ทายาทของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน)

ตามประวัติของคอนสแตนติน ฟอลคอนนั้นกำเนิดชาติเป็นชาวกรีก มีชื่อว่า คอนสแตนติน เยรากี  เมื่อโตขึ้นก็ร่อนเร่ไปตามชาวเรือต่างๆ จนเรือไปอัปปางรอดตายและเข้ามาทำงานในกรุงศรีอยุธยาจนมีตำแหน่งใหญ่โตมากและท้ายสุดแล้วก็จบชีวิตด้วยการกำจัดโดยสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งประวัติทั้งหมดนี้สามารถอ่านและศึกษาได้โดยทั่วไปแล้ว หากแต่หลังจากคอนสแตนติน ฟอลคอนตายไปแล้วทายาทของท่านยังคงสืบทอดลงมาและเกี่ยวข้องกับกรุงรัตนโกสินทร์อยู่เช่นเดิม
.
คอนสแตนติน ฟอลคอนแต่งงานกับท้าวทองกีบม้า ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกัน ๑ คนซึ่งเมื่อบุตรชายท่านนี้ได้เติบโตได้รับราชการในแผ่นดินสยามในตำแหน่งทูต และถูกส่งไปยังเมืองท่าของฝรั่งเศส คือเมืองปอนดิเชอรี เป็นเมืองอยู่แถวชายฝั่งโคโรแมนเดล ประเทศอินเดีย บุตรชายท่านนี้ได้แต่งงานกับสตรีเชื้อสายโปรตุเกส และมีทายาทเป็นหญิงหลายคนและหนึ่งในนั้นเป็นชาย ชื่อ จอห์น
.
จอห์น (รุ่นหลานของฟอลคอน) ได้สืบพบว่าได้ถูกจับตัวกวาดต้อนเป็นเชลยไปยังพม่าด้วยเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แต่ว่าจอห์นได้หลบหนีกลับมาสยามได้อีกหลังจากนั้นใน ๒-๓ ปีต่อมา จอห์นได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวย่านวัดซางตาครูสซึ่งเป็นเชื้อสายของแม่จอห์นนั่นเอง
.
หลานสาวคนหนึ่งของฟอลคอนตกเป็นเชลยพม่าเช่นเดียวกันแต่ถูกนำตัวไปเมืองมะริด และได้พบรักกับ ฌอง ชี มีตำแหน่งยศร้อยเอกชาวโปรตุเกสรับราชการที่พม่า เป็นชาวคาทอลิกที่อพยพมาจากมาเก๊า และได้แต่งงานกันที่มะริดใน พ.ศ. ๒๓๑๑ และมีทายาทเป็นบุตรสาวชื่อ “ฟิลิปปา” (ยังมีชีวิตอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๐๔)และแต่งงานกับ ตาเวียน และได้อพยพมาอยู่ย่านซางตาครูสในกรุงสยาม
.
ฟิลิปปาและตาเวียน ให้กำเนิดทายาทคือ แองเจลินา ทรัพย์ (เกิด พ.ศ. ๒๓๔๘) แต่งงานกับโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (นายหันแตร) ใน พ.ศ. ๒๓๖๘ มีทายาทคือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒
ว่ากันว่านางแองเจลินา ทรัพย์นั้นมีผิวขาวสวย มีดวงตาเหมือนควีนวิคตอเรีย มีมารยาทงดงามเพราะได้รับการอบรมมาอย่างดีด้วยเพราะว่าในช่วงวัยเด็กได้ใข้ชีวิตอยู่วังหลัง ซึ่งยังปรากฏภาพของนางทรัพย์ในหนังสือของบาทหลวงปาเลอกัวซ์
.
โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ ชื่อเดียวกับบิดาเกิดใน พ.ศ. ๒๓๗๐ ถูกส่งไปเรียนต่อที่สก๊อตแลนด์และได้กลับมาทำงานในเมืองไทย โดยบิดาได้สร้างอาคารให้เขาริมคลองย่านซางตาครูสซึ่งอยู่เหนือโรงสินค้าหน้าบ้านนางทรัพย์นั่นเอง โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ได้แต่งงานกับนางสาวโรซา รีไบโร เดอ อัลแวร์การีอัส น้อย (เป็นบุตรสาวของพระยาวิเศษสงคราม เป็นคาทอลิค) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ในบันทึกของจอห์น คอรเฟิต บรรยายว่า “ในตอนบ่ายได้พบกับพระยาวิเศษสงคราม  (ปาสกัลป์ รีไบโร เดอ อัลแวร์การีอัส) เป็นลูกหลานชาวคริสเตียนชาวโปรตุเกสในกัมพูชา ความสามารถของเขาโดดเด่น เนื่องจากไม่เพียงเขียนภาษาไทย เขมร และโปรตุเกสได้คล่องแล้ว ยังสามารถพูดและเขียนภาษาลาตินได้อย่างถูกต้อง เขาได้แต่งงานกับลูกหลานที่สืบเชื้อสายจากชาวอังกฤษที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๔ พระยาวิเศษสงครามเป็นลูกหลานของชาวเขมร จึงมีบ้านช่องอยู่ที่บ้านเขมรสามเสน”
.
โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ เข้ารับราชการในสยามจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุรสาคร” ซึ่งรับผิดชอบหน่วยงานด้านกรมท่า ในคราวท่านเซอร์ จอห์น บาวริ่งนำเรือแรตเลอร์ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสยาม ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ ได้ขึ้นไปบนเรือนี้ด้วย โดยท่านเซอร์บรรยายว่า “เท่าที่เห็น มิสเตอร์ฮันเตอร์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลในการต้อนรับข้าพเจ้า”
.
โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ จดทะเบียนเป็นคนบังคับในสัญชาติอังกฤษเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๓๙๙ และถึงแก่กรรมโดยกระทันหันด้วยวัยเพียง ๓๘ เมื่อ๑๙ เมษายน ๒๔๐๘ ที่บ้านซางตาครูสใกล้บ้านมารดาของเขา โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ มีทายาท ๒ คนคือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๓ (๒๓๙๔-๒๔๓๒) และจอห์น (๒๓๙๖-๒๔๓๔) ทั้งคู่ไม่มีทายาท
.
น้องสาวต่างมารดาของ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๓ ชื่อ โนรี เป็นสาวงามอีกคนหนึ่งได้สมรสกับ เบนจามิน บิง มีลูกหลานสืบต่อกันมาและรับราชการในกองทัพบกด้วย โดยเบนจามิน บิง นั้นเป็นพี่น้องกับหลวงอัคนีนฤมิตร (ฟรานซิส จิตร) ผู้โดดเด่นเรื่องการถ่ายรูปยุคแรกของสยาม
.
หากถึงปัจจุบันนี้ชุมชมย่านวัดซางตาครูสยังคงอยู่ ก็คาดว่าจะมีทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน สืบสายอยู่แน่นอน
.
ที่มา : พ่อค้าอังกฤษคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเอ๊ดดี้ มัวร์ ตีพิมพ์ลงในนิตยสารของสยามสมาคม กันยายน ๒๔๕๘ และได้รับการแปลจัดพิมพ์ใหม่โดยกรมศิลปากร
แนบภาพ : ภาพลายเส้นคอนสแตนติน ฟอลคอน และนางเอจิลินา ทรัพย์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่