[ บทความ ] เครื่องยนต์โรตารี่ มีดีอะไร ทำไมมันแรงกว่าชาวบ้านเค้า

สวัสดีครับ
พักหลังๆผมแอบมาเล่นบอร์ดพันทิพย์บ่อยขึ้น หลังจากห่างไปสี่ห้าปี ทั้งๆที่เขียนบทความทิ้งไว้ในคอมเยอะซึ่งก็กะเอามาแชร์ในนี้เนี่ยแหละ แต่ยังไม่ได้มีโอกาสจะทำซักที ปัจจุบันนี้ว่างละ เลยขอเขียนบทความใหม่ๆให้หลายๆท่านได้อ่านกันบ้างนะครับ

ผมว่าหลายคนคงจะรู้จักเครื่องโรตารี่อยู่แล้วล่ะ  ตามที่เราๆท่านๆเข้าใจคือ เค้าจะมีลูกสูบสามเหลี่ยม ซึ่งจะแปลกกว่าลูกสูบทรงกระบอกที่เห็นกันอยู่ทั่วๆไป  แล้วมันมีอะไรดีกว่าเครื่องยนต์ปกติหรือเปล่า ?

ในบทความนี้ผมจะพยายามอธิบายให้ฟังครับว่า เค้ามีดีอย่างไร ทำไมปัจจุบันถึงยังมีคนเล่นกัน ทั้งๆที่ขึ้นชื่อว่า หาที่ซ่อมได้ยาก และจริงมั้ยที่เค้าพังง่ายกว่าเครื่องลูกสูบ  รวมถึงทริก เทคนิคสำหรับคนที่อยากลองเล่นเจ้าโรตารี่นี้  ยังไงลองติดตามอ่านกับบทความนี้แล้วกันนะครับ ถ้าคิดว่าบทความนี้ดี มีสาระ รบกวนกดโหวตให้สมาชิกคนอื่นได้อ่านกันด้วยนะครับ



เครื่องยนต์โรตารี่ ดังมาจากรถหลายๆรุ่นของตระกูลมาสด้า ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบทางด้านการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี(ผมเรียกโรตี) จนมีชื่อเสียงที่เห็นจะดังๆในบ้านเรานี่ก็มีอยู่หลายรุ่น ยกตัวอย่างเช่น Mazda Rx-7  , Rx-8  มีทั้ง เทอร์โบ ทั้ง N/A  2 โรเตอร์ 3 โรเตอร์  เป็นต้น
รูป  Rx7 Re ซุปเปอร์จ๊าบ พิมพ์นิยม


เครื่องโรตารี่คืออะไร ?

นิยามง่ายๆสำหรับผมก็คือ เครื่องที่มีลูกสูบสามเหลี่ยม และกินน้ำมันมากกว่าชาวบ้านเค้า  จบ.

แต่จริงๆแล้วเครื่องยนต์โรตารี่ มันก็คือเครื่องยนต์ วันเคล (Wankel Engine) ดีๆนี่เอง จุดเด่นของเค้าคือ เครื่องมีการสั่นน้อยกว่าเครื่องลูกสูบ(บาลานซ์ดีกว่า) เพราะชิ้นส่วนในการประกอบน้อยมาก จึงทำให้มิติของเครื่องยนต์นั้นจะค่อนข้างเล็กกระทัดรัดกว่าเครื่องยนต์แบบลูกสูบ ที่ประกอบด้วย ลูก ก้าน ข้อ วาล์ว แคม ฯลฯ อิรุงตุงนังไปหมด อีกอย่างคือด้วยความที่ลูกสูบ(โรเตอร์) ใช้วิธีถ่ายทอดกำลังโดยการหมุน ประสิทธิภาพการถ่ายทอดกำลังจะมาแบบเต็มๆ อันที่จริงเครื่องยนต์แบบลูกสูบใช่ว่าจะไม่ดีนะครับ เพียงแต่เครื่องลูกสูบชิ้นส่วนในการประกอบมันเยอะมาก เช่นนี้จึงทำให้พาวเวอร์จากเครื่องยนต์ผลิตได้นั้น มันสูญเสียไปตามทาง กับชิ้นส่วนต่างๆนั่นเอง  ถ้าจะให้พูดกันตามหลักแล้ว เครื่องโรตารี่ ให้ประสิทธิภาพทางกลต่อน้ำหนักมากกว่า เครื่องลูกสูบครับ

แต่แปลกมั้ยที่เครื่องโรตารี่ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเครื่องลูกสูบ ยิ้ม

สำหรับใครที่อยากหาอาหารสมองเพิ่มเติม สามารถอ่านเรื่อง Wankel Engine ได้จาก Wiki ทางด้านล่างนี่ครับ ก๊อปมาเองกับมือ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ส่วนประกอบของเครื่องโรตารี่


รูป ส่วนประกอบของเครื่องยนต์โรตารี่


เวลาผมเรียก ก็จะเรียกทับศัพท์ ดังนั้นขออภัยจริงๆครับ ไม่รู้จะแปลเป็นไทยยังไง ก็จะแบ่งคร่าวๆ ได้ตามนี้นะครับ

Mid Housing (เฮ้าสซิ่งกลาง , เพลทกลาง , Mid plate )
ตามชื่อเลยครับ ก็คือ อยู่ตรงกลาง   Housing ตัวนี้ จะเป็นตัวกั้นกลางระหว่าง Rotor Housing ครับ  โดยประกบกันเหมือนแซนวิช  ลักษณะคับคล้ายจะเหมือนเขียงหมู  มีรูตรงกลางกับด้านข้าง รูตรงกลางเอาไว้สอดข้อเหวี่ยง รูข้างๆพรุนๆนั้นก็คือรูน้ำหล่อเย็นครับ
ที่สำคัญคือ มีพอร์ทไอดีตรงกลาง (Intake manifold) นึกไม่ออก ลองดูรูปข้างล่างครับ ตรงเพลทตรงกลาง จะมีช่องสามเหลี่ยมอยู่นั่นแหละ  พอร์ทไอดี


รูป Mid housing (อันนี้มาจากเครื่อง 20Bหรือ 3 โรเตอร์)


Rotor Housing
เนี่ยแหละคือพื้นที่ที่มันภาษาเครื่องยนต์ลูกสูบเรียก กระบอกสูบ  รูเล็กๆทางด้านขวามือคือ รูหัวเทียน(มีสองรู)  รูใหญ่ๆ ทางด้านล่าง คือ รูไอเสีย(Exhuast port)



รูป Rotor housing


แต่ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน ไม่ต้องมาเขิน ฉันพูดจริงๆ.....
Facepalmพี่ป้างก็มา


เพลาเยี้ยงศูนย์ (Eccentric shaft )
สั้นๆป้อมๆแบบนี้  เลยทำให้การบาลานซ์เครื่องทำได้ดี ประสิทธิภาพในการถ่ายเทกำลังสูง ส่วนถ้าอยากจะทำเครื่องกี่โรเตอร์ก็แล้วแต่ศรัทธาเลยครัช ความยาวของเพลาตัวนี้ก็จะยาววววว ขึ้นไปเรื่อยๆ



รูป Eccentric Shaft


Rotor
โรเตอร์ ก็คือลูกสูบสำหรับเครื่องโรตารี่นั่นแหละ  ที่จริงมีไม่กี่แบบครับ แตกต่างกันนิดๆหน่อยๆ สำหรับเครื่อง N/A กับเทอร์โบ  แต่โดยหลักการเหมือนกันก็คือเป็นสามเหลี่ย หมุนอยู่ใน Housing  มีหัวเว้าๆบุบๆหน่อยเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ตรงจุดนี้  เรียกเท่ห์ๆว่า Combustion Cavity โดยขนาดและความลึกของห้องเผาไหม้ จะเป็นตัวแปรเพียงตัวเดียวที่จะกำหนด อัตราส่วนกำลังอัด ครับ ลึกน้อยอัดมาก ลึกมากอัดน้อย  
วิธีดูโรเตอร์คือ ถ้า Combustion Cavity ลึก นั่นแปลว่าจะทำกำลังอัดได้น้อย เลยต้องใช้เทอร์โบอัดอากาศเข้าไป
ถ้าตื้น แปลว่ากำลังอัดเยอะ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบอัดอากาศเพิ่ม  

งง ดิ่ งง

ตื้น = N/A
ลึก = Turbo

จบ !

แต่ก็มีบางอู่ เค้าใส่โรเตอร์ N/A ในรถเทอร์โบนะ  อิอิ   ก็ว่ากันไป  สูตรใครสูตรมัน ..


เมื่อประกอบ Housing ประกบกัน ก็จะได้หน้าตาประมาณนี้  



ส่วนประกอบตรงโรเตอร์ ที่จริงมียิบย่อยอีกพอสมควรนะครับ  ผมคงจะไม่อธิบายไว้ตรงนี้ เนื่องจากยาว และขี้เกียจ หัวเราะ แต่มีเจ้าอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่อยากให้รู้จักครับ เพราะนี่คือจุดอ่อนของเครื่องโรตารี่เลย นั่นก็คือ Apex seal มาต่อกันที่กระทู้ข้างล่างกันเลยครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่