่พาพวกเราไปวันนั้น คือ ริชาร์ด แมนน์ (Richard Mann) หลานชายของคุณปู่ริชาร์ด (บางทีฝรั่งเขาก็ตั้งชื่อคนในครอบครัวซ้ำกัน) ริชาร์ดผู้หลานเล่าว่าคุณปู่ของเขานั่งเรือมาเมืองไทยจากแคลิฟอร์เนีย ใช้เวลาหนึ่งเดือนในการเดินทางภายใต้โครงการของยูเอ็น สาเหตุที่มาคงเป็นเพราะไม่ชอบอเมริกาหรือเปล่า (ฮา...อันนี้ล้อเล่นนะคะ)


ปัจจุบัน ริชาร์ดผู้หลานทำกาแฟขายภายใต้บริษัทล้านนาคอฟฟี่ (Lanna Coffee Co.) มีโครงการหลากหลายเพื่อสนับสนุนคนในภาคเหนือที่ปลูกกาแฟ จากนั้นนำผลิตภัณฑ์ส่งขายไปยังต่างแดนในรูปแบบของ fair trade (การค้าที่ยุติธรรม) อย่างเช่นที่แคลิฟอร์เนีย บ้านเกิดของคุณปู่ริชาร์ด เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเมล็ดกาแฟห้วยห้อมเองส่งขายให้สตาร์บัคส์ด้วย ถ้าจำไม่ผิด ก็ครอบครัวแมนน์นั่นแหละที่เป็นผู้ชักจูงให้กาแฟห้วยห้อมโกอินเตอร์ในโลกของร้านกาแฟสีเขียว


ประสบการณ์วันนั้นสนุกดีและได้ความรู้ เสียดายที่เป็นหน้าฝนเลยถ่ายรูปไม่ค่อยได้ (ฟ้าปิด) และไม่เจอฝูงแกะ (เพราะตอนนั้นพื้นที่เลี้ยงแกะเอาไว้ปลูกข้าวแทน) และไม่ได้เห็นการคั่วบดกาแฟเพราะไฟดับทั้งหมู่บ้าน (เรื่องปกติ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่